เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
SMEs เกษตร

ลาออกก่อนเกษียณ ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ ปลูกปาล์มประดับขายได้ครั้งละแสน

สวนแสนปาล์มที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มีความสวยงามและทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะที่ปรึกษาใหญ่คือ อาจารย์ปิฏฐะ บุนนาค ซึ่งรู้จักกันในนาม “บิดาปาล์มประดับของเมืองไทย” โดยมีคณะทำงานเจ้าภาพคือ รองศาสตราจารย์ชูเกียรติ รักซ้อน และคุณมานิจ หรือรณภูมิ สุขีวงศ์ รวมทั้งท่านอื่นอีกจำนวนมาก

พื้นเพเดิมเป็นคนกำแพงแสน

คุณมานิจ สุขีวงศ์ เกิดบริเวณที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนในปัจจุบัน คุณพ่อเป็นผู้ใหญ่บ้าน เมื่อทางราชการเวนคืนที่ดินสร้างมหาวิทยาลัย ชาวบ้านต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นจำนวนกว่า 2 หมู่บ้าน ผู้บริหารมหาวิทยาลัยช่วงนั้นคือ ดร.วัฒนา เสถียรสวัสดิ์ ได้ให้คุณพ่อของคุณมานิจช่วยพูดคุยและดูแลชาวบ้านที่ต้องย้ายถิ่นฐาน ตัวคุณมานิจเองหลังจากเรียนจบชั้นมัธยมต้นแล้ว เขาได้ศึกษาต่อทางด้านการเกษตรที่เกษตรจันทบุรี

หลังเรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพเมื่อปี 2521 คุณมานิจมาทำงานในสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จากนั้นได้ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม หน้าที่รับผิดชอบคือ ส่งเสริมความรู้ทางการเกษตร รวมทั้งฝึกวิชาชีพ

ลุยงานอย่างต่อเนื่อง

งานส่งเสริมและฝึกอบรมทางด้านการเกษตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถือว่าสร้างประโยชน์ให้คนในวงกว้าง คุณมานิจทำงานอย่างแข็งขัน ขณะเดียวกันก็ร่วมกับคณาจารย์ตั้งสมาคมเกี่ยวกับการเกษตรขึ้น เช่น สมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย ชมรมกวาง แต่ที่เจ้าตัวพบหนทางของตนเองคือการก่อตั้งสมาคมปาล์มประดับแห่งประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นใกล้เคียงสวนแสนปาล์ม

การมีส่วนร่วมในงานดังกล่าว นอกจากในมหาวิทยาลัยแล้ว นอกมหาวิทยาลัยก็ยังมีงานจัดภูมิทัศน์สถานที่สำคัญของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยจัดภูมิทัศน์ที่โรงงานกษาปณ์ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) และที่อื่นๆ โดยคุณมานิจเป็นแกนในการทำงาน และยังมีส่วนจัดการสวนจนถึงปัจจุบัน

ระหว่างการทำงาน คุณมานิจใช้ความรู้และประสบการณ์เต็มที่โดยเฉพาะการจัดสวน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากต้นไม้

ตั้งแต่เรียนอยู่จันทบุรี รู้จักปาล์มประดับอย่างหมากหัวลิง หมากงาช้าง ได้รับความรู้จากอาจารย์บัญญัติ บุญปาล อาจารย์ประเสริฐ ยมมรคา อาจารย์ประสาน ทองอำไพ เมื่อมีการฝึกอบรมการปลูกปาล์มประดับเพื่อการค้า มีอาจารย์ปิฏฐะ บุนนาค เป็นวิทยากร ผมเป็นผู้ทำงาน ร่วมจัดฝึกอบรมด้วย คุณมานิจเล่า

b-728x546

ต้องสร้างอู่สร้างบ้าน

เนื่องจากที่ดินของบรรพบุรุษถูกเวนคืน คุณมานิจจึงใช้ที่ดินรอบๆ บ้านพักในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งก็หนีไม่พ้นปาล์ม

เมื่ออายุได้ 40 ปี เขาปรึกษาภรรยาคือคุณลิ้นจี่ซึ่งเป็นข้าราชการในมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกันในเรื่องการสร้างรวงรัง

