‘ธุรกิจสัตว์เลี้ยง’ เชื่อมคนหลายวัยเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งคนรุ่นใหม่และเบบี้บูมเมอร์ เลี้ยงไว้ช่วยคลายเหงาและเสริมสุขภาพทางใจ
ทุกธุรกิจ อยากมี “ลูกค้าเก่า”
เพราะบ่งบอกถึงการมี “ลูกค้าเดิม” ที่เคยใช้บริการ แล้วยังกลับมาใช้บริการอยู่อีก
แล้วถ้า “ลูกค้าเก่า” เป็น “ลูกค้าแก่” ด้วยล่ะ ยังต้องการลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ไหม
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ส่งผลกระทบในหลายมิติ ทั้งสังคม ทั้งแรงงาน และหนีไม่พ้นคือ การตลาด
ตอนนี้แทบจะขีดเส้นแบ่งได้เลยว่า ฐานลูกค้าที่คนทำธุรกิจต้องเลือกให้เป็นลูกค้ากลุ่มหลัก เหมือนว่าจะมี 2 ฝั่งใหญ่คือ คนเก่า (แก่) และคนรุ่นใหม่
หากธุรกิจของเราเลือกคนรุ่นเก่า ที่กำลังอยู่ในสถานะคนรุ่นแก่ เพราะอายุอานามก็เลยวัยกลางคนไปหมดแล้ว การดำเนินธุรกิจอาจยังพอใช้วิธีการเดิมๆ ได้อยู่
แต่ถ้าตัดสินใจเลือกคนรุ่นใหม่ เทคโนโลยีได้เข้ามาเร่งเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร ส่งผลต่อพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ อาศัยการนำพาลากจูงโดยเทคโนโลยีให้เกิดกระบวนการตัดสินใจที่เปลี่ยนไป หรือกระบวนการต่างๆ ที่ข้องเกี่ยวในการซื้อขาย
นั่นแปลว่า การทำการตลาดกับลูกค้าคนรุ่นใหม่ ต้องเข้าใจเทคโนโลยี แต่หากยังต้องการจับกลุ่มคนรุ่นเก่า (แก่) ต้องเข้าใจจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด
ถ้าถามว่าธุรกิจอะไร เหมาะกับคนุร่นเก่า ธุรกิจแนว Wellness ทั้งหลาย ก็มักจะพรั่งพรูมาในสมอง แต่มีอยู่ธุรกิจหนึ่งที่ไม่น่าเชื่อว่า จะกลายเป็นจุดเชื่อมต่อคนหลายวัยเข้าไว้ด้วยกันได้ และถือว่าดีงามกับคนรุ่นเก่าด้วย เพราะถึงไม่ได้ช่วยเรื่อง Wellness ทางกาย แต่เป็น Wellness ทางใจยิ่งนัก
“ธุรกิจสัตว์เลี้ยง”
หลายคนคงร้องอ๋อ…ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่เลยนี่ เขาก็เลี้ยงกันมานานมากแล้ว ใครๆ ก็รู้
ครับ…คงเป็นเช่นนั้น แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่สายรักสัตว์แบบผม ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจพอสมควร
ในปีที่ผ่านมา ผมสังเกตเห็น “ร้านอาหารสัตว์เลี้ยง” เปิดกันครึกครื้น นั่นแปลว่า “ประชากรสัตว์เลี้ยง” ต้องมีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดด้วย
เรื่องนี้คงเป็นจริงเช่นนั้น เพราะปัจจุบันเราจะเห็นคนทั้งรุ่นใหม่ และรุ่นเก่า รวมไปถึงรุ่นเด็ก ที่นิยมเลี้ยงสัตว์มากขึ้น ซึ่งคำว่านิยมเลี้ยงมากขึ้นในที่นี้ ไม่ได้หมายความเดียวกันกับวิธีเลี้ยงที่คนเจนเบบี้บูมเมอร์ หรือเจน X คุ้นชินในสมัยเยาว์วัย นั่นคือ การเลี้ยงสัตว์แบบบุฟเฟต์ เลี้ยงแบบปล่อยๆ ใช้ชีวิตกันไป มีข้าวมีน้ำ (แบบตามมีตามเกิด) วางไว้ให้กิน
การเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบัน ก้าวไปสู่ระดับที่ถูกพัฒนาเป็นการ “เลี้ยงสัตว์แทนลูก” หรือพูดสั้นๆ ว่า “เลี้ยงสัตว์เป็นลูก”
ข้อมูลของ ม.มหิดล ได้ทำวิจัยไว้เมื่อต้นปี 2566 พบว่า คนไทยมากกว่า 49% เลี้ยงสัตว์เป็นลูก (Pet Parent) และยังยอมจ่ายค่าดูแลบรรดาเจ้าสี่ขาทั้งหลายเหล่านี้สูงถึง 14,200 บาท ต่อตัวต่อปี
