ออกจากงานประจำมาเป็นเกษตรกรขาย “เตยหอม” ธุรกิจจากรุ่นแม่ เจาะกลุ่มลูกค้าโรงงานขนม ร้านดอกไม้ และพ่อค้าแม่ค้า ผลผลิตวันละ 900-1,000 กิโลกรัม
เพราะครอบครัวมาเป็นอันดับ 1 เมื่อพ่อล้มป่วย ทำให้ คุณหนึ่ง-สุทธาอร ศรีฟ้า ตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่มั่นคงมารับช่วงต่อธุรกิจ ผันตัวเป็นเกษตรกรผู้ปลูกและผู้รวบรวมใบเตยเต็มตัว เพื่อส่งต่อผลผลิตงามให้กลุ่มพ่อค้าแม่ค้ารับไปขายตามตลาดสดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงโรงงานขนมไทยอีกมากมาย ซึ่งในแต่ละวันจะมีใบเตยเข้ามาขายประมาณวันละ 900-1,000 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน

ลาออกจากงานประจำ มารับช่วงต่อธุรกิจ
คุณหนึ่ง หรือที่ใครๆ เรียก เจ้หนึ่ง ปัจจุบันมีอายุ 47 ปี เธอเป็นทายาทรุ่น 2 ที่เข้ามารับช่วงต่อธุรกิจจากแม่ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกให้ครอบครัวเข้ามาค้าขายที่ตลาดสี่มุมเมืองเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว โดยในตอนนั้นขายแค่บวบกับมะระ
ส่วนใบเตยเกิดจากไอเดียที่ไปเห็นคนนำมาขายแล้วขายดี ประกอบกับแถวบ้านมีคนปลูกใบเตยเป็นจำนวนมาก แม่ของเธอจึงลองไปติดต่อนำมาขาย ปรากฏว่าขายดีมากเช่นกัน เหมือนจับถูกจุดจนทำให้ยอดขายแซงหน้าบวบกับมะระผักที่ขายประจำ จากนั้นจึงค่อยๆ ลดผักอื่น เพิ่มจำนวนใบเตยมาขาย สุดท้ายกลายเป็นขายใบเตย 100%
สำหรับตัวเจ้หนึ่ง ก่อนเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจ เธอเคยทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศที่แห่งหนึ่งด้านโลจิสติกส์และดูแลลูกค้า ก่อนมาเจอจุดเปลี่ยนของชีวิต เมื่อพ่อของเธอล้มป่วย ทำให้เวลาการทำงานกับเวลาที่ต้องดูแลท่านเริ่มไม่บาลานซ์
และเมื่อคิดดูแล้ว “ยังไงครอบครัวก็ต้องมาเป็นอันดับ 1” เธอจึงตัดสินใจลาออกจากงานมาดูแลพ่อและรับช่วงต่อธุรกิจจากแม่ เป็นเกษตรกรผู้ปลูกและเป็นผู้รวบรวมใบเตยแบบเต็มตัว
กลุ่มลูกค้าหลากหลาย
เจ้หนึ่ง เล่าว่า ในแต่ละวันมีใบเตยเข้ามาขายประมาณวันละ 900-1,000 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน ใบเตยของทางร้านจะตัดมาจากสวนของเธอที่ปลูกเองบนพื้นที่ 30 ไร่ และจากลูกสวนที่ปลูกในหมู่บ้านเดียวกันและหมู่บ้านใกล้เคียงอีก 30 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.ไผ่ขวาง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
โดยใบเตยจะถูกคัดแยกออกเป็นไซซ์ต่างๆ เพื่อให้สะดวกกับผู้ซื้อที่มีความต้องการไม่เหมือนกัน สำหรับประเภทของลูกค้ามีหลายแบบ ทั้งกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่รับไปขายตามตลาดสดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล
รวมถึงกลุ่มโรงงานขนมไทย อย่างโรงงานผลิตสาลี่ และร้านขนมไทยรายย่อยอีกมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะออร์เดอร์มา 2 แบบ แบบไซซ์ใหญ่จะนำไปทำกระทงตะโก้หรือภาชนะใส่ขนมไทยรูปแบบต่างๆ ส่วนไซซ์กลางจะนำไปทำขนมใช้คั้นน้ำ แต่งกลิ่น ทำชาใบเตย