ครอบครัวเป็นหลัก ภรรยาเข้าใจ อย่างไรต้องมีอู่ มีบ้าน มีที่ดินก่อน จะอาศัยบ้านหลวงไปตลอดคงไม่ไหว จึงคิดหาซื้อที่ดิน จริงๆ แล้วค่าใช้จ่ายเรามีอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกจ่ายในชีวิตประจำวันเช่น ค่าอาหาร ค่าสังคม และส่งลูกเรียน เมื่อต้องการซื้อที่ดินก็มีรายจ่ายส่วนที่ 3 เข้ามาคือต้องจ่ายค่าที่ดิน ผมเริ่มจากศูนย์ ระบบราชการมีสหกรณ์ออมทรัพย์ให้กู้ยืม คุณมานิจบอก

คุณมานิจซื้อที่ดินห่างจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนไม่เกิน 10 กิโลเมตร ตรงนั้นคือบ้านเลขที่ 100 หมู่ 5 ตำบลห้วยหมอนทอง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เขาซื้อที่ดินเมื่อปี 2535 จำนวน 6 ไร่ ราคาไร่ละ 8 หมื่นบาท ทางเข้าเป็นถนนลูกรังไม่มีไฟฟ้าใช้ เมื่อมีที่ดิน เขาตะลุยปลูกปาล์มประดับ เจ้าของตั้งชื่อบ้านว่า “สุขีวังปาล์ม”

ปี 2550 เขาซื้อที่ดินเพิ่มอีก 14 ไร่ ราคาไร่ละ 1.2 แสนบาท ตอนนี้มีถนนลาดยางและมีไฟฟ้าใช้ เรามาทางด้านการเกษตร ไปทำอสังหาริมทรัพย์คงไม่ไหว ผมปลูกปาล์มประดับเพื่อการค้า ทำพืชไร่ต้องทำตลอดเวลา ทำปาล์มยิ่งโตมูลค่ายิ่งสูงขึ้น ช่วงนั้นปาล์มราคาดี 3 ต้นแสนก็ได้ 3 ต้นล้านก็ได้ ที่นิยมตอนนั้นอินทผลัมใบเงิน หงส์เหิร อ้ายหมี…มีอยู่ช่วงหนึ่งผมขายปาล์ม 100 ต้นได้เงิน 5 แสนบาท นำมาสร้างบ้าน

คุณมานิจเล่าถึงการซื้อขายปาล์มประดับว่า ปาล์มยังไปได้ไหม…เป็นวัฏจักรหมุนรอบหนึ่งกลับมาอีกรอบหนึ่ง แต่รอบใหม่ดีกว่ารอบเก่า รอบแรกอาจจะใช้สะเปะสะปะ 150 ชนิด ราคาแพง รอบที่ 2 อาจจะเหลือ 80 ชนิด รอบที่ 3 อาจจะเหลือไม่เท่าไหร่ รอบที่ 4 อาจจะใช้เป็นกลุ่มหลายชนิด ราคาถูกตั้งแต่ปี 2534 เริ่มมีการปลูกและใช้ปาล์มจริงจัง ประเทศเจริญแล้วใช้ปาล์มประดับ แต่ต้องใช้ให้เป็น ปี 2558 ใช้ต้นใหญ่ ไม้ประดับถนนใช้มาก ตาลโตนด อินทผลัมใบเงิน ใช้เป็นวินด์เบรค เช่น ทำเนียบรัฐบาล ใช้ต้นใหญ่ เปลี่ยนรูปโฉมการใช้ปาล์มมีหลายชนาด ตั้งแต่ต้นเท่าดินสอ จนถึงขนาดถัง 200 ลิตร ต้องเรียนรู้การใช้ ใบก็แตกต่างกัน

d-728x546

ลาออกก่อนเกษียณ ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ

เมื่ออายุได้ 56 ปี ลูกชาย 2 คน เรียนจบและทำงานหมดแล้ว คุณมานิจลาออกจากงานขณะที่ภรรยายังทำงานอยู่ในพื้นที่ 20 ไร่ เขายังมีปาล์มประดับ แต่ที่ทำเพิ่มเติมคือ นาข้าว ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ดีปลี

