เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
SMEs เกษตร

ลำไยยักษ์ พันธุ์ “จัมโบ้” ผลใหญ่ เมล็ดลีบ ปลูกได้ทั่วประเทศ

“ลำไย” ถือว่าเป็นผลไม้ทางเศรษฐกิจของภาคเหนือ คู่กับวัฒนธรรมและชุมชนของผู้คนในจังหวัดทางภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนมานาน ลำไยเป็นพืชที่ต้องการอากาศที่หนาวเย็นในฤดูหนาวเพื่อกระตุ้นการออกดอก เมื่อหมดฤดูหนาวต้นลำไยจะออกดอกและติดผล เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม (ลำไยตามฤดูกาล) อุณหภูมิโดยทั่วไปลำไยต้องการอากาศค่อนข้างเย็น ต้องการอุณหภูมิต่ำ (10-20 องศาเซลเซียส) ในฤดูหนาว ช่วงหนึ่งคือประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคมเพื่อการออกดอก ซึ่งจะสังเกตว่าถ้าปีไหนอากาศหนาวเย็นนานๆ โดยไม่มีอากาศอบอุ่นเข้ามาแทรก ลำไยจะมีการออกดอกติดผลดี

เมื่อย้อนกลับไปในปี 2541 ได้มีการค้นพบสารโพแทสเซียมคลอเรต ด้วยความบังเอิญจากช่างทำดอกไม้ไฟ และทำให้ลำไยออกดอกและติดผลนอกฤดูได้ สามารถปลูกได้ทั่วไปเกือบทุกภาคของประเทศที่มีแหล่งน้ำที่ดี ต่อมาทำให้มีการขยายพื้นที่การปลูกอย่างมาก ทำให้ลำไยภาคตะวันออกในอำเภอโป่งน้ำร้อนและอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งผลิตลำไยนอกฤดูเท่านั้น

ข้อมูลตัวเลข ในปี 2555 พบว่า พื้นที่ปลูกลำไยในเขตจังหวัดจันทบุรี มีมากเกือบหนึ่งแสนไร่ มีปริมาณการส่งออกมากเกือบห้าแสนตัน (ในปี 2554) สามารถทำรายได้ให้กับเกษตรกรเจ้าของสวนเป็นกอบเป็นกำกว่าไม้ผลดั้งเดิมของจังหวัด เช่น ทุเรียน เงาะ สะละ ลองกอง มังคุด เป็นต้น เพราะเป็นผลไม้ที่สามารถบังคับและกำหนดระยะเวลาให้ผลผลิตออกได้ตามความต้องการ โดยการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต (KCLO3) ทำให้ออกดอกนอกฤดู สามารถจำหน่ายได้ราคาสูง กิโลกรัมละ 30-50 บาท หรือมากกว่านั้น โดยผลผลิตนอกจากจะขายในประเทศแล้วยังส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ฯลฯ

โดยพื้นที่ปลูกลำไยในเขตจังหวัดจันทบุรีนั้น ได้เปรียบมากในเรื่องของแหล่งน้ำ มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าทางภาคเหนือ ทั้งแรงงานที่ไม่ประสบปัญหามากนัก และสุดท้ายเรื่องการบริหารจัดการค่อนข้างเป็นระบบเกษตรกรมีความคุ้นเคยกับการปลูกพืชในแปลงขนาดใหญ่เป็นอย่างดี และเข้าใจเรื่องการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป็นอย่างดี

ปัญหาการผลิตลำไยในภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่และลำพูน ยังเป็นการผลิตลำไยในฤดู และอาศัยปัจจัยการผลิตโดยอิงธรรมชาติแบบดั้งเดิมอยู่ ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตค่อนข้างน้อย เป็นส่วนน้อยที่ผลิตลำไยนอกฤดู และทำให้ขาดแคลนแรงงานในช่วงลำไยออกสู่ตลาด ลำไยต้นสูงต้องเสียเวลาในการปีนเก็บและค่าไม้ค้ำ คุณภาพขนาดของผลและสีผลไม่ตรงตามความต้องการตลาด ผลผลิตกระจุกตัวออกมาเป็นปริมาณมาก ทำให้พ่อค้าได้เปรียบ อาจมีการกดราคาเกษตรกร อย่างการแปรรูปรองรับไม่ทัน

สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นผลกระทบและเกี่ยวข้องกับเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในฤดูกาล เทคนิคง่ายๆ คือ ตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มเตี้ยลง เพื่อลดค่าไม้ไผ่ค้ำยันกิ่งลำไยและค่าแรงเก็บเกี่ยว เมื่อทรงพุ่มเตี้ยลงก็ทำให้ง่ายต่อการจัดการต่างๆ โดยเฉพาะการดูแลรักษาป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช ใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตอย่างเหมาะสม ไม่ควรใช้เกินคำแนะนำ ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือตามความต้องการของพืช

พันธุ์ลำไยที่ปลูกมากที่สุดในประเทศไทย คือ พันธุ์ “ดอ” หรือเรียกลำไยพันธุ์ “อีดอ” เป็นสายพันธุ์หลักที่ปลูกมากที่สุดในบ้านเราขณะนี้คือ ราว 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นลำไยพันธุ์เบา คือออกดอกและเก็บผลก่อนพันธุ์อื่น ชาวสวนนิยมปลูกมากที่สุด ราคาดี เป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตดี มีแหล่งปลูกที่สำคัญ ได้แก่ ภาคเหนือตอนบนและทางภาคตะวันออก อย่างจังหวัดจันทบุรี ออกดอกและติดผลง่ายกว่าพันธุ์อื่น ให้ผลผลิตค่อนข้างสม่ำเสมอ เริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 4 ปี หลังปลูก ถ้าออกดอกกลางเดือนมกราคมก็จะเก็บผลผลิตได้ราวเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

ลำไยพันธุ์จัมโบ้ ปลูกที่สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร เป็นอีกทางเลือกของลำไยที่มีขนาดผลใหญ่ หวานกรอบแบบพันธุ์ดอ แต่จุดเด่นเรื่องของเมล็ดที่ลีบเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

ลักษณะผล ค่อนข้างกลม กว้าง 2.8 เซนติเมตร หนา 2.5 เซนติเมตร ยาว 2.5 เซนติเมตร สีน้ำตาลอ่อน บ่าผลยกข้างเดียว รสหวาน จำนวนผลโดยเฉลี่ย 85-94 ผล ต่อกิโลกรัม นิยมบริโภคสด และแปรรูป ส่วนสายพันธุ์อื่นๆ ก็ยังคงมีให้เห็นบ้าง เช่น พันธุ์สีชมพู พันธุ์เบี้ยวเขียว พันธุ์แห้ว บ้านโฮ่ง 60 พวงทอง เพชรสาครทะวาย เป็นต้น

ลำไยยักษ์ พันธุ์ “จัมโบ้” ลำไยสายพันธุ์ใหม่ ที่กรมวิชาการเกษตร ได้มีหนังสือรับรองพันธุ์ขึ้นทะเบียนกรมวิชาการเกษตร เป็นลำไยอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ได้จากการกลายพันธุ์มาจากการเพาะเมล็ด (ซึ่งคาดว่าน่าจะกลายมาจากพันธุ์ดอ) เป็นพันธุ์ที่เหมาะต่อการบริโภคสด ผลมีขนาดใหญ่มาก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง เซนติเมตร มีขนาดผลใหญ่กว่าลำไย เกรด A ที่ส่งขายยังต่างประเทศถึง เท่า เป็นลำไยที่เนื้อหนาแข็งและแห้งไม่แฉะน้ำ มีความหวานเฉลี่ย 13-15 องศาบริกซ์

ที่น่าสนใจคือ “เมล็ดเล็กลีบ เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์” และได้มีการตั้งชื่อว่า พันธุ์ จัมโบ้ (JUMBO)

จากประวัติพบว่า เจ้าของลำไยพันธุ์จัมโบ้นี้คือ คุณสุทัศน์ อินต๊ะ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ขณะนี้ต้นแม่ลำไยจัมโบ้มีอายุต้นกว่า 30 ปีแล้ว ทราบว่าเป็นต้นลำไยที่ได้จากการปลูกด้วยเมล็ดและกลายพันธุ์มาดีจากลำไยต้นหนึ่งในเขตอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะการติดผลของลำไยพันธุ์นี้อยู่ในระดับปานกลางจากข้อมูลเบื้องต้นที่ทราบ แจ้งว่าลำไยพันธุ์จัมโบ้ มีจำนวนผล 15-19 ผล ต่อช่อ ซึ่งหลังจากที่สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร นำมาปลูกเริ่มราดสารให้ออกดอก หลังบำรุงรักษาจนติดผล พบว่าจำนวนผลต่อช่อมีมากกว่านั้น คือโดยประมาณ 15-40 ผล เลยทีเดียว (ซึ่งเป็นผลดีในเรื่องของการไม่ต้องแต่งหรือซอยช่อผล)

