เจาะลึก “Gen Z” กำลังซื้อสำคัญ เน้น “ประสบการณ์-ความจริงใจ-ความรับผิดชอบ” ใช้แนวทาง “SATI Marketing” มัดใจคนรุ่นใหม่!
Gen Z หรือผู้ที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2540-2555 ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงวัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงานตอนต้น ซึ่งถือว่าเป็นเจเนอเรชันที่โตมากับเทคโนโลยีแบบเต็มตัว เจนซีไม่ใช่แค่ “เด็กยุคใหม่” แต่เป็นกลุ่มที่เปลี่ยนเกมการตลาด ถ้าแบรนด์จะมัดใจกลุ่มนี้ได้ ต้องจริงใจ ทันสมัย คิดไว ทำไว และต้องเข้าใจหัวใจของความหลากหลายและความเท่าเทียมด้วย
ในงานประกาศรางวัล GEN Z TOP BRAND 2025 : สุดยอดแบรนด์ครองใจ GEN Z ได้มีเวทีของการถอดรหัสพฤติกรรมและความคิด GEN Z โดย ดร.ดั่งใจถวิล อนันตชัย ผู้ที่ได้มาให้ข้อมูลในครั้งนี้ ได้สรุปและถอดรหัสมัดใจ GEN Z ดังนี้
เมื่อโลกหมุนเร็วขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ถูกเรียกว่า “Gen Z” กำลังก้าวขึ้นมาเป็นกำลังซื้อสำคัญ และการทำความเข้าใจพวกเขาอย่างลึกซึ้งจึงกลายเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของธุรกิจในยุคนี้
คลื่นแห่งเทรนด์ ทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าถึง Gen Z
TRENDS are like waves (เทรนด์ก็เหมือนคลื่น) โดยแบ่งประเภทของเทรนด์ตามระยะเวลาและผลกระทบ
Mega trend (เมกะเทรนด์) เป็นเทรนด์ขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบในระดับโลกและในระยะยาว (20+ ปี) ส่งผลต่อสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
Macro trend (แม็คโครเทรนด์) เป็นเทรนด์ระยะยาว (5-10 ปี) ที่ครอบคลุมหลายภาคส่วนและกำหนดทิศทางโดยรวมของเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และวัฒนธรรม
Micro trend (ไมโครเทรนด์) เป็นเทรนด์ระยะสั้น (2-5 ปี) ที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มหรืออุตสาหกรรมเฉพาะ
Fad (แฟชั่นชั่วคราว) เป็นเทรนด์ที่มาไวไปไว ได้รับความนิยมในระยะเวลาสั้นๆ แต่จะจางหายไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ได้กระทบการเปลี่ยนแปลงชีวิต
เทรนด์ต่างๆ มีลักษณะคล้ายคลื่นในทะเล มีขนาด ระยะเวลา และผลกระทบที่แตกต่างกันไป ที่พูดถึงเรื่องของเทรนด์ต่างๆ เพราะโดยท้ายที่สุดสิ่งนี้กระเทือนในการทำงานของพวกเรา จึงควรที่จะทำความเข้าใจ “คลื่นแห่งเทรนด์” ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เป็นสิ่งจำเป็นในการวิเคราะห์พฤติกรรมของ Gen Z ธุรกิจที่เท่าทันและปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว จะสามารถเชื่อมโยงกับความสนใจของ Gen Z ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หัวใจสำคัญของการเข้าถึง Gen Z คือการตระหนักถึงค่านิยมที่พวกเขาให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวหรือดิจิทัล แต่ยังรวมถึง DEI (Diversity, Equality, Inclusiveness) ความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการยอมรับความแตกต่าง แบรนด์ที่แสดงออกถึงจุดยืนที่ชัดเจนในประเด็นเหล่านี้ และมีความจริงใจ โปร่งใส จะได้รับความไว้วางใจจาก Gen Z
“S Economy” เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนโดย Gen Z
Gen Z กำลังเป็นตัวเร่งให้เกิดเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจ โดยระบุถึงองค์ประกอบต่างๆ ของ “S Economy” ที่ Gen Z มีบทบาทในการขับเคลื่อน ดังนี้
Solo Economy เป็นเศรษฐกิจของคนโดดเดี่ยวที่เน้นความเป็นปัจเจกและการสร้างรายได้ด้วยตนเอง ซึ่งธุรกิจที่มีโอกาสในตลาดเฉพาะกลุ่ม คือ Pet Humanization หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจคือการเติบโตของตลาดสัตว์เลี้ยงภายใต้แนวคิด Solo Economy และ Pet Humanization เมื่อคนรุ่นใหม่มองสัตว์เลี้ยงเป็นสมาชิกในครอบครัวและพร้อมที่จะใช้จ่ายเพื่อพวกมันมากขึ้น เป็นธุรกิจที่สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่มนี้ได้อย่างตรงจุด จะสามารถสร้างฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งได้
Skill Gap Economy เศรษฐกิจที่เกิดจากช่องว่างของทักษะในตลาดแรงงาน ต้องมีความเก่ง มีอะไรใหม่ๆ แล้วทำเลย ไม่ต้องรอให้ใครสอน สามารถหาความรู้ด้วยตัวเองได้
