เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
ข่าววันนี้

ขรก.บำนาญคลังประจวบฯ เดือด! ท้าอธิบดีบัญชีกลางใช้เดือนละ ‘9พัน’ พอไหม

ขรก.บำนาญคลังประจวบฯ เดือด! ท้าอธิบดีบัญชีกลางใช้เดือนละ ‘9พัน’ พอไหม

เมื่อวันที่ 22 กันยายน นายวิรัช หิรัญญะเวช อายุ 76 ปี อดีตหัวหน้าสำนักงานคลัง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยถึงกรณีที่น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลางให้ข่าวทำนองว่าไม่เห็นด้วยกับกรณีที่สหพันธ์ข้าราชการบำนาญแห่งประเทศไทย เสนอให้มีการปรับขึ้นเงินบำเหน็จเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ โดยอธิบดีกรมบัญชีกลางเห็นว่าข้าราชการบำนาญไม่ได้ทำงาน แต่ได้เงินมากกว่าคนจนเยอะ แล้วจะเรียกร้องให้มีการเพิ่มเงินบำนาญไปทำไม ว่า เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้เพิ่มเงินบำนาญให้กับผู้เกษียณอายุราชการเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน แต่คาดว่าคงมีปัญหาจากผู้บริหารกระทรวงการคลัง โดยอ้างว่าการเพิ่มเงินบำนาญจะต้องสอดคล้องกับการเพิ่มเงินเดือนให้กับข้าราชการ ซึ่งอาจมีผลกระทบกับสถานะการเงินการคลังของประเทศ ขณะเดียวกันยอมรับว่าเพื่อนข้าราชการบำนาญทั่วประเทศไม่พอใจการให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นของอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นอย่างมาก หลังจากเปรียบเทียบข้าราชการบำนาญมีรายได้เดือนละ 2 หมื่นบาท กับผู้ใช้แรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำเดือนละ 9,000 บาท ล่าสุดได้เสนอความเห็นผ่านไลน์แอพพลิเคชั่นถึงเพื่อนข้าราชการกรมบัญชีกลาง เพื่อส่งให้ถึงอธิบดีกรมบัญชีกลาง ซึ่งปัจจุบันไม่มีสามีไม่มีบุตร ไม่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบกับบุคคลในครอบครัวเช่นเดียวกับข้าราชการบำนาญจำนวนมาก

“ผมขอแนะนำให้อธิบดีกรมบัญชีกลาง นำเงินเดือนรวมค่าตำแหน่งเกือบแสนบาทที่ได้รับประจำทุกเดือน บริจาคให้กาชาด แล้วเหลือใช้จ่ายแค่ 9,000 บาท จากนั้นไม่ควรอยู่รวมกับพ่อแม่ ให้หาลูกมาเลี้ยง 3 คน เป็นการพิสูจน์ด้วยตนเองก่อนว่าเงิน 9,000 บาท พอใช้จ่ายรายเดือนหรือไม่ หรือเห็นว่าเงินบำนาญ 20,000 บาท พอใช้จ่ายตามที่แสดงความเห็น ดังนั้นถ้าไม่มีประสบการณ์ด้วยตนเอง ก็ไม่น่ามีแนวคิดแบบนี้ วันนี้ผมแจ้งผ่านไลน์ถึงเพื่อนๆ ถ้ามีโอกาสได้พบกับอธิบดีกรมบัญชีกลางช่วยนำข้อความในไลน์ของผมให้ท่านอ่านด้วย” นายวิรัช กล่าวและว่า ขณะนี้ข้าราชการระดับกลางและระดับล่างที่เกษียณส่วนใหญ่ยังมีชีวิตวามเป็นอยู่ที่ยากลำบาก บางรายต้องจ่ายเงินค่าเช่าบ้านเพื่อพักอาศัย เนื่องจากไม่มีฐานะจากมรดกตกทอด หรือมีฐานะร่ำรวยที่ผิดปกติมาจากการประกอบอาชีพรับราชการ

นายวิรัช กล่าวว่า ขณะนี้ได้เสนอแนวคิดในการช่วยเหลือเพื่อนข้าราชการบำนาญทั่วประเทศ โดยเรียกร้องให้นำเงินบำเหน็จดำรงชีพที่จะจ่ายให้กับทายาทจำนวน 30 เท่าของเงินบำนาญ เมื่อข้าราชการบำนาญเสียชีวิต ขณะที่ปัจจุบันข้าราชการบำนาญจะได้รับครั้งละไม่เกิน 2 แสนบาท เมื่ออายุ 60 ปี และ 65 ปี นั้น ควรกำหนดใหม่โดยได้รับเพิ่มเมื่อมีอายุ 70 ปี และอายุ 75 ปี ตามหลักเกณฑ์ที่นำเสนอโดยจ่ายให้ในวงเงินไม่เกินร้อยละ 80 โดยรัฐบาลไม่ต้องแบกรับภาระทางการเงินเพิ่ม เนื่องจากเงินก้อนนี้รัฐจะต้องจ่ายให้ทายาทเมื่อข้าราชการบำนาญเสียชีวิต แต่หากใช้หลักเกณฑ์ใหม่ ทายาทจะได้รับเงินเพียง 20 % จากการจ่ายเพิ่มตามสัดส่วนของอายุข้าราชการบำนาญที่มากขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะการรักษาอาการเจ็บป่วย

Related Posts