เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
SMEs เกษตร

จากชีวิตแม่บ้าน ก้าวสู่อาชีพเลี้ยงปลาแบบบ่อรวม สร้างเงินดี เผยเทคนิคทำตามได้

การที่เราจะทำอะไรสักอย่าง ตัวเราต้องพร้อม มีความใส่ใจ ปลาที่เราเลี้ยงจะว่าไปมันก็เหมือนคน ไม่ใช่ปล่อยลงบ่อเลี้ยงแล้วก็ไม่สนใจให้อาหารเลย คืออย่างที่ทำอยู่นี่ ถึงจะไม่ค่อยให้อาหารทุกมื้อ แต่เราก็ต้องหามาให้ แบบเอาเศษอาหารต่างๆ แบบต้นทุนต่ำ ซึ่งจากการที่ได้มาทำตรงนี้ มองจากบ่อรอบๆ พื้นที่เราที่เลี้ยงเหมือนกัน เราน่าจะได้กำไรดีกว่า อีกอย่างทำให้เราเหมือนได้ออกกำลังกาย เพราะได้เดินไปมาดูแลบ่อปลา เมื่อเราสุขภาพกายดี จิตใจเราก็จะเป็นสุข มีความสุขกับสิ่งที่เราทำ ก็เป็นการใช้เวลาช่วงอายุวัยเกษียณได้เป็นอย่างดี ไม่มีคำว่าเหงา” คุณสมใจ กล่าว

คุณสมใจ ไวทยกุล อยู่บ้านเลขที่ 4 หมู่ที่ 5 ตำบลบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี หญิงวัยเกษียณที่มากด้วยความสุข จากสิ่งที่เธอทำ คือการเลี้ยงปลา ซึ่งภายใน 1 บ่อ จะปล่อยปลามากกว่า 3 ชนิด ปลาสามารถเจริญเติบโตได้ดี การเลี้ยงของเธอทำให้อัตราการรอดของปลาค่อนข้างสูง เน้นให้อาหารที่หาได้จากชุมชนและที่สำคัญเมื่อปลาโตจำหน่ายได้ราคา    

 

จากชีวิตแม่บ้าน ก้าวสู่เกษตรกรเลี้ยงปลา

คุณสมใจ เล่าให้ฟังว่า ไม่คิดไม่ฝันว่าชีวิตจะได้มาเลี้ยงปลาแบบที่เป็นอยู่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ดำรงชีวิตเป็นแม่บ้าน แต่เนื่องจากพี่ชายของเธอมาขอยืมที่ดินเพื่อเลี้ยงปลา ต่อมาพี่ชายเสียชีวิต เธอจึงได้หันมาประกอบอาชีพนี้โดยตรง

“ช่วงแรกประมาณ ปี 54 หลังจากที่ต้องมาเลี้ยงต่อจากพี่ชาย ช่วงนั้นไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรมากนัก ปลาก็จะต้องหากินเอง เรียกง่ายๆ ว่า ยังไม่มีความพร้อมทำด้านนี้มากนัก พออายุปลาครบกำหนดจำหน่ายได้ ก็ให้เขามาจับไปทั้งบ่อ คราวนี้เราก็เลยเริ่มที่จะมาทำด้านนี้เต็มตัว โดยเริ่มตั้งแต่เรียนรู้ด้วยตัวเอง ตั้งแต่เริ่มปล่อยลูกปลาขนาดเล็กๆ ไปเลย” คุณสมใจ เล่าถึงความเป็นมา

เมื่อคิดที่จะทำสัมมาอาชีพนี้อย่างจริงจัง การศึกษาหาความรู้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ คุณสมใจ บอกว่า จึงเข้าสอบถามข้อมูลกับประมงในพื้นที่ และอาศัยอ่านหนังสือที่บอกถึงวิธีการเลี้ยงปลาต่างๆ ที่มีวางจำหน่ายทั่วไปตามร้านหนังสือ จึงทำให้เธอเริ่มมีโลกทรรศน์มากขึ้นและสามารถปรับเปลี่ยนการเลี้ยงปลา ให้เป็นแบบลดต้นทุนเสริมกำไรสร้างรายได้ให้มากขึ้นอีกด้วย