ลักษณะผลจะกลมแป้น ผิวเปลือกเรียบ มีสีน้ำตาลปนเหลือง เปลือกหนาประมาณ 1.3 มิลลิเมตร ในธรรมชาติจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมและเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนสิงหาคม แล้วยังพบว่าใน 1 ช่อ ผลลำไยมีเมล็ดลีบเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นพันธุ์ลำไยที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก คือรสชาติหวาน ลักษณะเหมือนลำไยพันธุ์ดอทุกประการ แต่ได้ขนาดที่ผลใหญ่มาก และที่สำคัญ “เมล็ดลีบ และเนื้อหนามาก”

สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร ได้สายพันธุ์ลำไยยักษ์ “จัมโบ้” มาปลูกมากกว่า 10 ปี พบว่า มีการเจริญเติบโตเร็ว ออกดอกติดผลง่าย ตั้งแต่ปีแรกหลังปลูก ทั้งปล่อยให้ออกดอกตามธรรมชาติ (ในบางปีที่มีอากาศหนาวเย็น) และโดยวิธีบังคับให้ออกนอกฤดูกาลโดยใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตตามที่ต้องการ และได้มีการตรวจสอบถึงผลผลิตที่ออก ที่ สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร ผลปรากฏว่าสามารถบังคับให้ออกนอกฤดูได้เป็นอย่างดี ผลผลิตที่ได้ พบว่าผลลำไยมีขนาดผลใหญ่มาก จากการซุ่มตรวจพบว่า เมล็ดลีบหมดทั้งต้น และเนื้อแห้งไม่แฉะ รสชาติหวาน รับประทานอร่อยมาก

การปลูกลำไยแบบสมัยใหม่ ลำไยนั้นสามารถปลูกได้ตลอดปี แต่ในช่วงที่เหมาะสมคือ ปลายฤดูฝน(กันยายนถึงตุลาคม) ซึ่งมีความชื้นในดินและอากาศพอเหมาะ ลำไยจะเจริญเติบโตได้ดีและไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน แต่จะต้องให้น้ำบ้าง เกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนมักนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาในการรดน้ำ แต่ต้องระมัดระวังเรื่องน้ำขังบริเวณหลุมปลูก จึงต้องหมั่นคอยดูแลเมื่อมีน้ำขังต้องระบายน้ำออกจากหลุม หรือเตรียมหลุมพูนดินเป็นโคกหรือหลังเต่า

และเมื่อฝนจะทิ้งช่วงในเดือนตุลาคม-มกราคม และเข้าสู่ฤดูแล้ง (กุมภาพันธ์-เมษายน) ซึ่งจะต้องมีการจัดการน้ำที่ดี ในระยะปีที่ 1-2 ซึ่งถือว่าเป็นปีที่ลำไยตั้งตัวและจะรอดได้ จำเป็นต้องไม่ให้ขาดน้ำในฤดูแล้ง และไม่ให้น้ำท่วมขังในฤดูฝนด้วยการเตรียมดิน ถ้าเป็นพื้นที่ที่เคยปลูกพืชอื่นมาก่อน ให้ไถดินลึก ประมาณ 30 เซนติเมตร ตากดินฆ่าเชื้อไว้ประมาณ 15-30 วัน แล้วไถพรวนย่อยดินอีก 1-2 ครั้ง และปรับระดับดินให้สม่ำเสมอตามแนวลาดเอียง

 

วิธีการปลูก

เริ่มจากการเตรียมพันธุ์ โดยวิธีการตอนกิ่ง ซึ่งชำลงถุงดำจนแข็งแรงควรเตรียมไว้ล่วงหน้า เพื่อจะได้ต้นกล้าที่แข็งแรง หรือเลือกใช้ต้นพันธุ์ลำไยที่ขยายพันธุ์แบบตอนกิ่ง ซึ่งจะโตเร็ว สร้างพุ่มได้เร็ว (เหมาะกับพื้นที่ที่ไม่มีลมแรง ดินทราย ซึ่งอาจจะทำให้โค่นล้มได้ง่าย นอกจากการค้ำยันต้นที่ดีแล้ว เกษตรกรบางรายอาจจะเสริมรากให้ต้นลำไยภายหลังปลูกไปแล้ว อย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป เพื่อเสริมความแข็งแรง) หรือต้นพันธุ์เสียบยอดหรือทาบกิ่งก็ได้ (เพราะจะได้ต้นพันธุ์ที่มีรากแก้ว ทำให้ต้นแข็งแรง หากินเก่ง ทนต่อสภาพดินไม่ดีได้)

