เปิดที่มา “ขนมไหว้พระจันทร์” ขนมแห่งกลอุบายจากจีน ใช้โค่นล้มราชวงศ์หยวน
เทศกาลไหว้พระจันทร์ปี 2567 ตรงกับวันอังคารที่ 17 กันยายน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งจะเป็นเทศกาลที่หลายๆ คนกลับไปรวมตัวกันที่บ้าน เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน นั่นคือ ไหว้พระจันทร์
เทศกาลนี้ เป็นเทศกาลที่ทำสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน แต่ทุกคนรู้หรือไม่ว่า ตำนานความเป็นมาของเทศกาลไหว้พระจันทร์คืออะไร ทำไมต้องไหว้พระจันทร์ และที่มาของขนมไหว้พระจันทร์ มีที่มาจากอะไร วันนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ จะพาทุกท่านไปไขความลับกับเรื่องนี้
ตำนานความเป็นมาของ “เทศกาลไหว้พระจันทร์”
ความเป็นมาของ เทศกาลไหว้พระจันทร์ ทางเว็บไซต์ของ ศิลปวัฒนธรรม ได้ลงรายละเอียดไว้ว่า อาจารย์ถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้านประเพณีจีน กล่าวว่า มีที่มาจากประเพณีไหว้พระจันทร์ และประเพณีเซ่นสรวงทางการเกษตรประจำฤดูสารทของจีนโบราณ
เหตุที่ชาวจีนเลือกไหว้พระจันทร์ในปักษ์ชิวเฟิน เพราะปักษ์ลี่ชิวต้องเอาผลผลิตแรกได้ไปบูชาบรรพชนเสียก่อน (เป็นที่มาของเทศกาลสารทจีน) และคืนจงชิวกลางเดือนแปดยังเป็นคืนที่จันทร์แจ่มกระจ่างงามเหนือเพ็ญเดือนใดอีกด้วย
นอกจากนี้ ชาวจีนยังมีเรื่องเล่าถึงตำนานอันเป็นที่มาของเทศกาลว่า ในอดีตกาล ราชาโฮ่วอี้ มีชายานามว่า ฉางเอ๋อร์ ครั้งหนึ่งมีพระอาทิตย์ขึ้นพร้อมกัน 10 ดวง เดือดร้อนชาวโลกเป็นอันมาก ราชาโฮ่วอี้จึงขึ้นไปบนยอดเขาคุนหลุน แล้วใช้ธนูยิงอาทิตย์ดับไป 9 ดวง ทำให้ได้รับการแซ่ซ้อง มีผู้คนมาขอเรียนวิชาธนูมากมาย รวมถึง เฝิงเหมิง ผู้มีจิตใจชั่วร้ายด้วย

ต่อมาโฮ่วอี้ได้ยาอายุวัฒนะจากผู้วิเศษท่านหนึ่ง เฝิงเหมิงรู้เข้าจึงฉวยโอกาสที่โฮ่วอี้ไม่อยู่บุกชิงยาจากฉางเอ๋อร์ เธอจึงกินยานั้นเสียเอง ก่อนล่องลอยไปถึงดวงจันทร์ กลายเป็นเทพีสถิตบนดวงจันทร์ไป โฮ่วอี้กลับมากำจัดเฝิงเหมิงแล้วเศร้าโศกคิดถึงฉางเอ๋อร์ พอดีเป็นวันเพ็ญเดือนแปด จันทร์งามกระจ่าง โฮ่วอี้จึงจัดเครื่องเซ่นบูชาพระจันทร์รำลึกถึงฉางเอ๋อร์
บางตำนานเล่าต่างออกไปว่า หลังโฮ่วอี้ได้ยาอายุวัฒนะมาก็กลายเป็นคนชั่วร้าย เบียดเบียนข่มเหงประชาชน ฉางเอ๋อร์กลัวชาวบ้านจะเดือดร้อนหากโฮ่วอี้เป็นอมตะ จึงชิงกินยาอายุวัฒนะเสียเอง แล้วลอยไปอยู่บนดวงจันทร์ ผู้คนจึงรำลึกถึงความดีงามของเธอด้วยการไหว้พระจันทร์ กลางเดือนแปด สืบมา