การเลี้ยงปลาของคุณสมใจจะเน้นเป็นการเลี้ยงปลาแบบบ่อรวม แต่ที่สำคัญปลาตะเพียนที่นำมาเลี้ยงรวมกับปลาอื่นๆ ได้ขึ้นทะเบียน จีเอพี (GAP)

Fish 9

“การที่ตัดสินใจเลี้ยงปลาแบบบ่อรวม เราได้รับคำแนะนำจากกรมประมงเวลาที่ไปสัมมนาต่างๆ ก็จะนำความรู้มาช่วยในการเลี้ยง เราก็จะได้ความรู้เรื่องการเช็ก พีเอช (pH) ของน้ำ ตลอดจนระบบน้ำต่างๆ เรื่องการปรับสภาพดิน เลยมองว่าการเลี้ยงปลาแบบเดี๋ยวนี้ไม่น่าจะได้ดีเท่าไหร่ เพราะพื้นที่แถวนี้เขาก็ทำกัน ก็เลยศึกษานิสัยปลา พอเลี้ยงไปเลี้ยงมา ของเราดีกว่า น้ำหนักปลาเพิ่มขึ้น อัตราการตายของปลาก็น้อยลง รายได้ก็จะเพิ่มมากขึ้น” คุณสมใจ กล่าว

 

เคล็ดไม่ลับของการเลี้ยงปลา แบบ คุณสมใจ มีขั้นตอนดังนี้

ในขั้นตอนแรกเป็นเรื่องของการเตรียมบ่อ คุณสมใจ บอกว่า ที่ดินทั้งหมดมีเนื้อที่ ประมาณ 30 ไร่ โดยแบ่งขุดเป็น 2 บ่อ ให้มีขนาด บ่อละ 15 ไร่ ความลึกของบ่อ มีตั้งแต่ 1.50-2 เมตร ให้มีระดับที่แตกต่างกันไป

“พอเราเตรียมบ่อเสร็จ ก็เตรียมโรยปูนขาวให้ทั่ว จากนั้นวิดน้ำใส่ให้เต็ม และที่สำคัญต้องเตรียมหาขี้ไก่มาลงในบ่อด้วย เพราะว่าเราต้องเตรียมน้ำให้พร้อม เพื่อให้มีอาหารตามธรรรมชาติให้กับลูกปลา ประมาณอาทิตย์หนึ่งก็จะเกิดพวกไรแดง เป็นอาหารได้ดีมากในช่วงนั้น” คุณสมใจ กล่าวถึงขั้นตอนการเตรียมบ่อ

เมื่อบ่อพร้อมสำหรับเลี้ยงปลาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คุณสมใจ บอกว่า จะเตรียมปล่อยปลาทุกชนิดลงไปพร้อมกันหมดไม่มีเว้นระยะ โดยแหล่งปลาที่ซื้อต้องมีความน่าเชื่อถือพอสมควร

“ปลาแต่ละชนิดที่ซื้อมาปล่อย อยู่แต่ละจังหวัดที่แตกต่างกัน อย่างปลาตะเพียนกับปลานิลจะสั่งมาจากจังหวัดฉะเชิงเทรา ถ้าเป็นปลาสวายต้องจากจังหวัดนครสวรรค์ เราก็ต้องดูให้ดี เพราะจะว่าไปลูกปลานี่ถือว่าสำคัญมาก ถ้าเป็นคนที่ผลิตแล้วเขามีความน่าเชื่อถือ ปลาที่เราเลี้ยงก็จะได้ผลดีตามไปด้วย” คณสมใจ กล่าว

บ่อ ขนาด 15 ไร่ เลี้ยงปลาแบบรวม คุณสมใจ บอกว่า จะปล่อยปลานิล จำนวน 5 หมื่นตัว ปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลานวลจันทร์ ปลาจีน และปลาสวาย อย่างละ 1 หมื่นตัว เลี้ยงรวมกันทั้งหมดภายในบ่อเดียว

ในระยะแรกลูกปลาทั้งหมดจะกินอาหารจากธรรมชาติที่เตรียมไว้ จากนั้นผ่านไปประมาณ 7 วัน จึงจะให้อาหารในรูปแบบอื่นบ้าง เช่น รำข้าว มะละกอสุก กล้วยสุก ซึ่งไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าต้องให้วันละกี่ครั้ง แต่จะดูจากอาหารที่หามาได้เสียมากกว่า

