ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดเชียงราย (พืชสวน) นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการปลูกผักไร้ดิน โดยไม่ต้องใช้สารละลายธาตุอาหารพร้อมกับเลี้ยงปลา ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
ว่าที่ร้อยตรี ดร. สมสวย ปัญญาสิทธิ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดเชียงราย (พืชสวน) ได้ดำเนินการศึกษาทดลองการปลูกผักไร้ดินโดยไม่ต้องใช้สารละลายธาตุอาหารร่วมกับการเลี้ยงปลา เพื่อลดต้นทุนและได้ผลสำเร็จ เกษตรกรสามารถทำได้ไม่ยุ่งยาก
โดย นายสมถวิล ขัดสาร ผู้อำนวยการศูนย์ให้รายละเอียดว่า การปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์นั้นหลายคนคิดว่าได้ผักออร์แกนิกส์/ปลอดสาร ซึ่งในความจริงแล้ว ไม่ได้ปลอดสาร เนื่องจากสารละลายธาตุอาหารที่ใช้ในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์นั้นเป็นปุ๋ยเคมี ที่ถูกนำมาผสมดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมในการปลูกโดยไม่ต้องใช้ดิน และไม่ทำอันตรายกับระบบรากของพืช ปัจจุบันได้มีระบบใหม่ในการผลิตอาหารปลูกผักอย่างยั่งยืน เรียกว่า ระบบอควาโพนิกส์ (Aquaponics) แนวคิดของระบบนี้ก็คล้ายกับการปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์โดยทั่วไป เพียงแต่สารอาหารที่ส่งให้พืชนั้น นำมาจากของเสียจากระบบการเลี้ยงปลา ซึ่งสามารถอธิบายโดย วัฏจักรไนโตรเจน (Nitrogen Cycle) ในระบบได้ ดังนี้
- ปลาขับของเสีย เช่น ขี้ปลา เมือกปลา หรืออาหารที่เหลือในตู้ปลา เป็นต้น ของเสียเหล่านี้จะถูกย่อยสลายจนเปลี่ยนรูปเป็นแอมโมเนียซึ่งมีพิษต่อปลา
- จากนั้นแบคทีเรีย (Nitrosomonas Bacteria) ซึ่งเป็นแบคทีเรียในกลุ่ม Aerobic Bacteria ที่มีอยู่ทั่วไปในระบบ ก็จะย่อยสลายแอมโมเนียให้เป็นไนไตรต์ ซึ่งตัวไนไตรต์เองนั้นมีพิษกับปลา ต้องถูกขจัดออกไป
- หลังจากนั้นแบคทีเรีย (Nitrobacter Bacteria) ซึ่งเป็นแบคทีเรียในกลุ่ม Aerobic Bacteria เช่นกัน จะย่อยสลายไนไตรต์ให้เป็นไนเตรต ซึ่งไม่มีพิษทางตรงกับปลา และพืชเองก็สามารถนำไปใช้เป็นสารอาหารได้เลยเช่นกัน แต่ผลเสียทางอ้อมในกรณีที่ไนเตรตในระบบมากเกินไป จะทำให้ค่า ph ของน้ำเปลี่ยนเป็นกรด ทำให้แบคทีเรีย Nitrosomonas Bacteria และ Nitrobacter Bacteria มีจำนวนที่ลดลง เป็นผลทำให้การย่อยสลายของเสียต่างๆ หยุดลงได้ แต่หลังจากที่ได้ไนเตรตจากระบบเลี้ยงปลาแล้ว ไนเตรตจะถูกส่งผ่านไปยังระบบการปลูกผัก และผักก็จะดูดซึมไนเตรตออกไปก็เหมือนกับได้ถูกกรอง บำบัดให้น้ำกลับมาสะอาดเหมาะกับการเลี้ยงปลาอีกครั้ง ถือเป็นการเกื้อกูลกันได้เป็นอย่างดี ได้ทั้งปลูกผักและเลี้ยงปลาไปในเวลาเดียวกัน
