เทรนด์ปี 2025 ผู้บริโภคเปลี่ยน! คนรุ่นใหม่ ไม่ได้ซื้อของราคาถูก แต่ซื้อของที่ราคา “สมเหตุผล”
กำลังจะผ่านไปอีกปีอย่างรวดเร็ว คนทำธุรกิจดูว่าจะฝากความหวังไว้กับรัฐบาลได้ลำบาก เพราะการเมืองไทย ก็คงยังอยู่ในวังวนเดิมๆ อีกแสนนาน ดังนั้น การพึ่งพาตนเอง ด้วยการคาดคะเนแนวโน้ม น่าจะเป็นทางออกเบื้องต้นที่ดีของคนทำธุรกิจ
ปี 2025 ภาพรวมของการตลาด การค้าการขาย คงมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างจากปัจจุบัน ซึ่งถ้าเราพิจารณาจากองค์ประกอบของการทำตลาดให้ปัง ที่เรียกว่า “ส่วนประสมทางการตลาด” อันประกอบด้วยเรื่องราวของสินค้า เรื่องของราคาหรือการแลกเปลี่ยน เรื่องของช่องทางการขาย และเรื่องราวของการสื่อสารกับผู้บริโภค เราก็คงพอเห็นเส้นทางของแนวโน้ม
แต่ก่อนที่จะไปดูส่วนประสมทั้ง 4 ส่วนนั้น คงต้องมุ่งไปที่ “กลุ่มเป้าหมาย” ที่เป็นผู้บริโภคเสียก่อน เพราะหากขาดผู้บริโภค แปลว่า ขาดคนซื้อ ที่เหลืออีก 4 องค์ประกอบ ก็ไม่รู้จะเสียเวลาคุยกันไปทำไม
เริ่มกันที่แนวโน้มของผู้บริโภคก่อน ทราบกันดีอยู่แล้วว่า คนสูงอายุจะยิ่งเพิ่มขึ้น ขณะที่คนรุ่นใหม่กำลังกลายมาเป็น “กำลังซื้อที่สำคัญ”
หากเรายึดเอาเรื่องของเจเนอเรชันเป็นตัวแบ่ง จะพบว่า คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ที่เกิดหลังสงครามโลกจนถึงปี 2507 เข้าข่ายวัยชราสมบูรณ์แบบไปเรียบร้อย เริ่มไม่ค่อยอยากซื้ออะไรให้เปลืองเงินยกเว้น บำรุงรักษาร่างกายให้ประคับประคองกันไป
คนเจเนอเรชัน X ที่เกิดช่วง 2508-2522 จะเริ่มรับเบี้ยคนชราปีหน้าแล้ว ดังนั้น คนเจเนอเรชัน Y, Z และ Alpha จะกลายมาเป็นกำลังซื้อกลุ่มหลัก
ดังนั้น ในองค์ประกอบแรก เรื่องของสินค้า คงต้องมาพิจารณาเพิ่มขึ้นว่า ลูกค้าเดิมของเราเป็นใคร สินค้าของเราเหมาะกับคนรุ่นใหม่ หรือวัยชรา ทางแยกนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่จะชัดมากขึ้นว่า อยากเลือกทำตลาดสินค้าเพื่อผู้สูงวัย หรือเพื่อคนวัยรุ่น คนวัยทำงาน เส้นทาง 2 สายนี้ แยกจากกันอย่างชัดเจนกว่าเดิม
ถ้าหากตัดสินใจเลือกกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นลูกค้า สิ่งที่ควรคำนึงตามมาคือ “การสร้างแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ” คำว่าแบรนด์ ไม่ได้มีความหมายแค่ “ชื่อยี่ห้อ” แต่เป็นผลรวมหลายๆ อย่าง ที่คนรู้สึกได้ถึง “ความเป็นยี่ห้อ” ของเรา คนเจเนอเรชันก่อนหน้า นิยมชมชอบ “แบรนด์ดัง” แต่คนรุ่นใหม่นิยม “แบรนด์ที่โดน” ต้องโดนใจ และที่สำคัญกว่า “ต้องน่าเชื่อถือ”
องค์ประกอบที่สอง เรื่องของราคาหรือการแลกเปลี่ยน หลายธุรกิจยังชอบคิดถึงการถล่มราคาใส่กัน เรื่องนี้อยากบอกว่า ถ้าจะคบคนรุ่นใหม่เป็นลูกค้า ราคาถูก เป็นเพียงแนวคิดในการทำตลาดแบบหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะถ้าราคาถูก แต่คุณภาพห่วยจนไว้ใจไม่ได้ หาความตรงปกไม่เจอ นั่นไม่ใช่หนทางที่ดีงาม เพราะเราจะสูญเสียลูกค้ารุ่นใหม่กลุ่มนี้ไป
คนรุ่นใหม่ ไม่ได้มุ่งซื้อของราคาถูก แต่มุ่งซื้อของที่ราคา “สมเหตุผล” แล้วก็มีผลวิจัยหลายสำนัก ที่กล่าวตรงกันถึงคนรุ่นใหม่ ว่าให้ความสำคัญกับ “การรักษ์โลก” และ “ความยั่งยืน”
แปลว่า “สินค้าดี ที่ทำลายโลก” อาจไม่ได้รับความสนใจ
ในมุมของการแลกเปลี่ยนมูลค่ากัน เราพบว่าตั้งแต่หลังโควิดมา ระบบการจ่ายเงินแบบไร้เงินสด เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่แม่ค้าพ่อค้าตามตลาดนัด หรือขายของหาบเร่ ต่างก็ต้องรองรับสังคมไร้เงินสด แน่นอนว่า จะยิ่งไร้เงินสดมากขึ้นไปอีก เพราะคนรุ่นใหม่ ไม่ค่อยพกเงินสดแล้ว ร้านที่ยังไม่ปรับตัวรองรับ อันนี้หลุดตลาดไปไกลแล้ว