Skepticism Economy เป็นกลุ่มคนที่สงสัยตลอดเวลา มีคำถามอยู่ในหัวตลอดเวลา เป็นเศรษฐกิจแห่งความสงสัยหรือไม่ไว้วางใจของผู้บริโภค
Sustainability Economy เศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน
SRM Economy ยุคสมัยของการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าแบบเดิม (CRM) กำลังถูกท้าทายด้วยแนวคิด “SRM Economy” หรือเศรษฐกิจแห่งการจัดการความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งเน้นย้ำว่า Gen Z ให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ขับเคลื่อนด้วยความไว้วางใจและความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน แบรนด์ที่ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการขาย แต่สร้างระบบนิเวศที่แบรนด์และผู้บริโภคสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความหมาย จะเป็นผู้ชนะในสมรภูมินี้
Gen Z เป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่เน้นความเป็นปัจเจก ทักษะ ความสงสัย และให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก แนวคิด “THE IMPACT RECEIPT” ที่แสดงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมของการซื้อสินค้า เป็นตัวอย่างของการสร้างความตระหนักรู้และแสดงความจริงใจของแบรนด์ในเรื่องความยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ Gen Z ให้คุณค่า
เครื่องมือวิเคราะห์เสียงของผู้บริโภค 6 คุณค่าที่ Gen Z ให้ความสำคัญ
เครื่องมือวิเคราะห์เสียงของผู้บริโภคอย่าง “BrandSense” ช่วยให้ธุรกิจเข้าใจ Gen Z ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผ่านการรับฟังความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดียและการทำแบบสำรวจ โดยมีกรอบแนวคิดในการประเมินแบรนด์ทั้งในเชิงหน้าที่ (Share of Mind) และเชิงอารมณ์ (Share of Heart)
เพื่อให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในใจของ Gen Z ได้อย่างแท้จริง การทำความเข้าใจ “Brand Love Code” หรือ 6 คุณค่าที่พวกเขาให้ความสำคัญที่สุดเป็นสิ่งจำเป็น ได้แก่ ความสามารถในการจ่าย การเข้าถึง ประสบการณ์ที่คล่องตัว ความรู้สึกผูกพัน ความจริงใจ และความรับผิดชอบ
การวิเคราะห์กลุ่มผู้บริโภคในปัจจุบันอาจต้องมองข้ามการแบ่งกลุ่มแบบเดิมๆ และทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริง ดังตัวอย่างในธุรกิจร้านอาหารที่แบ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการสุขภาพและบรรยากาศดี กับกลุ่มที่ต้องการความรวดเร็วและราคาไม่แพง
ยกตัวอย่างกรณีศึกษา “ไปรษณีย์ไทย” สู่ความเป็นพี่อุ่นใจ
แบรนด์เก่าแก่อย่างไปรษณีย์ไทย ก็สามารถสร้างความผูกพันกับผู้บริโภคได้ โดยเน้นย้ำภาพลักษณ์ความเป็น “พี่อุ่นใจ” และสร้างความเชื่อมั่นในด้านความครอบคลุมและความใส่ใจในการบริการ ที่พนักงานส่งจดหมายใส่ใจอย่างมาก ถึงแม้จะใส่ที่อยู่ผิดเล็กน้อยก็ส่งถูก และรู้แม้กระทั่งว่าบ้านหลังไหนเป็นญาติก็จะฝากไว้ให้ในเวลาไม่สะดวกรับ
กลยุทธ์ SATI Marketing แนวทางใหม่เพื่อมัดใจ Gen Z
การทำความเข้าใจเรื่องราวและค่านิยมของ Gen Z จะนำไปสู่การสร้างกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ โดยแนวคิด “SATI Marketing” เสนอแนวทางที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาแบรนด์ไว้ดังนี้
Segment of one การจัดกลุ่มตามตลาดอย่างมีสติ มองเห็น “คน” ไม่ใช่แค่เห็น “ผู้บริโภค”
Authentic proposition การสร้างคุณค่าให้ตรงใจ แต่ไม่ใช่ตามใจจนหลุดจากจุดยืนของแบรนด์
Trend sensing การรอบรู้ อะไรขาด อะไรเกิน อย่าทำเพราะว่าทำตามๆ กัน
IMPACT การตลาดที่ได้ใจ คือการเข้าไปอยู่ในใจของผู้คน
อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจ Gen Z ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นสิ่งที่ธุรกิจในยุคปัจจุบันไม่สามารถมองข้ามได้ การปรับตัวตามค่านิยมและความต้องการของพวกเขา การสร้างความสัมพันธ์ที่แท้จริง และการนำเสนอคุณค่าที่สอดคล้อง จะเป็นกุญแจสำคัญในการคว้าโอกาสและเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดที่มี Gen Z เป็นผู้เล่นหลัก