ซึ่งทางศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดเชียงราย (พืชสวน) ได้สร้างชุดสาธิตการเลี้ยงปลาและปลูกผัก Aquaponics แบบเศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น สามารถลดต้นทุนและเกษตรกรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
ขั้นตอนการปลูกผักไร้ดินและเลี้ยงปลาแบบเศรษฐกิจพอเพียง (Aquaponics)
- ทำชั้นไม้ไผ่
หาไม้ไผ่ วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นทำโครงแบบราง/กล่อง/ชั้นลิ้นชัก ขนาด 60×120 เซนติเมตร (วัดขอบด้านในให้ได้ขนาด 1 แผ่นโฟม ทำเป็น 3 ชั้น) โดย ชั้นที่ 1 เลี้ยงปลา ชั้นที่ 2 ปลูกผัก ชั้นที่ 3กรองน้ำ
ชั้นที่ 1 สำหรับเลี้ยงปลา เมื่อประกอบราง/กล่อง/ชั้นลิ้นชักเรียบร้อย ใช้แผ่นฟิวเจอร์บอร์ดวางด้านข้างทั้ง 4 ด้าน ส่วนพื้นใช้แผ่นโฟม ขนาดความหนา 0.50 นิ้ว รองพื้น เพื่อกันกระแทก กันพลาสติกรั่ว แล้วปูพลาสติกลง เตรียมน้ำพร้อมที่ปล่อยปลา
ชั้นที่ 2 สำหรับปลูกผัก ใช้แผ่นพลาสติกปูพื้นเหมือนชั้นแรก แล้วเตรียมแผ่นโฟมเจาะรูพร้อมปลูกผัก
ชั้นที่ 3 สำหรับกรองน้ำ โดยใช้ไม้ไผ่ทำโครง ขนาด 60×40 เซนติเมตร
วิธีทำที่กรองน้ำ
เตรียมถังพลาสติกสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 35 เซนติเมตร ยาว 45 เซนติเมตร สูง 40 เซนติเมตร 1 ใบ
กั้นกึ่งกลางของถัง โดยใช้เหล็กหรือไม้เป็นโครงสี่เหลี่ยมแล้วเย็บตาข่ายยึด เพื่อกั้นช่องกรองน้ำและช่องน้ำที่ผ่านการกรอง
ใช้สว่านเจาะรูระบายน้ำในช่องน้ำที่ผ่านการกรอง 2 รู รูที่ 1 อยู่สูงจากพื้น 25 เซนติเมตร (ต่อเข้าแปลงผัก) รูที่ 2 อยู่สูงจากพื้น 30 เซนติเมตร (เอาไว้ระบายน้ำทิ้ง เมื่อน้ำระบายไม่ทัน) และในช่องกรองน้ำอีก 1 รู อยู่ติดกับพื้นกล่อง (เอาไว้ระบายน้ำเสียในบ่อกรองน้ำทิ้ง)
ประกอบเกลียวนอกและเกลียวในให้ครบทั้ง 3 รู โดยตัดยางในรถจักรยานยนต์รองเอาไว้ เพื่อไม่ให้น้ำรั่วไหล
ใส่วาล์วสวมปิดรูระบายน้ำทิ้งช่องกรองน้ำ
ใส่ไบโอบอล หินภูเขาไฟและแผ่นใยแก้วให้เต็มช่องกรองน้ำ
ติดตั้งถังกรองน้ำไว้บนชั้นที่ 3 ที่เตรียมไว้
ต่อระบบน้ำล้นในบ่อกรองน้ำเพื่อระบายน้ำทิ้ง เมื่อน้ำระบายไม่ทันให้ลงบ่อปลา