นอกจากนี้ มีลูกค้าที่เป็นร้านดอกไม้ ซึ่งจะนำใบเตยเพื่อไปจัดร่วมกับดอกไม้ชนิดอื่นเพื่อทำดอกไม้ไหว้พระ
“ลูกค้าจะชอบใบเตยร้านเรามาก เพราะเราใช้ใบเตยหอม 100% จะไม่มีเตยหนูผสม คือต้นเตยประเภทไม่มีกลิ่น ส่วนมากร้านดอกไม้ไหว้พระจะใช้เตยชนิดนี้เพราะต้นทุนถูกกว่าเตยหอม”
เจ้หนึ่ง เล่าเสริมถึงความแตกต่างของ “ใบเตยทำขนม” กับ “ใบเตยไหว้พระ” เพราะหลายคนอาจไม่ทราบว่า ใบเตยที่เห็นทั่วไปนั้นมีหลากหลายสายพันธุ์ แต่ละชนิดก็เหมาะกับการนำไปใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน อย่างใบเตยที่ใช้ทำขนมกับใบเตยที่นิยมนำมาใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาจะนิยมใช้คนละชนิดกัน
ใบเตยสำหรับทำขนมเป็นเตยต้นตัวเมีย หรือที่เราเรียกคุ้นหูว่า เตยหอม ลักษณะใบจะมีสีอ่อนเมื่อขยี้ใบจะมีกลิ่นที่หอมมาก ส่วนใบเตยสำหรับใช้จัดแจกันดอกไม้หรือมัดกำรวมกับดอกไม้ไหว้พระ เรียกว่า เตยหนู ลักษณะใบจะมีสีเข้ม ใบจะมีขนาดเล็กกว่า หากขยี้ใบจะมีกลิ่นเหม็นเขียว
เคล็ดลับการปลูกเตยหอมให้ได้ผลผลิตดี
สำหรับใครที่สนใจอยากปลูกเตยหอมจำหน่าย เจ้หนึ่ง แนะนำว่า เรื่องสำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึงคือจะขายใคร มีตลาดรับซื้อที่ชัดเจนหรือไม่ เพราะปลูกไปขายไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าหาตลาดรับซื้อได้แล้วก็สามารถลงมือปลูกได้เลย
การปลูกและดูแลนั้นไม่ยาก หากเกษตรกรที่มีพื้นฐานในการทำเกษตรอยู่แล้วยิ่งสบาย การปลูกเตยสำคัญที่แหล่งปลูก ควรใกล้น้ำพื้นที่ค่อนไปทางแฉะ การลงต้นกล้าควรมีระยะห่างระหว่างต้นอยู่ที่ 30 เซนติเมตร และต้องมีน้ำหมุนเวียนตลอดปี ควรสร้างตาข่ายให้มีร่มเงารำไร อย่าให้ต้นเตยโดนแสงแดดโดยตรง หรือจะปลูกตามร่องสวนแซมจากพืชหลักก็ได้ ตามชายบ่อน้ำก็เหมาะ
แต่ถ้าจะปลูกแบบในพื้นนา การเตรียมดินจะทำคล้ายกับการทำนา ต้นทุนคร่าวๆ ต้นกล้าพันธุ์จะอยู่ที่ประมาณต้นละ 1 บาท ใน 1 ไร่จะใช้กล้าพันธุ์ประมาณ 10,000 ต้น
สำหรับการดูแลบำรุงรักษาต้นเตยหอมนั้นก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรมาก ศัตรูพืชไม่ค่อยมี เทคนิคสำคัญเพียงต้องเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ อย่าให้มีวัชพืชขึ้นปกคลุมต้นเตย เพราะจะทำให้ใบเตยหรือต้นเจริญเติบโตช้า และใบไม่สวย และควรจะใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก บำรุงต้นและใบ จะกระตุ้นให้เตยโตไว เวลาในการใส่ปุ๋ยต้องเป็นเวลาเช้าเท่านั้น ไม่ควรเกิน 07.00 น. เช้า เพราะเวลานี้เป็นเวลาที่ต้นเตยจะรับสารอาหารและรับแสงแดดได้ดีที่สุดของวัน
ส่วนการเก็บเกี่ยวผลผลิต เตยหอมอายุ 7 เดือนขึ้นไปจะเริ่มตัดใบไปขายได้ 1 ไร่ จะสามารถตัดใบจำหน่ายได้ราวๆ 700 กิโลกรัมต่อเดือน ราคาขายส่งเบอร์เล็กประมาณ 15 บาท เบอร์ใหญ่ขายส่งอยู่ที่ 20 บาท ในฤดูฝนและฤดูหนาวราคาจะถูกกว่าฤดูร้อน เนื่องจากเตยต้องใช้น้ำค่อนข้างมากในการปลูก
พิกัด อาคารรถผัก ทะเบียนรถ ผข 7290 เสาประจำ 31G
ช่องทางการติดต่อ สามารถโทรมาสอบถามได้ที่ คุณหนึ่ง 081-880-2436
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567