เกษตรกรยุคใหม่ต้องปลูกได้ ทำการตลาดเป็น พร้อมเปิดรับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่ง ในการพัฒนาคุณภาพผลผลิต เช่นเดียวกับคุณณัฐ มั่นคง เกษตรกรรุ่นใหม่เจ้าของ “โคโค่ เมล่อนฟาร์ม” อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ต้นแบบของเกษตรกรที่เลือกใช้เทคโนโลยี Internet of Thing มาช่วยดูแลโรงเรือนปลูกเมล่อนปลอดสารพิษ
คุณณัฐมีความสนใจในธุรกิจการเกษตร และมองเห็นว่าเมล่อนเป็นผลไม้ที่สามารถสร้างรายได้ดี โดยใช้พื้นที่ไม่มาก จึงได้เริ่มศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับเมล่อนด้วยตนเอง ทั้งการไปศึกษาดูงานตามสถานที่ต่างๆ อีกทั้งยังได้เข้าร่วมอบรมในโครงการของดีแทค ในด้านการตลาด จนถึงการนำเสนอสินค้าเพื่อสร้างการรับรู้ไปยังผู้บริโภค
รสชาติเมล่อนที่หวาน หอม เนื้อฉ่ำ เป็นสิ่งที่คุณณัฐให้ความสำคัญเสมอมา จึงเลือกนำเอาเทคโนโลยี IOT ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการฟาร์มอัจฉริยะของกรมส่งเสริมการเกษตร และ Dtac ที่มีระบบเซ็นเซอร์คอยสังเกตและติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก โดยตัวเครื่องจะส่งข้อมูลสู่แอพพลิเคชั่นให้เกษตรกรสามารถดูข้อมูลมาตรฐาน ความชื้น อุณหภูมิและแสงสว่างที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตแบบ real-time ในลักษณะ “ฟาร์มแม่นยำ” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ทำให้เมล่อนมีรสชาติดี เป็นที่ต้องการของตลาด
“เมล่อนเป็นผลไม้ที่ชอบความชื้นในดินสูง ตอนเริ่มแรกจะใช้มือล้วงเข้าไปในดิน เพื่อคาดเดาอุณหภูมิความชื้นด้วยความรู้สึกของตนเอง ภายหลังได้ทดลองใช้ระบบเซ็นเซอร์ ทำให้สามารถคำนวณปริมาณน้ำที่เหมาะสม ผลผลิตได้ตรงตามความต้องการ คุณภาพคงที่ ส่งผลให้วางแผนการตลาดได้ง่ายขึ้น”
แปลงเมล่อนในโรงเรือนแบบปิด
เขายังได้ใช้ความรู้ด้านบริหารธุรกิจมาประยุกต์กับโซเชียลมีเดียเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคผ่านเพจเฟซบุ๊ก “โคโค่ เมล่อนฟาร์ม” รวมทั้งรับออร์เดอร์ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ จัดส่งถึงที่ทั่วประเทศ แม้จะเริ่มต้นเพียง 4 โรงเรือน แต่ปัจจุบันฟาร์มแห่งนี้ขยายกิจการเพิ่มขึ้นอีกกว่า 20 โรงเรือน ด้วยความใส่ใจ ทุ่มเท ผลเมล่อนทุกลูกของโคโค่ เมล่อน ฟาร์มจึงได้มาตรฐาน มีค่าความหวานไม่ต่ำกว่า 14 – 17 บริกซ์ ทำให้เกษตรกรรุ่นใหม่คนนี้กลายเป็น “เกษตรกรเงินล้าน” ได้ไม่ยาก
“ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นเพียงเกษตรกร แต่มองว่าเป็นการทำธุรกิจเกษตร กระบวนการในการดำเนินงานทุกอย่างคือต้นทุนในการทำธุรกิจ ดังนั้นการบริหารจัดการตั้งแต่การปลูกจนถึงปลายน้ำ จึงเป็นสิ่งสำคัญ”
คุณณัฐ ยังได้เตรียมพัฒนาสวนโคโค่เม่ล่อนให้เป็นฟาร์มท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง พร้อมกับเปิดให้คำแนะนำกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ที่สนใจ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนไปพร้อมๆ กัน
เพราะเกษตรกรรุ่นใหม่ต้องก้าวไปพร้อมเทคโนโลยี
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามกิจกรรมต่างๆ ของ Young Smart Farmer เพิ่มเติมได้ที่ https://www.moac.go.th <https://www.moac.go.th/>*