“ปาล์มใครจะซื้อมาชี้เอา ผมทำนาปลูกข้าวไรซ์เบอรรี่จำนวน 4 ไร่ ปีหนึ่งทำได้ 2 ครั้ง มีโรงสีอยู่ไม่ไกล ทำนาไม่ยาก ใช้โทรศัพท์ ให้รถมาไถ มาเกี่ยว เราเป็นผู้จัดการ แต่ต้องดูเรื่องปุ๋ยและศัตรูข้าว ข่าก็ปลูก วิธีปลูกข่า หากต้องการปลูกแล้วขุดยกกอใช้เวลา 4 เดือน แต่หากปลูกเพื่อสางทยอยขายใช้เวลา 6 เดือนเริ่มสางได้ ก่อนปลูกต้องไปแจ้งโควต้าที่ตลาดปฐมมงคล นครปฐม มะกรูด ปลูกเพื่อตัดใบ ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นาน ดีปลีมี 200 ค้าง” คุณมานิจเล่าถึงกิจกรรม

พอใจในสิ่งที่ทำ

คุณมานิจบอกว่า เรื่องรายได้จากกิจกรรมไม่เน้นมาก ปาล์มประดับอาจจะขายได้ครั้งละแสน นาข้าวขายผลผลิตไร่ละหมื่นบาท โดยมีต้นทุน 6 พันบาท ข่าขายได้กิโลกรัมละ 25 บาท

“ผมพอใจได้ที่ดิน สุขกายสุขใจ มีเพื่อนมาคุย สุขภาพดี ได้บรรยากาศที่เราชอบ ได้จัดสวน อยากปลูกตรงนั้นตรงนี้ ได้พูดคุย รายได้พอๆ กับรายจ่าย บางปีขาดทุนนิดหน่อยก็ไม่เป็นไร จะทำผสมผสาน หากช่วงมีงานมากก็จ้างคนมาช่วยงานมากหน่อย เราคอยดูแล ถ่ายรูปส่งไปให้เพื่อนดู ถ่ายภาพนะชอบสร้างภาพ ตอนนี้เป็นปู่เป็นย่าแล้ว ไม่ใช่ตายายเพราะมีแต่ลูกชาย มีเวลาก็ตระเวนเยี่ยมญาติ เลี้ยงรุ่นปีละ 1-2 ครั้ง ไปงานศพของพ่อแม่เพื่อนๆ”

คุณมานิจเล่าอย่างมีความสุขและบอกต่ออีกว่า “หากมีคนอยากทำเกษตร ต้องมีที่ดิน น้ำ ไฟ…ไฟในที่นี้หมายถึงอุณหภูมิ อากาศเป็นอย่างไร ต้องดูบริเวณนั้นว่าเขาปลูกอะไรกัน แถวนี้ปลูกข่า นาข้าว ดีปลี หากอยู่เชียงใหม่ต้องปลูกลำไย นอกจากเก็บเงินซื้อที่แล้ว แต่ละคนก็มีเทคนิคในการทำเกษตรแตกต่างกัน ผู้ที่เกษียณ หากไม่มีที่ดินไม่มีต้นทุนมาก่อน ควรพิจารณาให้ดี”

นับเป็นคนวัยเกษียณที่ได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบจริงๆ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคุณมานิจได้ที่โทรศัพท์ 081-9818956

 

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์

Related Posts

ไอเดีย สร้างอาชีพเสริมแบบไม่ต้องรอพร้อม ‘เช่าที่ปลูกดอกไม้กินได้’
อดีตพนักงานห้าง ปิ๊งไอเดีย ขายผักน้ำพริก เริ่มต้นแพ็กละ 10 บาท โกยรายได้ครึ่งแสนต่อเดือน
ออกจากงานประจำ มาขาย "เตยหอม" เจาะกลุ่มโรงงานขนม ร้านดอกไม้ พ่อค้าแม่ค้า วันละ 900-1,000 กิโลกรัม
สบายใจ ไม่รวย แต่พอกิน! คนรุ่นใหม่ทำเกษตร ปลูกผักสลัดบนดอย มีรายได้หลักหมื่น