เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
แจกสูตรอาหาร และเครื่องดื่ม Featured

น้ำพริกเผามังคุด 100 ปี จันทบุรี ภูมิปัญญาแม่บ้านปลายคลอง

ใครที่เดินทางไปจังหวัดจันทบุรี เวลานี้จะเห็นของฝากแปลกตามากมาย ส่วนมากเป็นสินค้าโอท็อปที่มีคุณภาพ ทำมาจากสินค้าพื้นเมือง หนึ่งในนั้นคือ “น้ำพริกเผามังคุด” เป็นน้ำพริกเนื้อมังคุดแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญ เป็น “มังคุดจันทบุรี”

“มังคุดจันทบุรี” ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมือง มีพัฒนาบ้างเพื่อให้ได้ต้นเตี้ย สะดวกแก่การเก็บ และมีลักษณะแตกต่างจากมังคุดในภาคอื่นๆ

กล่าวคือมีผลขนาดเล็กกว่า รูปทรงค่อนข้างเรียว และมีเปลือกค่อนข้างบาง สีของกลีบที่ปลายขั้วผลมีสีแดง ผลสุกจะมีสีม่วงดำ เนื้อนุ่ม รสจัดจ้าน มังคุดจันทบุรีจะออกผลประมาณเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมของทุกปี การทำสวนมังคุดมีพื้นที่เพาะปลูกเป็นอันดับ 3 ของจังหวัด ปัจจุบันนี้มีพื้นที่ปลูกมังคุดในจันทบุรี ประมาณ 85,906 ไร่ ทำเงินในระดับ 2,000 กว่าล้าน ต่อปี นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดทีเดียว
สวนมังคุดหลักๆ อยู่บริเวณอำเภอมะขาม, นายายอาม, ขลุง, ท่าใหม่, เมือง, แก่งหางแมว, โป่งน้ำร้อน, แหลมสิงห์, สอยดาว และกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ มังคุดจันทบุรีขึ้นชื่อลือชาว่าอร่อยที่สุด ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มกันและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพาะปลูกมังคุด เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวสวนมังคุด นอกจากนั้น ชาวสวนมังคุดที่จันทบุรียังหันมาใช้เกษตรอินทรีย์ และพัฒนาเรื่องการเพาะปลูกให้สามารถเก็บผลได้ก่อนฤดูกาล ซึ่งทำให้ขายได้ราคามากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม มังคุดก็ยังเป็นเหมือนผลไม้ชนิดอื่นของไทย ที่บางฤดูกาลอาจเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด ส่งผลให้ราคาตกต่ำกว่าที่ควรเป็น สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรชาวสวนมังคุด ดังนั้น ปัญหานี้จึงได้รับการแก้ไขด้วยการพยายาม “แปรรูป” มังคุดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งนอกจากสามารถแก้ปัญหาเรื่องราคาตกต่ำแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ในจันทบุรีอีกด้วย ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวคือ นำมังคุดมาแปรรูปทำเป็น “น้ำพริกเผามังคุด”
น้ำพริกเผามังคุด เกิดมาจากการรวมกลุ่มของ “แม่บ้านเกษตรกรปลายคลอง” ในจังหวัดจันทบุรี โดยมี “แอ๊ด-จิรฐา มีผิว” ประธานกลุ่มคิดแก้ปัญหามังคุดล้นตลาดในช่วงฤดูกาล ให้กับชาวสวนที่เป็นสมาชิกกลุ่ม ถือเป็นเจ้าแรกที่บุกเบิกสินค้าดังกล่าวขึ้น
