เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
PR News

RSV ศัตรูตัวจิ๋วของเด็กเล็ก อันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ

RSV ศัตรูตัวจิ๋วของเด็กเล็ก อันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ

ในช่วงปลายฝนต้นหนาวของทุกปี เชื้อไวรัส RSV จะกลับมาระบาดในกลุ่มเด็กเล็ก โดยมีอาการคล้ายไข้หวัด แต่ในบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบ ส่งผลต่อสุขภาพและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โรคนี้ไม่มีวิธีรักษาโดยตรง ต้องรักษาตามอาการเท่านั้น

แพทย์หญิงรติ ดิวิทยา กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากมักเกิดในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี เชื้อไวรัสนี้มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกายได้นานหลายชั่วโมง และอยู่ที่มือของเราได้นานประมาณ 30 นาที

แพทย์หญิงรติ ดิวิทยา กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเวชธานี
แพทย์หญิงรติ ดิวิทยา กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเวชธานี

อาการของเชื้อไวรัส RSV มีลักษณะคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล แต่เมื่ออาการลุกลาม อาจทำให้เกิดหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ หรือปอดอักเสบ โดยจะมีอาการไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด หรือเสียงครืดคราดในลำคอ และมีเสมหะมากกว่าไข้หวัดธรรมดา เด็กเล็กไม่สามารถเอาน้ำมูกหรือเสมหะออกเองได้ ทำให้หายใจลำบาก

การติดเชื้อไวรัส RSV เกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อผ่านทางการไอ จาม ไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก หรือจากการจับมือ ในประเทศไทยมักพบเชื้อไวรัส RSV บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว

การวินิจฉัยเชื้อไวรัส RSV แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจตรวจหาเชื้อโดยใช้เสมหะจากโพรงจมูก ในบางรายที่มีอาการรุนแรงแพทย์อาจตรวจเอกซเรย์ปอดเพื่อประกอบการวางแผนรักษา

ปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อ RSV ได้ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กที่มีภาวะปอดเรื้อรัง โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือเด็กที่คลอดก่อนกำหนด วัคซีนนี้ใช้ในการลดความรุนแรงของโรค โดยการฉีดวัคซีนแบบโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Palivizumab) ซึ่งให้ผลป้องกันได้ดี แต่ต้องฉีดซ้ำทุกเดือนในช่วงที่มีการระบาด การรักษาเชื้อไวรัส RSV เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ละลายเสมหะ สำหรับเด็กที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องพ่นยาขยายหลอดลม หรือน้ำเกลือผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอดและดูดเสมหะออก การให้ยาปฏิชีวนะไม่มีความจำเป็นหากไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน

เชื้อไวรัส RSV สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ การป้องกันคือการล้างมือให้สะอาด ใส่หน้ากากอนามัย ทำความสะอาดของเล่นเด็กบ่อยๆ หากมีคนในบ้านป่วยควรแยกและงดใช้ของส่วนตัวร่วมกัน หลีกเลี่ยงสัมผัสเด็กที่สงสัยว่าเป็นหวัด และไม่พาเด็กไปในที่ชุมชน สำหรับเด็กที่เข้าเนิร์สเซอรีหรือโรงเรียน ควรหยุดเรียนทันทีเมื่อป่วยจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ

 

แพทย์หญิงรติ ดิวิทยา

กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเวชธานี

Related Posts