ต่อมาก็เป็นเรื่องของ “ระยะปลูก” วางผังระยะปลูกมีหลายระยะนั้นขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น การจัดการโดยใช้เครื่องจักรก็จะใช้ระยะปลูกที่กว้าง ระหว่างแถวและต้น 8×8 เมตร หรือ 10×8 เมตร เป็นต้น ส่วนถ้ามีพื้นที่น้อย ต้องการจำนวนต้นที่เยอะ ดูแลทั่วถึงสามารถควบคุมทรงพุ่มได้ ก็จะปลูกระยะถี่ลงมา เช่น ระยะ 7×5 เมตร หรือ 6×6 เมตร ในกรณีที่มีการควบคุมทรงพุ่ม

จากข้อมูลโดย ผศ.ดร.พาวิน มะโนชัย ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ บอกว่า สวนลำไยดั้งเดิมส่วนใหญ่ปลูกลำไยห่างกันมาก ระยะ 8×8 เมตร ทำให้เปลืองเนื้อที่ และกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน ใช้เวลานาน 7-8 ปี จากการศึกษาวิจัยและทดลองปลูกลำไยระยะชิด โดยใช้กิ่งตอน ในระยะห่าง 2-4 เมตร หรือไร่ละ 200 ต้น จะคืนทุนได้ภายใน 4-5 ปีเท่านั้น

วิธีปลูก ขุดหลุมปลูก ขนาดประมาณ 80x80x50 เซนติเมตร (กว้างxยาวxลึก) รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายดีแล้ว อัตรา 3-5 กิโลกรัม ต่อหลุม โดยผสมกับหน้าดิน ใส่ลงหลุม พูนดินสูงจากปากหลุมประมาณ 15 เซนติเมตร ก่อนปลูกทำหลุมเท่าถุง เพื่อวางชำต้นกล้าตัดรากที่ขดงอรอบๆ ถุงชำต้นกล้า ทิ้งไปเฉพาะบริเวณก้นถุงใช้มีดคมกรีดจากก้นถุงขึ้นมาปากถุงทั้งสองด้าน แล้วดึงถุงพลาสติกออก ระวังอย่าให้ดินแตก กลบดินให้แน่น ปักไม้หลักและผูกเชือกยึดต้นเพื่อป้องกันต้นกล้าโยกคลอน รดน้ำให้ชุ่มพรางแสงให้จนกระทั่งแตกยอดอ่อน 1 ครั้ง จึงงดการพรางแสง

ผลลำไยพันธุ์จัมโบ้ เทียบขนาดกับลูกปิงปองและเหรียญ 10 บาท

การดูแลรักษา การใส่ปุ๋ย ลำไย อายุ 1-3 ปี หลังจากต้นแตกใบอ่อน ชุดที่ 1 ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1 : 1 อัตรา 100 กรัม ต่อต้น ปีละ 3 ครั้ง และเพิ่มขึ้นปีละ 2 เท่า ทุกปี ลำไยอายุ 4 ปี แตกใบอ่อนประมาณต้นเดือนสิงหาคม ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1 : 1 อัตรา 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น และเดือนพฤศจิกายนพ่นปุ๋ยเคมี สูตร 0-52-34 อัตรา 150 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วทรงพุ่มเพื่อไม่ให้ลำไยแตกใบใหม่ พ่น 3 ครั้ง ทุก 7 วัน สำหรับลำไยที่ให้ผลผลิตแล้ว (อายุ 5 ปีขึ้นไป)

หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตในปีที่ผ่านมา ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1 : 1 อัตรา 2 กิโลกรัม ต่อต้น เพื่อกระตุ้นการแตกใบอ่อน ชุดที่ 1 หลังจากนั้น ประมาณเดือนกันยายนใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1 : 1 อัตรา 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น เมื่อลำไยแตกใบอ่อน ชุดที่ 2 กลางเดือนตุลาคม ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 0-46-0 + 0-0-60 สัดส่วน 1 : 1 อัตรา 2-3 กิโลกรัม ต่อต้น เพื่อให้ลำไยพักตัวและพร้อมต่อการออกผล

