เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
PR News

ม.มหิดล พร้อมสร้าง ‘พลังทางใจ’ ฟื้นฟูผู้บาดเจ็บไขสันหลัง จากบุคคลรอบข้าง

ม.มหิดล พร้อมสร้าง ‘พลังทางใจ’ ฟื้นฟูผู้บาดเจ็บไขสันหลัง จากบุคคลรอบข้าง

เมื่อต้องเจอกับ “ฝันร้าย” จนแทบสูญสิ้น “พลังทางกาย” โดยไม่รู้ตัว อย่าเพิ่งสิ้นหวัง หรือยอมแพ้ ตราบใดที่ยังมี “ลมหายใจ” ยังมีโอกาสพิสูจน์ “พลังทางใจ” ได้เสมอ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กภ.จตุพร สุทธิวงษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชากายภาพบำบัดระบบประสาท คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าจากประสบการณ์ที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลวิจัยผู้บาดเจ็บไขสันหลังในชุมชน จากกลุ่มตัวอย่างวัย 30-40 ปี จำนวน 130 ราย ที่ต้องประสบปัญหาในการเคลื่อนไหวจากอุบัติเหตุ

พบ “พลังทางใจ” จากการช่วยเหลือทางสังคม (Social Support) จากบุคคลรอบข้าง คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการทำนายการกลับไปมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้ป่วย จนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Journal Rehabilitation Medicine”

ซึ่งสาเหตุการบาดเจ็บไขสันหลัง แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ Traumatic เกิดจากอุบัติเหตุ และ Non-Traumatic ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น เกิดจากการติดเชื้อ หรือมีเนื้องอกไปกดเบียดที่ไขสันหลัง เป็นต้น โดยอาการบาดเจ็บไขสันหลังหากเกิดขึ้นในระดับคอ จะทำให้แขนขาอ่อนแรง ในขณะที่หากเกิดขึ้นในระดับอก-เอว จะทำให้ขาอ่อนแรง แต่แขนยังมีแรงปกติ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กภ.จตุพร สุทธิวงษ์ กล่าวต่อไปว่า ในการฟื้นฟูผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ความผิดปกติที่เกิดขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยต้องฝึกใช้ชีวิตบนรถเข็น ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจะไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลทั่วไปในสังคมได้อีกต่อไป

บนท้องถนนยังคงเปิดต้อนรับสมาชิกผู้บาดเจ็บไขสันหลังที่ถือใบขับขี่พร้อมใช้อุปกรณ์พิเศษในการขับรถยนต์ สถานที่ที่เคยไปก็ยังคงไปได้ เมื่อผ่านการฟื้นฟูการเคลื่อนไหวได้จนเต็มศักยภาพ ร่วมกับการฝึกดำรงชีวิตอิสระ (Independent Living) จนเกิดความชำนาญ และมั่นใจที่จะกลับไปใช้ชีวิตในสังคม รวมทั้งสามารถสื่อสารเพื่อขอรับการช่วยเหลือทางกาย (Physical  Support) ในกรณีที่จำเป็นได้

นอกจากนี้ การช่วยให้ผู้ป่วยมองเห็นคุณค่าในตัวเอง การให้ความช่วยเหลือด้วยความเข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วย (Mental Support) ก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน แต่การช่วยเหลือทั้งหมดนี้ควรอยู่บนพื้นฐาน “ถูกต้อง” “เหมาะสม” และ “พอดี” ทั้งตัวผู้ป่วย และผู้ช่วยเหลือ

แม้ในประเทศไทยอาจยังคงไม่สามารถให้การสนับสนุนระบบพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอิสระของผู้มีข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหวได้อย่างกว้างขวางและสมบูรณ์เทียบเท่านานาประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในรั้วสถาบันอุดมศึกษา เช่นมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันต้นแบบแห่งสุขภาวะ ถือเป็นแหล่งในการฝึก “ทักษะพื้นฐานสำคัญ” ในการฝึกนักศึกษาให้พร้อมทำความเข้าใจ สามารถฟื้นฟู ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผู้ที่ต้องใช้ชีวิตบนรถเข็นได้อย่างมีคุณภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข

ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมให้คำปรึกษา บำบัด และฟื้นฟูผู้บาดเจ็บไขสันหลัง ในทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-19.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.00-16.00 น. ติดต่อได้ที่ โทร. 0-2441-4540 ต่อ 12 (ศาลายา) และ 0-2433-7098 (ปิ่นเกล้า)

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจาก มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ www.mahidol.ac.th

 

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

Related Posts