เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
Featured

สรรหา มาเล่า…หนุ่มดาวน์ ซินโดรม โชว์”ความสามารถ”เป็นผู้ช่วยดีเจที่ซิดนีย์

แค่ “เปลี่ยนความคิด” ก็สามารถ “พลิกชีวิต” ได้ ถ้าหาก นาธาน บาช่า หนุ่มออสซี่วัย 25 ยังถูกมองเป็นเพียง “หนุ่มดาวน์ซินโดรม” ที่มีภาวะปัญญาอ่อน ใครต่อใคร ก็คงไม่มีโอกาสได้เห็น “ความสามารถ” ของเขา และประจักษ์แก่สายตาว่า ถึงจะมีภาวะปัญญาอ่อน แต่ นาธาน ก็ยังสามารถทำงานได้ หากสังคมให้โอกาส

เรื่องราวชีวิตของนาธาน ซึ่งมีอาชีพเป็นพนักงานผู้ช่วยประจำออฟฟิศของสถานีวิทยุ Nova 96.9 ในนครซิดนีย์ เป็น 1 ใน 4 เรื่องราวที่จะถูกถ่ายทอดผ่านโปรเจ็กต์ “Don”t Dis My Ability” ที่รัฐบาลรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ของออสเตรเลีย จัดทำขึ้นเพื่อต้องการกระตุกความคิดของคนในสังคมให้ตระหนักถึง ผู้พิการ ที่มีอยู่ในแวดวงอาชีพ การทำงาน

“มันไม่สำคัญว่าคุณจะเป็นดาวน์ซินโดรมหรือไม่ หรือคุณจะมีความพิการแบบไหน คุณก็ยังสามารถเป็นตัวคุณเอง มันเป็นแค่ข้อเสียเปรียบ แต่ไม่ใช่การไร้ความสามารถ” นั่นคือข้อความที่นาธานพูดไว้ในวิดีโอของ “Don”t Dis My Ability” ที่เริ่มนำออกแพร่ภาพเมื่อวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

จอห์น อาจาก้า รัฐมนตรีฝ่ายกิจการเกี่ยวกับผู้พิการของรัฐนิวเซาธ์เวลส์ กล่าวว่า มีหลักฐานและข้อมูลสถิติที่ชี้ชัดว่าการจ้างงานยังเป็นปัญหาสำคัญ และเป็นปัญหาเรื้อรังสำหรับผู้พิการ ที่ขาดโอกาสจะได้งานทำ โดยจากข้อมูลระบุว่า ทุกวันนี้มีผู้พิการในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ราว 20% หรือ 1 ใน 5 ที่สามารถทำงานได้ แต่ยังไม่มีงานทำ ดังนั้น การผลักดันให้ผู้พิการสามารถมีงานทำ หรือมีโอกาสเข้าถึงการว่าจ้างงาน จึงเป็น 1 ใน 5 เป้าหมายสำคัญของโครงการ Disability Inclusion Plan. ที่รัฐบาลรัฐนิวเซาธ์ เวลส์ ตั้งเป้าไว้ และตั้งใจจะผลักดันให้ประสบความสำเร็จ

“เป้าหมายของโครงการนี้ ก็คือ เราต้องการเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนเสียใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้มีการจ้างงานผู้พิการเพิ่มมากขึ้น” รัฐมนตรีจอห์น อาจาก้า กล่าว

ฟิตซี่ หนึ่งในดีเจรายการ Fitzy & Wippa ที่ออกอากาศทาง Nova 96.9 เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกับ นาธานว่า “นาธานและผมชอบดูหนังเหมือนกัน แล้วผมก็ได้ความรู้ ได้รับฟังความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับหนัง ซึ่งเป็นอะไรที่น่าทึ่งมาก”

ขณะที่ แอนนา ครอตติ พนักงานต้อนรับที่สถานีวิทยุ Nova พูดถึงนาธานว่า เป็นคนที่มีน้ำใจ และว่าเธอไม่รู้สึกว่ามีอะไรแตกต่าง หรือแปลกแยกเลยสักนิด กับการที่มีนาธานอยู่ในที่ทำงาน “ทุกอย่างก็เหมือนปกติ ทั่วไป และฉันก็รู้เลยว่าต่อจากนี้ไป จะไม่มีใครเกิดคำถามในใจ เมื่อจะมีการจ้างผู้พิการเข้ามาทำงานกับเราในอนาคตแน่นอน”

สำหรับนาธานเขาบอกว่า การได้ทำงาน ได้ทำให้เขาได้พัฒนา การพึ่งพาตัวเอง “ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวผมก็คือ ความมีระเบียบวินัย ความมั่นใจตัวเอง ความรู้สึกดีกับตัวเอง ซึ่งส่งผลให้คุณสามารถเป็นตัวเอง อย่างที่คุณเป็น”

 

 

ที่มา มติชน

Related Posts

TikTok เผย ผู้ใช้กว่า 95% มักจะเสียเงินซื้อของผ่านไลฟ์เป็นจำนวนมาก เป็นโอกาสสร้างยอดขายของร้านค้า
‘หาเงินแต่งเมีย’ ร้านเค้กตักที่เริ่มต้นจากความรัก สู่ไวรัลคนแห่ต่อคิว ขายหมด 180 ชิ้น ใน 1 ชั่วโมง
นันยาง
จากวัตถุดิบพื้นถิ่นสู่ร้านมิชลิน ‘เชฟหนุ่ม’ เจ้าของ Samuay & Sons ผู้ปลุกเสน่ห์อาหารอีสานแนวใหม่