เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
Featured การเงิน และการตลาด

เงินเดือนออก แบ่งเงินเก็บกันคนละเท่าไหร่ ออมเงินอย่างไรให้มีเงินใช้ยันแก่

แก่ตัวไปเอาเงินที่ไหนมาเที่ยวมากิน

เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมเราจึงเห็นคนแก่วัยเกษียณจากต่างประเทศเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยเป็นจำนวนมาก อยู่กันเป็นเดือน อยู่กันเป็นปี บางคนตั้งรกรากที่ไทยไปเลยก็มี นักท่องเที่ยวเหล่านี้เอาเงินมาจากไหน ทำไมถึงมีเงินเก็บเงินออมเหลือกินเหลือใช้กันได้ขนาดนี้ ที่สำคัญ แก่ตัวไปเราจะทำอย่างเขาได้ไหม เพราะสังคมไทยเอง ก็กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น ลองมาดูกันว่า เขาทำอย่างไร ให้มีเงินเก็บไว้ใช้สบายๆ ยันวันสุดท้ายของชีวิต

คะเคโบะ มรดกตกทอดการออมแบบญี่ปุ่น

เริ่มกันที่ประเทศญี่ปุ่น ผู้ขึ้นชื่อในเรื่องความมีระเบียบวินัย คนญี่ปุ่นมีแนวคิดในการออมที่เรียกว่า คะเคโบะ เป็นมรดกตกทอดให้คนญี่ปุ่นปฏิบัติต่อๆ กันมามากกว่า 100 ปี หัวใจของการออมแบบคะเคโบะคือ การตั้งเป้าหมายว่าในบั้นปลายจะต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่ จึงจะอยู่ได้แบบสบายๆ แล้วทำการอดออมอย่างมีวินัยตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน วิธีนี้ทำให้ผู้สูงวัยชาวญี่ปุ่นสามารถนำเงินบำเหน็จบำนาญ หรือเงินสนับสนุนจากภาครัฐตอนแก่ตัว ไปต่อยอดทำอย่างอื่น หรือนำไปใช้ชีวิตได้แบบชิลๆ เพราะเงินที่เก็บมานั้นมีเพียงพออยู่แล้ว

ออมเงิน

ออมตั้งแต่เกิด ปลูกฝังจิตสำนึกแบบสวีเดน

มาต่อกันที่ประเทศสวีเดน ประเทศที่ได้รับการยกย่องว่ามีรัฐสวัสดิการดีที่สุดในโลก แต่ถึงสวัสดิการจะดียังไงแต่คนสวีเดนก็ขึ้นชื่อในการออม และมีความรู้ทางเงินดีที่สุดในโลกด้วยเช่นเดียวกัน เคล็ดลับสำคัญของคนสวีเดนนั้นอยู่ที่การปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการออมกันมาตั้งแต่เด็ก พร้อมส่งเสริมพฤติกรรมการวางแผนการเงินในช่วงบั้นปลาย ส่งผลให้มีผู้สูงอายุในสวีเดนเป็นจำนวนมาก ที่ซื้อประกันแบบมีเงินปันผลคนละ​ 2-3 ฉบับ​ตั้งแต่วัยทำงาน พอเกษียณก็มีเงินใช้ในระยะยาว เป็นหลักประกันสุขภาพ​ตลอดชีวิต

ต้วนเฉ่อหลี ออมแบบจีนตัดสิ่งไม่จำเป็นออกจากชีวิต

กลับมาที่เอเชีย พี่ใหญ่อย่างประเทศจีน ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีอัตราการออมเงินสูงที่สุดในโลก โดยครอบครัวชาวจีนส่วนใหญ่นั้น ออมกันสูงถึง 47% ของรายได้ในแต่ละเดือน ล่าสุด เกิดเทรนด์การออมแก้แค้น ในหมู่วัยรุ่นจีน ออมเงินเพื่อแก้แค้นให้กับเศรษฐกิจที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ หรือแนวคิดในการออมที่เรียกว่า ต้วนเฉ่อหลี ซึ่งแปลว่า ตัด ละทิ้ง ตีจาก การตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากชีวิต ยิ่งประหยัดได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งท้าทายมากเท่านั้น พฤติกรรมการออมแบบนี้เป็นสิ่งที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น เพื่อให้ชีวิตได้อยู่อย่างสุขสบายในวัยเกษียณ

ออมยังไงก็ได้ ขอแค่อย่าลืมออม

ยกตัวอย่างของต่างประเทศมาเยอะแล้ว มาดูของไทยกันบ้าง โดยส่วนมากแล้วคนไทยนิยมที่จะออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญ เพราะนอกจากจะเป็นการออมที่มีวินัยผ่านการหักเงินเป็นประจำทุกเดือน ยังมีการสมทบเงินเพิ่มจากนายจ้างอีกด้วย อีกเทคนิคที่น่าสนใจก็คือ ประกันบำนาญ ประกันที่จ่ายเงินปันผลให้เราในรูปแบบบำนาญเป็นงวดๆ จนกว่าจะถึงช่วงอายุที่ทำสัญญาตกลงกันไว้ เช่น ชำระเบี้ยถึงอายุ 60 ปี หลังจากนั้น เริ่มรับบำนาญจนถึงอายุ 80 ปี ดังนั้น ตอนนี้ยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้นเก็บหอมรอมริบ แม้รัฐสวัสดิการของเราอาจจะไม่ดีเท่าประเทศที่เจริญแล้ว แต่เราสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราให้ดีขึ้นได้ผ่านการออมด้วยตัวของเราเอง

Related Posts

ชิมน้ำส้มกว่า 40 แบรนด์ เพื่อหาสูตรที่ใช่! ก่อนมาเป็น “Codesom”
ภาพบรรยากาศในงานปี 2024