เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
PR News

คนไทยติดซื้อก่อนจ่ายทีหลัง รูดเพลินจนหนี้พุ่ง พบ 99.7% ของครัวเรือนไทยเป็น ‘หนี้’ และส่วนใหญ่ติดหนี้บัตรเครดิตมากที่สุด

รู้หรือไม่ว่า 99.7% ของครัวเรือนไทยมีหนี้สิน โดยเป็นหนี้บัตรเครดิตมากที่สุด เราขอพาทุกคนไปเจาะลึกเรื่องการบริหารจัดการหนี้ ไขข้อสงสัยเรื่องเครดิตบูโร พร้อมเช็คลิสต์ 10 ข้อไม่ให้เกิดหนี้บานปลาย

รู้จัก ‘หนี้’ เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

‘หนี้’ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักเพื่อช่วยให้การบริหารจัดการทางการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่ หนี้ที่สร้างรายได้ และหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ โดยหนี้ที่สร้างรายได้ ถือเป็นหนี้ดี เพราะช่วยให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในระยะยาว ซึ่งจะให้ผลตอบแทนในอนาคตและช่วยปรับปรุงสถานะทางการเงินเมื่อชำระหนี้เรียบร้อย

ขณะที่ หนี้ที่ไม่สร้างรายได้ เป็นหนี้ที่ไม่ก่อประโยชน์ ไม่ช่วยเพิ่มรายได้หรือมูลค่าในอนาคต และอาจส่งผลเสียต่อสถานะทางการเงิน ดังนั้น จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงหากเป็นไปได้

คำว่า ‘หนี้’ ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป หากถูกนำไปใช้ให้เกิดรายได้หรือก่อให้เกิดประโยชน์ในอนาคต แต่หากก่อหนี้อย่างไม่ระมัดระวังก็อาจเผชิญกับ ‘หนี้เสีย (Non-Performing Loan หรือ NPL)‘ ซึ่งเป็นหนี้ที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระเงินคืนได้ตามเงื่อนไขที่สถาบันการเงินกำหนด มักเกิดจากการบริหารการเงินที่มีความผิดพลาดหรือการขาดวินัยทางการเงิน และอาจส่งผลกระทบร้ายแรงที่หลายคนมองข้าม เช่น การกู้สินเชื่ออื่นๆ ในอนาคตยากขึ้น เพราะขาดความน่าเชื่อถือทางการเงิน และหากปล่อยหนี้ไว้นาน ดอกเบี้ยสะสมที่เพิ่มขึ้นจะยิ่งเป็นภาระหนัก ทำให้สภาพคล่องทางการเงินลดลง นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อความน่าเชื่อถือทางการเงิน หนี้เสียทำให้คุณถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง (High Risk) ในสายตาสถาบันการเงินอีกด้วย

สังเกต 5 สัญญาณอันตราย ที่คุณใกล้จะเผชิญปัญหาหนี้เสีย

1. จำยอดหนี้ของตัวเองไม่ได้ เน้นรูดบัตรไม่เน้นจำยอดหนี้ พอรู้ตัวอีกทียอดบัตรเครดิตก็พุ่งสูงเกินงบประมาณไปไกลแล้ว

2. ไม่มีเงินเก็บสำรองฉุกเฉิน เงินเข้าไว ออกไว ไม่มีเงินสำรองในบัญชี เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินแล้วกลับมาดูในบัญชีกลับไม่มีเงินสำรองเพียงพอในการใช้จ่าย

3. ยอดหนี้สูงเกิน 45% ของรายได้ นี่เป็นสัญญาณอันตรายที่แสดงว่ากำลังมีปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง         

4. กู้หนี้ใหม่เพื่อโปะหนี้เก่า เมื่อเริ่มกู้เงินมาใหม่เพื่อใช้หนี้เก่า หนี้ก็จะพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ

5. เริ่มเครียด นอนไม่หลับ หากมีความเครียดจากการเงินทำให้คุณขาดสมาธิในการทำงาน นอนไม่ค่อยหลับจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องใช้เงินอย่างระวังที่สุด ต้องรีบปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายทันที

หากเกิดหนี้เสียขึ้นแล้วจะเริ่มแก้ปัญหาอย่างไรดี

1. รวมหนี้เป็นก้อนเดียว หากมีหนี้หลายที่การนำหนี้ต่างๆ ที่มีอยู่มารวมกันเป็นก้อนเดียวจะช่วยให้ง่ายต่อการชำระคืน ลดอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย และทำให้บริหารเงินได้ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ ควรกำหนดลำดับการชำระหนี้อะไรก่อนหรือหลัง

2. ไม่สร้างหนี้เพิ่ม ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ไม่ควรสร้างหนี้เพิ่ม และกำหนดค่าใช้จ่ายรายเดือนของตนเองอย่างเคร่งครัด

3. เจรจาเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ หากภาระหนี้หนักเกินกำลังในการชำระแล้ว การขอเจรจากับทางสถาบันทางการเงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ คุณอาจได้รับข้อเสนอที่ช่วยลดภาระดอกเบี้ย หรือปรับแผนการชำระหนี้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

ไขข้อข้องใจ เครดิตบูโรคืออะไร และทำอย่างไรไม่ให้ติดบูโร

เครดิตบูโร (Credit Bureau) หรือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด คือสถาบันที่รวบรวมและจัดเก็บข้อมูลบัญชีสินเชื่อ รวมถึงประวัติการชำระหนี้ รวมไปถึงสถานะการเป็นหนี้ว่าเป็นอย่างไรของแต่ละบุคคล โดยข้อมูลเหล่านี้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินความน่าเชื่อถือทางการเงินของคุณ และการพิจารณาขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ซึ่งถ้ามีประวัติที่ดีก็จะมีโอกาสได้รับอนุมัติสินเชื่อที่สูง

โดยข้อมูลที่เครดิตบูโรจัดเก็บประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลส่วนบุคคล ที่บ่งชี้ถึงตัวตนลูกค้า เช่น ชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด สถานภาพสมรส เลขที่บัตรประชาชน เป็นต้น และข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรถยนต์, ประวัติการชำระหนี้ เช่น ชำระตรงเวลา ชำระล่าช้า หรือค้างชำระ และสถานะบัญชี เช่น บัญชีที่ปิดแล้วหรือบัญชีที่ยังเปิดอยู่

เมื่อคุณใช้บริการสินเชื่อหรือบัตรเครดิตจากสถาบันการเงินต่างๆ สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตจะนำส่งข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลการชำระหนี้ของคุณ ทุกเดือนจนกว่าการชำระเงินนั้นจะเสร็จสิ้น หากคุณค้างชำระเกิน 90 วัน หรือมีการผิดนัดชำระหนี้ สถาบันการเงินจะส่งข้อมูลนี้ไปยังเครดิตบูโรต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ค้างชำระเกิน 90 วัน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการขอสินเชื่อในอนาคต และบริษัทข้อมูลเครดิต จะเก็บข้อมูลที่ได้รับจากสถาบันทางการเงินไว้ในฐานข้อมูลต่อไปอีกเป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่บริษัทฯ ได้รับข้อมูลจากสถาบันการเงิน

โดยการตรวจสอบข้อมูลเครดิตของคุณเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะข้อมูลนี้จะส่งผลต่ออนาคตทางการเงินและการขอสินเชื่อของคุณ ถ้าคุณพบว่าข้อมูลเครดิตของคุณไม่ถูกต้อง หรือมีข้อผิดพลาด เช่น ยอดหนี้ผิดพลาด หรือการชำระหนี้ไม่ได้รับการบันทึก สามารถยื่นตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตนได้ที่บริษัทข้อมูลเครดิตและสถาบันการเงินที่เก็บข้อมูล แต่ในกรณีที่ข้อมูลตรงกับข้อเท็จจริง คุณจะไม่สามารถขอลบหรือแก้ไขข้อมูลได้ เว้นแต่ในบางกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ข้อมูลเกินอายุการจัดเก็บที่กำหนดไว้ (โดยปกติข้อมูลจะถูกเก็บไว้ไม่เกิน 3-5 ปี) เป็นต้น

Checklist ครบ 10 ข้อนี้ รับรองไม่เป็นหนี้บานปลาย

  • มีการวางแผนค่าใช้จ่ายรายเดือน จดรายรับ รายจ่าย และยอดหนี้ของตัวเองไว้ทั้งหมด
  • ชำระหนี้บัตรเครดิตตรงวันครบกำหนดชำระ
  • ชำระเต็มจำนวนตามยอดเรียกเก็บอย่างสม่ำเสมอ
  • ไม่เคยชำระค่าบัตรเครดิตแบบขั้นต่ำเลย
  • ไม่กดเงินสดจากบัตรเครดิต
  • เลือกใช้บัตรที่มีไลฟ์สไตล์ และโปรโมชันเหมาะสมกับตัวเอง
  • ตรวจสอบโปรโมชันจากบัตรเครดิตก่อนใช้งานอย่างสม่ำเสมอ
  • มีเงินเก็บสำรองฉุกเฉิน
  • ยอดหนี้ไม่เกิน 45% ของรายได้ในแต่ละเดือน
  • มีสติทุกครั้งที่รูดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต

หากเช็กลิสต์ถูกครบ 10 ข้อ รับรองได้ว่าการใช้บัตรเครดิตของคุณนั้นมีประสิทธิภาพ ช่วยให้คุณใช้จ่ายได้คุ้มค่ายิ่งกว่าใครแน่นอน

อ้างอิงข้อมูลจาก CardX

Related Posts