ความเป็นมา “ขนมไหว้พระจันทร์” ขนมแห่งกลอุบายจากจีน ใช้โค่นล้มราชวงศ์หยวน
ขนมไหว้พระจันทร์ ภาษาจีนเรียกว่า “เย่ว์ปิ่ง” เย่ คือ พระจันทร์ ส่วนปิ่ง หมายถึงของกินทรงแบน ปิ้ง ย่าง เผา อบ ลักษณะสำคัญอยู่ที่ทรงต้องแบนเป็นวงกลมรี หรือเป็นเหลี่ยมก็ได้ แต่ต้องไม่เป็นก้อนกลม ซึ่งคนไทยแปลชื่อขนมนี้ตามโอกาสที่ใช้ว่า ขนมไหว้พระจันทร์
ตำนานเกี่ยวกับขนมไหว้พระจันทร์มีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งแม่ทัพหลี่จิ้งชนะศึกกลับมาเฝ้าพระเจ้าถังเกาจู่ (ครองราชย์ พ.ศ. 1161-1169) ในท้องพระโรงยามราตรีคืนเพ็ญ พอดีมีพ่อค้าชาวทิเบตนำขนมปิ่งมีลวดลายสวยงามมาถวาย พระองค์ทรงโสมนัสแล้วชี้ไปที่เดือนเพ็ญว่า ต้องชวนพระจันทร์ชิมขนมนี้ด้วย แล้วแบ่งขนมนั้นพระราชทานขุนนางทุกคน จึงเกิดประเพณีกินขนมพระจันทร์คืนเดือนแปดตั้งแต่นั้นมา
อีกตำนานที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นเรื่องเล่าที่อ้างว่า เกิดสมัยราชวงศ์หยวนของชาวมองโกล ซึ่งรับเอาประเพณีนี้ไปจากชาวจีน ครั้งหนึ่งผู้นำต่อต้านมองโกลหวังรวบรวมกำลังชาวจีนขึ้นสู้ราชวงศ์ต่างเผ่า จึงคิดอุบายเขียนข้อความนัดหมายใส่กระดาษซ่อนไว้ในขนมไหว้พระจันทร์ แจกจ่ายไปในหมู่ชาวจีน ถึงค่ำวันจงชิว (วันไหว้พระจันทร์) หลังกินขนมไหว้พระจันทร์แล้ว ทุกครอบครัวจึงคว้าอาวุธที่หาได้จับผู้คุมชาวมองโกลมาสังหาร และสามารถโค่นล้มราชวงศ์หยวนได้สำเร็จ
สรุปสั้นๆ เกี่ยวกับขนมไหว้พระจันทร์ ขนมแห่งกลอุบาย ได้ว่า ในสมัยราชวงศ์หยวนของชาวมองโกล ชาวจีนถูกปกครองอย่างโหดร้าย จึงได้รวมตัวกันลับๆ เพื่อวางแผนโค่นล้มอำนาจของชาวมองโกล โดยใช้ขนมไหว้พระจันทร์เป็นสื่อกลางในการสื่อสารลับ และสามารถโค่นล้มได้สำเร็จนั่นเอง
ปัจจุบัน ขนมไหว้พระจันทร์มีการผลิตออกมาจำหน่ายอย่างแพร่หลาย และมีรูปทรงสวยงาม ทั้งลวดลาย และรสชาติที่มีให้เลือกมากขึ้น เช่น เม็ดบัว, พุทราจีน, มะคาเดเมีย, ทุเรียน เป็นต้น อีกทั้งขนมไหว้พระจันทร์ยังนิยมเป็นของฝาก เพราะมีความเชื่อว่า พระจันทร์เป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์มั่งคั่ง จึงนำขนมไหว้พระจันทร์ที่มีลักษณะเหมือนดวงจันทร์ ไปฝากครอบครัว กลุ่มเพื่อน หรือแม้แต่คู่ค้าทางธุรกิจ
ขอบคุณข้อมูล ศิลปวัฒนธรรม