องค์ประกอบที่สาม เรื่องของช่องทางการขาย กูรูการตลาดอย่างฟิลิป คอตเลอร์ เรียกกลุ่มคนเจเนอเรชัน Z และ Alpha รวมกันว่า “ชาวฟิจิทัล” เป็นกลุ่มคนที่กำลังจะขึ้นมาเป็นกำลังซื้อสำคัญในตลาด ชาวฟิจิทัล เกิดมาก็อยู่ในโลกที่หลอมรวมระหว่าง Physical กับ Digital อย่างแยกไม่ออก
คนเจเนอเรชันก่อนหน้า เวลาซื้อของ ยังมีโลกออฟไลน์ ออนไลน์ แต่ชาวฟิจิทัล ไม่แยกแบบนั้น เพราะเขาคุ้นชินกับการซื้อของออนไลน์มากพอๆ กับเดินไปซื้อในร้านปกติ เลยไม่รู้ว่าจะแยกไปเพื่ออะไร
ดังนั้น ธุรกิจใดที่ยังใช้ช่องทางการขายเดียว ควรพิจารณาเติมเต็มให้เกิด Omni Channel คือ การหลอมรวมช่องทางการขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน
บางธุรกิจมีการทำ Multi-channel คือมีหลายช่องทางขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ทว่าแต่ละช่องทางเป็นเอกเทศของตัวเอง ไม่เชื่อมโยงข้อมูลกัน เช่น ลูกค้าไปซื้อหน้าร้าน ก็มีข้อมูลอยู่ที่นั่น แต่ลูกค้าคนเดิมมาซื้อออนไลน์ ข้อมูลถูกเก็บแยกชุดกัน ซึ่งถ้าเป็น Omni Channel ข้อมูลทั้ง 2 ส่วน จะถูกเชื่อมโยงถึงกัน ไปหน้าร้านก็ดูข้อมูลลูกค้ารายเดิมได้ ซื้อออนไลน์ก็ดูข้อมูลได้เช่นกัน
องค์ประกอบที่สี่ เรื่องการสื่อสารกับผู้บริโภค สื่อดิจิทัล ยังคงเป็นช่องทางการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้ดีดังเดิม แต่หากอ้างอิงจากกูรูการตลาดตัวพ่ออย่างฟิลิป คอตเลอร์ บอกว่า การไลฟ์สด และวิดีโอสั้น คือกลยุทธ์ในการสื่อสารที่โดนใจชาวฟิจิทัล ขณะที่บางสำนักบอกว่า สื่อออฟไลน์ อาจกลับมามีบทบาทเพิ่มขึ้น แม้จะสู้สื่อดิจิทัลไม่ได้ แต่ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้
ในช่วงที่ผ่านมา เราพบว่า ผู้ทรงอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ที่เรียกว่า “อินฟลูเอนเซอร์” มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคมากกว่าเซเลบ ที่เป็นดารา หรือคนดัง พูดง่ายๆ ว่า คนที่จะมาสื่อสาร สมัยก่อนต้องดัง แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ใครก็ได้ ที่ทำคอนเทนต์แล้ว “โดน” จะกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลทันที
คำว่า “สร้างตัวตน” ของบรรดาผู้ที่อยากเป็นอินฟลูฯ ถูกนำมาใช้อย่างดาษดื่น คนอยากเป็นอินฟลูฯ เริ่มจะเยอะกว่าคนดู จนเมื่อปีที่ผ่านมา เริ่มมีปรากฏการณ์ ผู้จ้างเริ่มประเมินอินฟลูฯ อย่างจริงจังด้วยจำนวนของผู้ติดตาม
ถ้าเราจับมาผูกกันกับผลวิจัย ที่บอกว่า คนรุ่นใหม่ต้องการแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ มากกว่าการซื้อของถูกเพียงอย่างเดียว ก็อาจอนุมานได้ว่า คนที่น่าเชื่อถือมากที่สุด ควรเป็น “เจ้าของแบรนด์”
นั่นแปลว่า การสื่อสารที่ดี คนที่สามารถเป็นอินฟลูฯ ที่น่าเชื่อมากที่สุด คงเป็นเจ้าของแบรนด์นั่นเอง แทบไม่ต้องสร้างตัวตนใดๆ ให้วุ่นวาย เพราะเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์อยู่แล้ว รู้จักดี เข้าใจดี ย่อมสามารถออกมาสร้างคอนเทนต์ดีๆ ให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจแบรนด์ได้มากขึ้น แล้วถ้าจะหาอินฟลูฯ อื่น มาช่วยเสริมแรง ก็น่าจะดีกว่าการพึ่งพาอินฟลูฯ อื่นแบบ 100 เปอร์เซ็นต์
สุดท้าย แนวโน้มที่เป็นเรื่องของเครื่องมือช่วยทำการตลาด นั่นคือ AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ช่วยให้เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ประหยัดมากขึ้น เพราะมีตัวช่วย แต่ก็พึงตระหนักว่า AI จะฉลาดเพียงไหน ยังต้องการวิจารณญาณของมนุษย์อยู่ดี
ไม่ว่าแนวโน้มของตลาดจะเป็นอย่างไร การเป็นแบรนด์ที่น่าเชื่อ น่าไว้วางใจ แบรนด์ที่รักษ์โลก จะยังคงเป็นเกราะป้องกันที่ดี ให้ธุรกิจประคองตัวเดินไปบนเส้นทางของตลาดอันผันผวนนี้ได้อย่างตลอดรอดฝั่ง