เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
หลักสูตรเรียนฟรี

นักธุรกิจหญิงวัย 40 เห็นลู่ทางทำเงินใน จ.น่าน กำเงินเก็บก้อนสุดท้ายในชีวิต สร้างอาณาจักรกาแฟ กิจการดีรับเงินเเสน ซื้อที่ดินเพิ่มอนาคตเปิดที่พัก

เพียงคืนเดียวที่ได้พักอยู่ในจังหวัดเล็กๆ ชื่อ “น่าน” ก็ทำให้คุณดนิตา สุภพัฒน์บงกช หรือคุณหนิง ตัดสินใจใช้ชีวิตที่เหลือต่อจากนี้ ที่นี่ คือ “บ้าน”

แต่ทว่าในวัยก้าวสู่เลขสี่ ความหวั่นวิตกกับความเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นในใจ

กาแฟ โดนกลุ่มเป้าหมาย
ตอบโจทย์คนเมืองน่าน

“ตอนนั้นเพื่อนเดินทางเพื่อจะเข้ามาติดต่อเรื่องงานที่จังหวัดน่าน เลยขอติดรถเพื่อนมาด้วย ถือโอกาสเที่ยวและดูตลาด เพื่อหาลู่ทางนำผลิตภัณฑ์ของทางบ้านมาวางจำหน่าย แต่เพียงคืนเดียวที่ได้อยู่ก็พบกับความสุข ที่นี่มีจักรยานคันเดียวสามารถเดินทางไปได้รอบเมือง ผู้คนน่ารัก สงบ อีกทั้งยังเป็นเมืองท่องเที่ยวจึงมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจ”

“เดินทางมาที่น่านในเดือนกันยายน ปี 2556 จากนั้นเดือนตุลาคมก็เริ่มมองหาสถานที่เพื่อเปิดร้าน โดยเบื้องต้นคิดนำผลิตภัณฑ์ดูแลผมและผิวสินค้าโอท็อปของครอบครัวมาเปิดตลาด ชูความเป็นสมุนไพร อย่าง มะกรูด อัญชัน ซึ่งต่อมาในเดือนธันวาคมก็ได้พื้นที่ร้านให้เช่าในราคาหลักพันบาท จึงเริ่มลุย”

ความกังวลกับตัวเลขอายุเริ่มบรรเทาลง ด้วยเพราะเห็นตัวอย่างเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเดินทางจากบ้านเกิดมาอยู่จังหวัดน่าน เปิดร้านค้าขายเครื่องดื่ม กระทั่งเลี้ยงตัวเองได้ กอปรกับความกล้าท้าทายสิ่งใหม่ๆ ของคุณหนิงที่เชื่อมั่นต่อการตัดสินใจของตนเอง ส่งผลให้ความกลัวจางหายไปในที่สุด

เงินทุนตั้งต้นทำธุรกิจกับการดำเนินชีวิตมีติดกระเป๋า 100,000 บาท คุณหนิง แบ่งนำมาใช้ในส่วนเช่าพื้นที่และสต็อกสินค้าราว 50,000 บาท ซึ่งขณะนั้นเลือกนำผลิตภัณฑ์ของครอบครัวมาจำหน่ายดังที่ได้วางแผนไว้แต่ต้น แต่ทว่าสินค้ากลับไม่ตอบโจทย์ตลาดเท่าที่ควร

“น่านเป็นเมืองท่องเที่ยว ฉะนั้นสินค้าที่เหมาะจะนำมาจำหน่ายต้องบ่งบอกตัวตนของน่าน ควรชูความเป็นน่าน และสำคัญคือต้องเป็นตัวเรา ซึ่งตอนนั้นก็เริ่มมองหา กระทั่งสังเกตเห็นร้านกาแฟเกิดขึ้นเยอะมาก ภายหลังมารู้ว่าน่านมีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอยู่พอสมควร จึงเลือกนำวัตถุดิบมาเป็นจุดขาย ใส่ความเป็นน่านลงไปและในขณะเดียวกันก็เป็นตัวเราด้วย”

กำเงินขายคอนโดฯ
โชว์จุดขาย “น่าน”

กับการคิดค้นสูตรผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเส้นผมไม่ใช่เรื่องยาก ด้วยเพราะพื้นความรู้เดิมมีอยู่แล้ว ฉะนั้นกระบวนการผลิตจึงใช้วิธีจัดส่งเมล็ดกาแฟสดไปยังโรงงานของครอบครัวผลิตให้ จากนั้นนำมาบรรจุพร้อมติดแบรนด์ “อยู่อย่างน่าน”

นอกจากจะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้แล้ว สินค้าภายใต้แบรนด์อยู่อย่างน่าน ยังขายเรื่องราวความเป็นน่านให้กับคนน่านได้ภาคภูมิใจ โดยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวราวกลางเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาพร้อมอุดหนุนสินค้าที่มีกว่าสิบรายการ อาทิ สบู่ แชมพู ครีมนวดผม สครับผิวกายและผิวหน้า ลิบบาล์ม มาส์กหน้า ที่มีราคาเริ่มต้น 60 บาท ไปจนถึง 160 บาท โดยสินค้าได้รับความนิยม คือ สบู่เหลวกาแฟ

“เรื่องการผลิตยังส่งให้กลุ่มธุรกิจของครอบครัวช่วย เพราะหากลงทุนเองต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก กำลังเราไปไม่ถึง แต่ตอนที่คิดมาบุกกาแฟ เงินลงทุนต้องพร้อม เพราะเราวางไว้ว่าธุรกิจต้องทำให้ยั่งยืน หนิงจึงตัดสินใจกลับกรุงเทพฯ ไปขายคอนโดฯ กำเงิน 5 แสนบาทมาลงทุนเพิ่ม ซึ่งมาถึงวันนี้ผลิตภัณฑ์อยู่อย่างน่าน จะชูวัตถุดิบคือทำมาจากเมล็ดกาแฟ กลายเป็นสินค้าที่มีเรื่องราว นี่คือจุดขายที่ยั่งยืน”

คุณหนิงยังได้กล่าวถึงการเปิดหน้าร้านว่ามีความจำเป็นในช่วงเริ่มต้น เพราะจะสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า สร้างความชัดเจนในด้านการมีตัวตน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่แบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยว ช่องทางอื่นจึงต้องตามมา เพื่อให้ลูกค้าเกิดความสะดวกในการซื้อครั้งต่อๆ ไป หรือเรียกง่ายๆ ว่า ไม่ต้องมาน่านก็สามารถซื้อหาได้

 

ได้ดี ไม่ต้องมีหน้าร้าน

“ฝากขาย” เป็นช่องทางที่คุณหนิง เลือกทำ “เริ่มต้นเป็นช่วงที่ต้องสร้างการรับรู้ หน้าร้านสามารถช่วยได้มาก แต่เราต้องไม่หยุดนิ่ง หนิงเดินเข้าไปติดต่อโรงแรม รีสอร์ท ที่พักต่างๆ เพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปฝากจำหน่าย และต่อมาก็ได้รับความไว้วางใจให้ผลิตเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ไว้รองรับลูกค้าในห้องพักด้วย ซึ่งก็เป็นรูปแบบรับจ้างผลิตโดยไม่ติดแบรนด์

จากนั้นก็มองต่อว่า เมื่อลูกค้ามาน่าน ซื้อสินค้านำกลับไปใช้แล้วชอบ เขาจะสามารถหาซื้อได้ที่ไหนอีก เราจึงติดต่อกับร้าน ตำรับไทย กระทั่งปัจจุบันสินค้าได้รับโอกาสวางจำหน่ายแล้ว 11 รายการ รวม 55 สาขา ซึ่งกับช่องทางนี้เพิ่งเริ่มเดิน คงต้องรอดูผลว่าจะเป็นเช่นไร”

อีกช่องทางหนึ่งที่ปฏิเสธการเข้าถึงไม่ได้ คือ ออนไลน์ โดยเริ่มรุกด้วยวิธีเปิดเพจ “อยู่อย่างน่าน” ขึ้นมา อันถือเป็นช่องทางสร้างการรับรู้ได้รวดเร็ว และทำให้การค้าขายไร้ขีดจำกัด

“กับการบุกตลาดในช่องทางดังกล่าวมา เราเชื่อว่าจะส่งผลให้เติบโตขึ้นอย่างแน่นอน แต่ว่าการจะดูว่าธุรกิจมันไปรอดหรือไม่ หนิงวัดที่ 3 ปี ซึ่งก็พยายามที่จะทำในสิ่งที่จะส่งผลไปสู่ความยั่งยืนนะ ไม่ใช่ทำตามกระแส หรือแฟชั่น หนิงไม่ทำในรูปแบบตัวแทนจำหน่าย ไม่ออกบู๊ธ เพราะเราไม่ถนัดด้านนี้ แต่ใช้วิธีใส่เรื่องราวลงในสินค้า ซึ่งสิ่งนี้มองว่าคือหนทางที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน เพราะผู้คนให้ความสำคัญกับความเป็นมาเป็นไปของสินค้าแต่ละชิ้น”