Fish 3

“เศษอาหารที่จะให้ปลาก็จะเป็นกากถั่วเหลือง พวกขนมปัง เศษขนมอะไรพวกนี้ ดูตามความเหมาะสม ถ้าวันไหนมีเราก็จะให้ วันไหนไม่มีมาปลาก็อดไป คือเรียกว่าหาอะไรในบ่อกินเอาเอง ซึ่งจากที่ศึกษามากากถั่วเหลืองนี่ จะให้เปอร์เซ็นต์โปรตีน ประมาณ 11-12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าจะน้อยกว่าอาหารทั่วไป แต่ดูแล้วมันคุ้มค่า เพราะว่าเราก็ติดต่อขอมาฟรี ต้นทุนเราก็จะถูกลง ไม่เน้นเลยอาหารเม็ด” คุณสมใจ กล่าวถึงการให้อาหาร

สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดในการเลี้ยงปลาของคุณสมใจคือ ตัวเงินตัวทอง และนก เพราะชอบมากินปลาในบ่อ ส่วนเรื่องการตายก็อาจมีเกิดขึ้นบ้างถือเป็นเรื่องปกติ เพราะบางครั้งที่วิดน้ำเพิ่มเข้ามาภายในบ่อ ปลาปรับตัวไม่ทันก็ตายได้เช่นกัน

คุณสมใจ บอกว่า ใช้เวลาเลี้ยงปลาทั้งหมดประมาณ 1 ปี จึงจะจับจำหน่าย แต่ช่วงที่ปลาอายุได้ 6 เดือน ก็จะมีการจับจำหน่ายบ้าง เพื่อให้จำนวนปลาภายในบ่อไม่หนาแน่นจนเกินไป

นอกจากปลาแล้ว คุณสมใจยังได้นำกุ้งก้ามกรามมาปล่อยภายในบ่ออีกด้วย ซึ่ง คุณมณเฑียร เกษตรสมบูรณ์ ประมงอำเภอหนองเสือ ผู้แทนจากสำนักงานประมงจังหวัดปทุมธานี ให้ข้อมูลว่า

“หลังจากที่เรามีโครงการปล่อยกุ้งลงคลองแล้ว ก็เลยมีแนวคิดกันว่า น่าจะให้ชาวบ้านได้มีทดลองเลี้ยงดู เพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตไปในตัว พอชาวบ้านที่มีบ่อเลี้ยงปลาได้ไปทดลองเลี้ยง หลังจากผ่านมา 6 เดือน กลับได้กุ้งไซซ์ใหญ่เหมือนที่เลี้ยงในแม่น้ำ มันจึงเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้าน อย่างที่เราเห็นชัดๆ ก็ป้าสมใจ ซึ่งราคากุ้งเองก็ไม่ตก ซึ่งการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามต้องเน้นว่า ควรให้บ่อมีความสะอาดพอสมควร อย่างบ่อที่เลี้ยงปลาดุกบางทีก็เลี้ยงไม่ได้ ทางที่ดีควรเลี้ยงคู่กับปลากินพืชจะดีมาก ลองนำไปทดลองกันดูครับ” คุณมณเฑียร กล่าว

 

เมื่อปลาได้อายุจำหน่าย  มีคนมารับซื้อถึงบ่อ

คุณสมใจ บอกว่า เรื่องตลาดส่งจำหน่ายยังถือว่าไม่น่าเป็นห่วงเท่าที่ควร เมื่อถึงเวลาจะมีคนมารับซื้อถึงหน้าบ่อเลี้ยง ซึ่งเธอจะต้องเป็นผู้เช็คราคาอยู่เสมอว่า ช่วงนี้ราคาปลาอยู่ที่เท่าไหร่ หากพอใจก็สามารถสั่งให้เขามารับซื้อได้เลยถึงที่

“ช่วงนี้เรียกว่าปลาตะเพียนราคาดีหน่อย เขารับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 45-49 บาท ส่วนปลานิลขนาดตัวประมาณ 700 กรัม ได้กิโลกรัมละ 22-25 บาท ส่วนสวายที่จำหน่ายก็อยู่ที่กิโลกรัมละ 22 บาท อันนี้น่าจะถูกกว่าปลาอื่น แต่จำนวนตัวมันใหญ่กว่า ก็ถือว่าพอได้ในเรื่องราคา” คุณสมใจ กล่าวถึงราคาปลาแต่ละชนิด