เมื่อลำไยติดผลขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร แนะนำควรใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1 : 1 อัตรา 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น เพื่อบำรุงผลให้เจริญเติบโต ก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 0-0-60 อัตรา 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1 : 1 อัตรา 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น

ลำไยพันธุ์จัมโบ้ ปลูกที่สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร เป็นอีกทางเลือกของลำไยที่มีขนาดผลใหญ่ หวานกรอบแบบพันธุ์ดอ แต่จุดเด่นเรื่องของเมล็ดที่ลีบเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

เทคนิคและการบริหารจัดการลำไยนอกฤดู

ในส่วนของการบริหารจัดการการผลิตลำไยให้ประสบความสำเร็จจะต้องเอาการตลาดเป็นตัวนำการผลิต เพราะเมื่อผลผลิตออกจะตรงกับความต้องการของตลาดและราคาจะสูง ตามเทศกาลของประเทศจีนเป็นหลักและลดความเสี่ยง คือ

ช่วงที่ 1 ให้สารเดือนมีนาคม เก็บผลผลิตเดือนกันยายน ตรงกับงานชาติจีน (1-7 ตุลาคม ของทุกปี)

ช่วงที่ 2 ให้สารเดือนเมษายน เก็บผลผลิตเดือนธันวาคม เทศกาลปีใหม่สากล

ช่วงที่ 3 ให้สารเดือนมิถุนายน เก็บผลผลิตเดือนมกราคม ก่อนเทศกาลตรุษจีน

ช่วงที่ 4 ให้สารเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เก็บผลผลิตเดือนมีนาคม วันเช็งเม้ง เนื่องจากตลาดจีนเป็นตลาดรับซื้อและนำเข้าลำไยของไทยที่ใหญ่มาก โดยเฉพาะการให้ผลผลิตออกช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม จะเป็นช่วงเวลาที่ตลาดคู่แข่งอย่างเวียดนามและแหล่งอื่นๆ ไม่มีผลผลิต

นอกจากการใช้ตลาดเป็นตัวนำแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องมีแหล่งน้ำเพียงพอและความสมบูรณ์ของต้นลำไยและการแบ่งทำเป็นรุ่นๆ จะช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องของราคา

มีชาวสวนลำไยหลายท่านปีนี้ที่ประสบความสำเร็จในการทำลำไยนอกฤดู และสามารถขายเหมาลำไยหลักล้านบาทขึ้นหลายรายปีนี้ เพราะว่าราคานอกฤดูก่อนตรุษจีนที่จะมาถึงปีนี้ ถือว่าราคาค่อนข้างดีทีเดียว โดยปกติราคาลำไยในช่วงเทศกาลตรุษจีน หรือปีใหม่ วันชาติจีน ราคาจะดีกว่าช่วงอื่นๆ ในการวางแผนการทำลำไยนอกฤดู ถ้าเราต้องการให้ได้ราคาดี ก็ควรให้ออกก่อนช่วงเทศกาลเล็กน้อยก็จะขายได้ราคาที่แพงกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของต้นลำไยด้วย ว่าได้ต้นลำไยพร้อมสมบูรณ์ที่จะราดสารหรือไม่ โดยแตกยอดอ่อนอย่างน้อยสองครั้งถึงจะราดสารหรือพ่นสารทางใบ เพื่อให้ลำไยออกดอก

สนใจกิ่งพันธุ์ลำไยยักษ์ พันธุ์ “จัมโบ้” สายพันธุ์แท้ ติดต่อได้ที่ “สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. (081) 901-3760, (081) 886-7398 หรือ ID Line LEEFARM2 หรือช่องทางเฟซบุ๊ก “สวนคุณลี”         

Related Posts

จากลูกจ้างในตลาดผัก สู่เจ้าของแผง 'ขายมะเขือเทศ' มีลูกค้าประจำ ทั้งร้านอาหารดัง  ซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงสายการบิน ขายเฉลี่ยวันละ 500 ลัง 
ไอเดีย สร้างอาชีพเสริมแบบไม่ต้องรอพร้อม ‘เช่าที่ปลูกดอกไม้กินได้’
อดีตพนักงานห้าง ปิ๊งไอเดีย ขายผักน้ำพริก เริ่มต้นแพ็กละ 10 บาท โกยรายได้ครึ่งแสนต่อเดือน
ออกจากงานประจำ มาขาย "เตยหอม" เจาะกลุ่มโรงงานขนม ร้านดอกไม้ พ่อค้าแม่ค้า วันละ 900-1,000 กิโลกรัม