เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
Featured การเงิน และการตลาด

หมู Ookbee ชี้ “การเงิน-บัญชี-กฎหมาย” เสี่ยงถูก AI แทนที่เร็วสุด ทักษะเดิมอาจใช้ไม่ได้ หากไม่พัฒนา เสี่ยงตกงานเร็วที่สุด

หมู Ookbee ชี้ “การเงิน-บัญชี-กฎหมาย” เสี่ยงถูก AI แทนที่เร็วสุด ทักษะเดิมอาจใช้ไม่ได้ หากไม่พัฒนา เสี่ยงตกงานเร็วที่สุด

ในงาน AI UTCC 5.0 Empowering Business Through Ai ณ หอประชุมหอการค้าไทย บนเวทีเสวนา หัวข้อ “ก้าวทัน Ai = ก้าวทันอนาคต” โดย คุณหมู-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท อุ๊คบี (Ookbee) ได้มาแชร์มุมมองเกี่ยวกับเรื่อง AI

AI กับกระดุมเม็ดแรก

ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจก่อนว่า “การติดกระดุมเม็ดแรกที่ประเทศไทย” และ “สิ่งที่ตลาดยอมรับคืออะไร”

AI กลายเป็นกระแสที่มาแรงในทุกวงการ แต่ถ้าหากจะนำมาใช้ สิ่งสำคัญ คือต้องเข้าใจบริบทของประเทศไทยก่อนว่า ขนาดของตลาดในไทยไม่ได้ใหญ่ ฉะนั้นต้องเริ่มจากการติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกก่อน และมาใส่จิ๊กซอว์เพิ่มทีละตัว ว่า AI สามารถเข้าไปเติมเต็มส่วนไหนได้บ้าง

ยกตัวอย่าง Brand Innovation เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ ที่มีอยู่ทุกที่ ใครจะเปิดก็ได้ แต่จะมีเพียงไม่กี่แบรนด์ที่ทำยอดขายได้แตะพันล้านบาท หรือคู่แข่งตลาดธุรกิจสุกี้ ชาบู ที่มีผู้เล่นดั้งเดิมอยู่มากมาย อาจจะเรียกว่า Business Model Innovation

อย่างก่อนหน้านี้จะมีเทรนด์ในเรื่องของ Cryptocurrency, Big Data, Digital Marketing ที่มาเร็วและมาแรง เป็นเหมือน Another Wave ที่จะมียุครุ่งเรืองเฟื่องฟู ที่ทุกคนต้องกระโดดเข้าคลื่นลูกนี้ 

อาชีพที่ AI มีแนวโน้มแทนที่เร็วที่สุด

คุณหมู มองว่า อาชีพที่มีรูปแบบงานตรงไปตรงมา และต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นหลัก จะได้รับผลกระทบจาก AI ก่อนใคร เช่น ‘การเงิน การบัญชี และไฟแนนซ์’ เป็นงานที่เกี่ยวกับการคำนวณ วิเคราะห์ตัวเลข และให้คำแนะนำทางการเงิน ซึ่งปัจจุบัน AI สามารถดึงข้อมูลมาวิเคราะห์และให้คำตอบได้ทันที 

ต่อมาเป็นงานเกี่ยวกับด้าน ‘กฎหมาย’ งานด้านเอกสารทางกฎหมาย หรือการให้คำปรึกษาขั้นพื้นฐาน AI สามารถสแกนสัญญา วิเคราะห์ข้อกฎหมาย และให้คำตอบได้รวดเร็ว

และอีกหนึ่งสิ่งคือ งานที่พึ่งพาคอมพิวเตอร์และระบบอัตโนมัติ เช่น การป้อนข้อมูล หรือการคำนวณที่มีสูตรตายตัว จากเดิมที่ต้องมีคนป้อนคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงาน ตอนนี้ AI สามารถเรียนรู้และทำงานได้เอง

อาชีพที่ AI ยังมาแทนไม่ได้

ถึงแม้ว่า AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่ก็ยังมีหลายอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยมนุษย์ในการดำเนินงาน เช่น ภาคการศึกษา การนำ AI เข้ามาใช้ อาจจะช่วยปรับในการเรียนการสอนให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละคน แต่ครูและผู้สอนก็ยังมีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำและพัฒนาศักยภาพนักเรียน

ต่อมา ภาคการเกษตร แม้ว่า AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ดิน พยากรณ์อากาศ และบริหารจัดการฟาร์มได้ แต่แรงงานคนยังมีความจำเป็นในกระบวนการผลิต

ตามมาด้วย อสังหาริมทรัพย์ และพื้นที่จัดเก็บสินค้า (Storage Space) AI อาจช่วยเรื่องการประเมินราคาหรือการจัดสรรพื้นที่ แต่ยังไม่สามารถทดแทนการดำเนินงานด้านโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างได้

ปัจจัยชี้เป็นชี้ตายของ AI

กลับมาที่พฤติกรรมของคนว่า “เราเชื่อ AI มากแค่ไหน แล้วจุดชี้เป็นชี้ตายของความเชื่อเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ ได้หรือไม่”

เช่น เมื่อก่อนตอนที่มี Internet Banking เข้ามาใหม่ๆ คนส่วนใหญ่ยังไม่เปิดใจ ยังไม่กล้าใช้ เพราะไม่มั่นใจว่าเม็ดเงินในแอปกับเงินในธนาคารเป็นตัวเดียวกันไหม แต่ปัจจุบันเรียกได้ว่าแทบจะไม่ใช้เงินสดกันแล้ว

AI ก็เช่นกัน หลายคนในวงการนัก Trade หุ้น มักจะใช้บอตในการช่วย Trade เพราะเรามีความเชื่อมั่นเชื่อใจที่จะให้ AI ตัดเงินเรา

“เราสามารถให้ AI ทำหน้าที่เหมือนพนักงานหรือเลขาส่วนตัว ที่สามารถไปช้อปปิ้งและจ่ายเงินให้ได้ทันที ซึ่งจุดนี้ถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่า AI สามารถเข้าถึงธุรกิจและชีวิตส่วนตัวได้อย่างมีประโยชน์จริงๆ และหากวันหนึ่งสามารถมอบหมายให้ AI บริหารธุรกิจแทนเราได้ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่ายุคเฟื่องฟูของ AI มาถึงแล้ว”

อย่างไรก็ตาม AI กำลังเปลี่ยนแปลงโลกของการทำงาน ทำให้อาชีพที่พึ่งพากระบวนการที่สามารถทำซ้ำได้จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ในขณะที่อุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ การตัดสินใจ และปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ยังคงปลอดภัยกว่า

ดังนั้น หากต้องการอยู่รอดในยุค AI การพัฒนาทักษะที่ AI ทดแทนได้ยาก จะเป็นกุญแจสำคัญในการก้าวทันอนาคต

Related Posts

80 ยังแจ๋ว "ป้าตุ่น" ครีเอเตอร์รุ่นใหญ่ ไม่หยุดเรียนรู้ โชว์ทำขนมบนโซเชียล เป็นขวัญใจคนทุกเจน
จากปัญหาของเล่นล้นบ้าน สู่ Keimen Kids ธุรกิจเช่าของเล่นที่อยากช่วยเซฟโลก เซฟเงินในกระเป๋าพ่อแม่