คุณสมใจ บอกว่า จากการเลี้ยงด้วยวิธีนี้ยังถือว่าราคาปลายังดีอยู่ เพราะได้ราคาที่หลากหลายเมื่อเทียบกับปลาที่เลี้ยงแบบเดี่ยวๆ ซึ่งปลาที่จับจำหน่ายก่อนช่วง 6 เดือน อาจจะเล็กหน่อย แต่ก็คือเงินต้นทุนที่ลงไปในครั้งแรก ส่วนปลาที่เหลือก็เลี้ยงให้ครบ 1 ปี ขนาดไซซ์ก็ใหญ่ขึ้น ซึ่งผลกำไรทั้งหมดจึงอยู่ที่การจับในครั้งที่ 2

 

จากสิ่งที่ทำโดยไม่ได้ตั้งใจ กลับกลายเป็นสิ่งที่รัก สร้างความสุข

คุณสมใจ บอกว่า บ่อปลาที่ได้มาลงมือทำนั้น ตัวเธอเองก็ไม่ได้คิดที่จะทำ ถ้าจะให้คนอื่นเช่าทำต่อก็ใช่ว่าจะได้เงินมากนัก จึงตัดสินใจลองเลี้ยงดู ก็คิดว่าไม่น่าจะมีอะไรเสียหาย แต่ ณ เวลานี้กลับกลายเป็นสิ่งเพลิดเพลินและหลงรักไปเสียแล้ว

“พอได้มาทำตรงนี้ ตั้งแต่เช้าก็จะออกมาให้อาหารปลาเองตลอด ก็ให้ไปเรื่อยๆ ให้ปลาได้กินทุกตัว อย่างมะละกอ 1 ลูก นี่นั่งได้เป็นชั่วโมง เหมือนเราชอบ ในทุกๆ วัน ว่าต้องมานั่งให้อาหาร รู้สึกมีความสุขมาก มันเพลินดี ซึ่งจากการที่ได้มาสังเกตทุกวัน มันทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องให้อาหารปริมาณเท่าไหร่ เพราะเราไม่ให้มากเกินไป มันก็เลยทำให้น้ำในบ่อสะอาด เพราะไม่มีของเสียมากเกินควร ณ เวลานี้บอกเลยทำอย่างนี้เราอยู่ได้ แล้วก็มีรายได้ มีเงินเป็นก้อนด้วย” คุณสมใจ กล่าว

จากการลงมือทำไปพร้อมกับการเรียนรู้ บวกกับการเอาใจใส่ของคุณสมใจ ทำให้เห็นถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นว่า คนเราไม่จำเป็นต้องเรียนจบในสาขาด้านนี้ แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นสามารถมีและก่อร่างสร้างมาได้จากการศึกษาเรียนรู้ หรือเรียกง่ายๆ ว่า การมี “พรแสวง” นั้นเอง

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสมใจ ไวทยกุล หมายเลขโทรศัพท์ (081) 255-5422

ขอบพระคุณ คุณมณเฑียร เกษตรสมบูรณ์ ประมงอำเภอหนองเสือ พาลงพื้นที่ พบปะเกษตรกร

Related Posts

จากลูกจ้างในตลาดผัก สู่เจ้าของแผง 'ขายมะเขือเทศ' มีลูกค้าประจำ ทั้งร้านอาหารดัง  ซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงสายการบิน ขายเฉลี่ยวันละ 500 ลัง 
ไอเดีย สร้างอาชีพเสริมแบบไม่ต้องรอพร้อม ‘เช่าที่ปลูกดอกไม้กินได้’
อดีตพนักงานห้าง ปิ๊งไอเดีย ขายผักน้ำพริก เริ่มต้นแพ็กละ 10 บาท โกยรายได้ครึ่งแสนต่อเดือน
ออกจากงานประจำ มาขาย "เตยหอม" เจาะกลุ่มโรงงานขนม ร้านดอกไม้ พ่อค้าแม่ค้า วันละ 900-1,000 กิโลกรัม