นอกจากนั้น ยังพบว่า 34% เลี้ยงเพื่อสถานะทางสังคม โอ้…ผมเพิ่งรู้นะเนี่ย ว่านอกเหนือจากการโชว์เหนือกันเรื่องทรัพย์สมบัติแล้ว สัตว์เลี้ยงยังเอามาโชว์เหนือกันได้ด้วย ขณะที่อีก 18% เลี้ยงไว้เพื่อช่วยเหลือบำบัดรักษา อันนี้เป็นกลุ่มลูกค้าเก่า (แก่) เป็นหลัก
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่า มูลค่าของตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยจะเติบโตปีละ 8.4% แต่ปรากฏว่าข้อมูลของ ttb analytics บอกว่า มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงไทยตั้งแต่ 2562-2567 โตเฉลี่ยปีละ 17.5% และมูลค่าตลาดในปี 2567 จะสูงถึง 74,800 ล้านบาท นี่เพิ่งต้นปี 2568 ยังไม่มีข้อสรุปว่าเป็นตามนั้นจริงไหม แต่ผมเชื่อว่า ไม่ใช่ก็คงใกล้เคียงแหละ ดีไม่ดี อาจเติบโตทะลุพยากรณ์ก็เป็นได้
ถ้าดูมูลค่าตลาดโดยรวมย้อนหลัง พบว่า แบ่งเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง 44,600 ล้านบาท อุปกรณ์สัตว์เลี้ยง 22,900 ล้านบาท บริการรักษาสัตว์เลี้ยง 6,640 ล้านบาท บริการดูแลสัตว์เลี้ยง 660 ล้านบาท
พอไปดูผลประกอบการบริษัทผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย ดูแค่บริษัทเจ้าใหญ่ กำไรต่อปี 400-500 ล้านบาท โดยเฉลี่ย เจ้าดังจากต่างประเทศที่เข้ามาเปิดฟาดไปซะ 1,000 กว่าล้านบาท นี่พูดถึงกำไรสุทธินะ ไม่ได้พูดถึงยอดขาย
ที่หยิบเอาเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพราะส่วนหนึ่งผมตื่นเต้นเมื่อเห็นตัวเลขมูลค่าตลาด และอัตราการเติบโตในฐานะคนที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ จึงตื่นเต้นกับตัวเลขทางธุรกิจ
ซึ่งแน่นอนว่า หากใครสนใจจับกลุ่มลูกค้าสัตว์เลี้ยง ก็จะได้ครอบคลุมทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า คนรุ่นแก่ ตลาดนี้ยังมีวงจรเกี่ยวข้องไปอีกหลายอย่าง ทั้งขายสัตว์เลี้ยง อาหารสัตว์เลี้ยง อุปกรณ์ ของเล่น เสื้อผ้าของตกแต่ง การรักษาพยาบาล การรับดูแล ลามไปถึงที่พัก คาเฟ่ ร้านอาหาร ที่มาแนว Pet Friendly
กระแส Pet Parent หรือ การเลี้ยงสัตว์เป็นลูก มาแรงครับ เราไม่ได้เลี้ยงหมาแมวไว้เฝ้าบ้านอีกแล้ว แต่เราเลือกที่จะเฝ้าบ้านแทนหมาแมว แล้วดูแลให้หมาแมวอยู่แบบสบายอกสบายใจ พ่อแม่ยอมจ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าสวยงามให้ลูกได้อย่างไร สัตว์เลี้ยงกำลังได้รับสิ่งนั้น ตลาดนี้ จึงเป็นตลาดที่สนองตอบเชิงอารมณ์ ซึ่งลูกค้าจะยอมจ่ายแพง แบบไม่คิดมาก
สังคมผู้สูงวัยไม่เหมือนความสูงวัยแต่ดั้งเดิม ที่มีลูกมีหลานมีเหลนยั้วเยี้ยเต็มบ้าน คนแก่ไม่มีเหงา มีแต่รำคาญ แต่ปัจจุบันตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นสังคมวัยชราที่เดียวดาย จึงเป็นเหตุให้ธุรกิจสัตว์เลี้ยงเติบโต เพราะ “ความเดียวดาย” เริ่มก่อตัวตั้งแต่วัยทำงาน ตลาดสัตว์เลี้ยงจึงเข้ามาเติมเต็ม ตั้งแต่วัยทำงานยันวัยชรา
จากเรื่องสินค้าสัตว์เลี้ยง และวงจรที่เกี่ยวข้อง ทำให้คิดต่อได้ว่า หากเราเลือกจะคบกับลูกค้าเป้าหมายวัยชรา ลูกค้าสูงวัย สินค้าที่ช่วย “จรรโลงใจ” เป็นสิ่งที่น่าสนใจ
และในความเป็นสังคมวัยชราที่เดียวดาย ธุรกิจที่สร้างความจรรโลงใจทุกประเภท ธุรกิจที่ช่วยเหลือให้เกิด Wellness ทางใจ เป็นสิ่งที่ควรมองหา เพื่อนำมาตอบสนองคนสูงวัย
หากเราสร้างสินค้าแนวนี้ได้ รับรองว่าจะมีขาประจำเป็นลูกค้าเก่า (แก่) อย่างแน่นอน…