คุณหนิง ยังกล่าวต่อถึงหน้าร้านว่า “วันนี้ลูกค้าหน้าร้านเริ่มบางตาลง เพราะช่องทางอื่นๆ มีให้เขาเข้าถึง ฉะนั้นหากออนไลน์ ฝากขายเป็นไปด้วยดี ในปีหน้า (2561) ในส่วนของหน้าร้านอาจไม่จำเป็นต้องมี นำเงินไปลงทุนในส่วนของช่องทางอื่นที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากกว่าและกว้างกว่า”

บ่งบอกตัวตนชัดเจน
ความต่าง สร้างรายได้

ผู้ประกอบการคนกล้า ยังเล่าถึงรายได้ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยกลุ่มหลักนักท่องเที่ยวและสถานประกอบการที่พักรวมถึงหน้าร้าน โดยช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวราวกลางเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ประมาณ 100,000-200,000 บาทต่อเดือน พ้นจากนั้นจะมีรายได้ประมาณ 50,000 บาทต่อเดือน ส่วนผลกำไรหากเป็นสินค้านำไปฝากจำหน่าย กำไรได้รับราว 20 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้รับไปจำหน่ายจะมีรายได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์

แม้ในวันนี้จะไม่มีคู่แข่งที่ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันในจังหวัดน่าน แต่ทว่ามองตลาดโดยรวมนั้นมีอยู่มาก ทั้งนี้คุณหนิงกลับไม่เห็นเป็นอุปสรรค ด้วยเพราะเชื่อว่าหากสินค้าแบรนด์ใดแสดงความเป็นตัวตนชัดเจน เป้าหมายในการทำธุรกิจชัดเจน ย่อมส่งผลให้เกิดความต่างเสมอ และความต่างนี้เองจะนำมาซึ่งรายได้

จากวันนั้นในวัย 40 ที่ย้ายตัวเองเข้ามาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในจังหวัดที่ไม่ใช่แม้แต่บ้านเกิด สถานที่พักอาศัยเป็นเพียงบ้านเช่า แต่ความมุ่งมั่นที่เต็มเปี่ยมอยู่ในหัวใจ คือแรงผลักให้เป้าหมายที่วางไว้ชัดเจนขึ้น หากเปรียบดังต้นไม้ “อยู่อย่างน่าน” ในวันนี้ก็มาถึงจุดเติบโตให้ผลผลิต พร้อมแตกกิ่งก้านต่อยอดก้าวไปอีกขั้น

“วันนี้หนิงมีบ้านมีรถ มีที่ดินที่ซื้อไว้อีก 2 ไร่ โดยตั้งใจจะสร้างเป็นที่พัก อาจเริ่มต้นสองหลังก่อน และเปิดเป็นสตูดิโอ ให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้หลักสูตรง่ายๆ อย่างการทำสบู่ หรืองานปั้นที่แฟนมีความถนัด หรือเราคิดไปถึงการทำผ้ามัดย้อมด้วยกาแฟ ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดเวิร์คช็อป มัดย้อมเปื้อนยิ้ม สไตล์ ชิโบริ ซึ่งจัดไปสองรอบได้รับความสนใจ ถือว่าประสบความสำเร็จ ได้นำเงินไปร่วมทำบุญ เราจึงคิดว่าการเรียนรู้แบบสั้นๆ สามารถต่อยอดไปยังนักท่องเที่ยวและผู้สนใจ ประกอบกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและผู้ประกอบการโรงแรมที่พักมองหาวิธีที่จะทำให้นักท่องเที่ยวได้ใช้เวลาอยู่ในเมืองมากขึ้น การจัดเวิร์คช็อปก็เป็นอีกหนึ่งวิธีมัดใจและทำให้เขาได้รับความรู้ติดตัวไป ในราคาที่ไม่แพงด้วย”

กับโครงการดังกล่าว คุณหนิงได้ติดต่อโรงแรมที่พัก เพื่อเกิดการต่อยอด บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน และคงไม่เพียงส่งผลให้ “อยู่อย่างน่าน” เติบโตเพียงลำพัง แต่ทว่าหมายรวมไปสู่อีกหลายๆ กิจการในพื้นที่

ภาพการท่องเที่ยวในเมืองเล็กๆ ก็จะยิ่งมีชีวิตชีวายิ่งขึ้นไปอีก

Related Posts