“จิรฐา” หรือ “แอ๊ด” เล่าว่า ที่คิดมาทำน้ำพริกเผามังคุด เพราะในตอนแรกที่บ้านเป็นสวนมังคุด ชื่อ “สวนคุณยาย 200 ปี” มีเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ ได้เริ่มจัดงานบุฟเฟ่ต์ผลไม้ พอแขกมาก็ทำน้ำมังคุดให้ดื่ม โดยกรองเอาแต่น้ำ จึงเหลือกากจำนวนมาก ไม่รู้ว่าจะนำไปทำอะไรดี เลยไปหารือกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี อาจารย์แนะนำว่า ให้ลองนำมาทำน้ำพริกมังคุด จึงทดลองทำกันดูว่ารสชาติเป็นอย่างไร จะเข้ากันได้หรือไม่ ซึ่งก็ได้ทดลองทำเรื่อยมา ได้ปรับปรุงแก้ไขพัฒนา จนออกมาเป็นน้ำพริกเผามังคุดในปัจจุบัน
“กากใยมังคุดจะเต็มไปด้วยคุณประโยชน์ รวมถึงสารที่เรียกว่าแซนโทน ซึ่งต้านอนุมูลอิสระได้อย่างดี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีเชี่ยวชาญในการสอนทำน้ำพริกเผา ก็แนะให้ทำน้ำพริกเผามังคุด ซึ่งยังไม่เคยทำมาก่อน จึงลองผิดลองถูกกันไปเป็นเวลา 1 ปีเต็ม กระทั่งสำเร็จออกมาเป็นน้ำพริกเผามังคุดในปัจจุบัน สิ่งที่ได้ในน้ำพริกเผา คือ ประโยชน์จากมังคุด ประโยชน์จากสมุนไพรในน้ำพริกด้วย เป็นสองคุณค่าในหนึ่งเดียว คิดว่าถึงวันนี้ทุกอย่างลงตัวหมดแล้ว ตอนนี้กำลังยื่นขอเครื่องหมายจาก “อย.” กำลังรออยู่ว่าจะได้เมื่อไหร่” ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรกล่าว
ตั้งแต่ที่เริ่มออกวางจำหน่าย จิรฐา บอกว่า สามารถขายได้เรื่อยๆ โดยใช้วิธีประชาสัมพันธ์แบบปากต่อปาก และให้ทดลองชิมด้วยตัวเอง ซึ่งทุกคนที่ชิมยอมรับในรสชาติที่อร่อย และจะซื้อกลับไปแทบทุกคน เธอบอกด้วยว่า น้ำพริกมังคุดเคยไปออกร้านในงานโอท็อปที่เมืองทองธานี ได้รับป้ายเป็นสินค้าขายดีในงาน แต่ละครั้งขายได้ไม่ต่ำกว่า 300-400 ขวด นอกจากขายในงานออกร้านต่างๆ แล้ว ยังฝากขายตามร้านขายของฝากในจังหวัดจันทบุรีด้วย ซึ่งวางขายเฉพาะในจันทบุรีเท่านั้น ยังไม่มีการวางขายในจังหวัดอื่น ส่วนสนนราคาขายปลีก กระปุกละ 70 บาท ขายส่งอยู่ประมาณ 50 บาท ตราสินค้าของกลุ่มคือ “ดาวจันทน์”
สำหรับใครที่สนใจอยากรู้ว่า “มังคุด” ทำเป็นน้ำพริกเผาได้อย่างไร แอ๊ด-จิรฐา บอกเล่าคร่าวๆ ว่า ใช้หอม กระเทียม แบบเดียวกับที่ทำน้ำพริกเผา และมะขามเปียกมาทำให้สุก แคะเอาเฉพาะเนื้อมังคุดขาวๆ มาปั่นทั้งเมล็ดให้ละเอียด จากนั้นนำไปรวนให้แห้งเหนียว ก่อนนำขวดแก้วมาบรรจุน้ำพริกต้องต้มในน้ำเดือดก่อน แล้วปิดฝาให้สนิท นำไปสเตอริไลซ์
“น้ำพริกเผามังคุดของเราได้รับรางวัลที่ 1 ของดีบ้านฉัน ประเภทอาหาร เคล็ดลับที่ไม่มีใครเหมือนก็คือ ใช้เนื้อมังคุดจากต้นที่มีอายุ 100 ปี ซึ่งเนื้อจะฟูมาก และมีเปลือกบาง รสชาติหวาน ตอนนี้เริ่มทำขายทางไปรษณีย์บ้างแล้ว นอกจากน้ำพริกเผามังคุด ยังมีสินค้าโอท็อปของกลุ่มแม่บ้านตัวอื่นๆ ด้วย อาทิ มังคุดกวน ทุเรียนกรอบ ลองกองอบแห้ง ท็อฟฟี่ผลไม้”

น้ำพริกเผามังคุดของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลายคลอง นอกจากจะทำรายได้ให้กับคนในชุมชนแล้ว กำลังจะขยายเพื่อส่งไปขายในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้กำลังรอการพิจารณาของ “อย.” หากสามารถมีตรารับประกันจาก อย.แล้ว น้ำพริกเผามังคุดจันทบุรี ก็จะเป็นสินค้าขึ้นชื่ออีกสินค้าหนึ่งของจันทบุรี เป็นความภูมิใจของคนจันทบูรที่ใช้ภูมิปัญญาให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อชุมชนและตนเอง

ข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ

Related Posts

กะละแมนครพนม