ต่อระบบปั๊มน้ำ โดยสูบน้ำในบ่อปลาแล้ววางท่อให้น้ำไหลไปลงช่องกรองน้ำ
ระหว่างการเลี้ยงปลาเปลี่ยนถ่ายน้ำในถังกรองน้ำสัปดาห์ละครั้งและเติมน้ำเพิ่มในส่วนที่เปลี่ยน
- แปลงผัก (ใช้สำหรับปลูกผัก 60 หลุม)
2.1 เตรียมเพาะเมล็ดผักในแผ่นฟองน้ำ (ชนิดผักแล้วแต่ชอบ)
2.2 กล้าผัก อายุได้ 7-10 วัน นำลงปลูกในแผ่นโฟมปลูกที่เตรียมไว้ (ชั้นที่ 2)
2.3 การดูแลผัก ถ้าผัก (บางชนิด) ต้องการธาตุอาหารสูง ควรให้ปุ๋ยทางใบเสริม โดยเน้นปุ๋ยชีวภาพสเปรย์ช่วยได้
2.4 สามารถปลูกผักได้ 3-4 ครั้ง ต่อการเลี้ยงปลา 1 ครั้ง
- เลี้ยงปลา
3.1 เตรียมน้ำ โดยการเติมน้ำให้สูง ประมาณ 80 เซนติเมตร ก่อนปล่อยปลา 3-5 วัน
3.2 จัดหาพันธุ์ปลา เช่น ปลาดุก ปลาดุกลูกผสม ปลาหมอ
3.3 ให้อาหารปลา โดยใช้อาหารเม็ดลอยน้ำ ตามอายุของปลา 2 มื้อ/วัน ใช้เวลา 3-4 เดือน ก็สามารถเก็บผลผลิตบริโภคหรือจำหน่ายได้
ประมาณการค่าวัสดุอุปกรณ์ชุดราง ขนาด 60×120 เซนติเมตร
- ไม้ไผ่ตง 2 ลำ ลำละ 40 บาท เป็นเงิน 80 บาท
- ไม้ไผ่รวก 4 ลำ ลำละ 20 บาท เป็นเงิน 80 บาท
- แผ่นฟิวเจอร์บอร์ด 5 แผ่น แผ่นละ 45 บาท เป็นเงิน 255 บาท
- พลาสติกดำ อย่างหนา 3.50 เมตร เมตรละ 60 บาท เป็นเงิน 210 บาท (หน้ากว้าง 3.5 เมตร)
- แผ่นโฟมรองพื้น 0.50 นิ้ว 1 แผ่น 35 บาท
- แผ่นโฟมปลูกผัก 1 แผ่น 45 บาท (หนา 1 นิ้ว)
- ฟองน้ำเพาะเมล็ด 1 แผ่น 13 บาท
- เมล็ดพันธุ์ผัก 1 ซอง 20 บาท
- ถังกรองน้ำพลาสติก 1 ถัง 120 บาท (ขนาด 30×45 เซนติเมตร)
- ไบโอบอล 50 บาท
- หินภูเขาไฟ 1 กิโลกรัม 30 บาท
- ใยสังเคราะห์กรองน้ำ 1 แผ่น 60 บาท
- พันธุ์ปลาดุก 20 ตัว ตัวละ 1 บาท เป็นเงิน 20 บาท (ขนาด 3-5 นิ้ว)
- อาหารปลา เฉลี่ยเดือนละ 200 บาท
- ท่อ PVC ขนาด 4 หุน 1 เส้น 50 บาท
- ข้องอ 4 หุน 5 ตัว ตัวละ 5 บาท เป็นเงิน 25 บาท
- ข้องอ 6 หุน 4 ตัว ตัวละ 6 บาท เป็นเงิน 24 บาท
- สามทาง 4 หุน 1 ตัว ตัวละ 5 บาท เป็นเงิน 5 บาท
- เกลียวนอก 6 หุน 1 ตัว ตัวละ 8 บาท
- เกลียวใน 6 หุน 1 ตัว ตัวละ 8 บาท
- วาล์ว ปิด-เปิด 4 หุน 1 ตัว ตัวละ 25 บาท
- ปั๊มน้ำตู้ปลา ขนาด AP 2,500 1 ตัว 250 บาท
รวมทั้งสิ้น 1,649 บาท
เกษตรกรและผู้ที่สนใจ การปลูกผัก เลี้ยงปลา แบบ Aquaponics ไม่พึ่งพาสารเคมี ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดเชียงราย (พืชสวน) โทร. (053) 170-104
ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์