เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
SMEs เกษตร

ลุงสาย บางแพ เลี้ยงปลาบ่อดิน จับขายหลักแสน

ลุงสาย หลวงทรัพย์ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในบ่อดินแบบผสมผสาน อยู่บ้านเลขที่ 4/2 หมู่ที่ 1 ตำบลดอนใหญ่ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี  เป็นเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่  แต่ด้วยปัญหาแรงงาน และราคาข้าวที่ถูก ลุงสายจึงต้องปรับเปลี่ยนวิถีความเป็นอยู่จากชาวนา มาเป็นเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาบ่อดิน

ลุงสาย หลวงทรัพย์

หลังจากเลิกทำนา ลุงสายตัดสินใจขายที่ดินส่วนหนึ่งไป ส่วนที่เหลือใช้ปลูกที่อยู่อาศัยและขุดบ่อใช้เลี้ยงปลาแบบผสมผสานบริเวณรอบๆ บ้าน ควบคู่กับการให้เช่าพื้นที่ทำบ่อเลี้ยงกุ้ง

“แรงจูงใจที่ทำให้ผมต้องเปลี่ยนอาชีพ ก็เนื่องจากต้นทุนการผลิตข้าวที่แพง อีกทั้งยังต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ทำคนเดียวก็ไม่ไหว จึงต้องเลิกและหันมาเพาะเลี้ยงปลาในบ่อดินแทน และด้วยสภาพพื้นที่บริเวณรอบๆ ชุมชนถูกเปลี่ยนเป็นสวนผลไม้เกือบทั้งหมด จะทำนาอยู่เจ้าเดียวก็เจอกับปัญหาของศัตรูธรรมชาติ โดยเฉพาะหนูที่เข้ามาทำลายกัดกินต้นข้าว สร้างความเสียหายทุกปี ทนทำอยู่ก็มีแต่จะขาดทุน จะเลี้ยงกุ้งก็ไม่รวย ที่สำคัญต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่ถ้ามาเลี้ยงปลาซึ่งไม่ต้องลงทุนเยอะ เพียงครั้งเดียวก็สามารถเลี้ยงได้ตลอด เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมตัดสินใจมาเลี้ยงปลาแบบผสมผสานในบ่อดินควบคู่กับการปลูกไม้ผลบริเวณริมบ่อเพาะเลี้ยง” ลุงสาย กล่าว

 

จากชาวนา สู่ชาวประมง ผสมผสานไม้ผลกินได้

ลุงสาย เริ่มต้นทดลองเลี้ยงปลาแบบผสมผสานในบ่อดิน เพียง 1 บ่อ เน้นปลานิลและปลาตะเพียนเป็นหลัก ส่วนพื้นที่ที่เหลือก็ปล่อยให้เช่าทำเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง

“ผมเลี้ยงปลาควบคู่กับการให้เช่าที่ทำบ่อกุ้ง มานานกว่า 10 ปี แต่ก็ต้องหยุดให้เช่า เพราะการทำฟาร์มกุ้งส่งผลกระทบทำให้สภาพแวดล้อมบริเวณรอบๆ เปลี่ยน น้ำที่เคยใสสะอาดก็เริ่มเน่าเหม็น จะปล่อยให้เช่าต่อก็ไม่ไหว จึงหยุดให้เช่าและปรับเปลี่ยนบ่อเลี้ยงกุ้งมาเป็นบ่อเพาะเลี้ยงปลาเพิ่มอีก 3 บ่อ แต่ละบ่อที่ใช้เพาะเลี้ยงจะมีความกว้าง ความยาว ขึ้นอยู่กับพื้นที่ แต่โดยเฉลี่ยแต่ละบ่อกินเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ มีความลึกประมาณ 1 เมตร ลักษณะพื้นบ่อจะลาดเอียงด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้ง่ายต่อการจับปลา เพราะทุกครั้งที่จะทำการจับ ต้องสูบน้ำออกไปส่วนหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ปลาไหลไปรวมกันบริเวณพื้นที่ต่ำกว่า ทำให้ง่ายต่อการขึ้นปลา”

ปลาตะเพียน

นอกจากนี้ บริเวณรอบบ่อเพาะเลี้ยง ลุงสายไม่ปล่อยว่างเปล่า จะนำไม้ผล เช่น มะม่วง มะพร้าว กล้วย และผลไม้อื่นๆ มาปลูกไว้รอบบ่อ สร้างรายได้ หากเหลือลุงสายก็จะเก็บเอามาให้ปลากิน  ส่วนบนผิวน้ำลุงสายจะปล่อยให้ผักบุ้งขึ้นเป็นอาหารของพืชได้อีกทางหนึ่ง

วิธีการและขั้นตอนการเลี้ยง ลุงสาย เล่าให้ฟังว่า เริ่มต้นด้วยการเตรียมบ่อเพาะเลี้ยงให้พร้อม  ปล่อยน้ำเข้าภายในบ่อให้มีระดับพอสมควร  จากนั้นนำลูกปลาอายุประมาณ 1-2 เดือนลงปล่อย โดยอัตราการปล่อย ลุงสาย บอกว่า ขึ้นอยู่กับขนาดของบ่อ แต่โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละบ่อจะอยู่ประมาณ 10,000 ตัว ไม่ควรปล่อยลงไปเยอะเพราะจะทำให้ลูกปลาไม่โต

ทุกๆ วันหลังจากปล่อยลูกปลาลงไปแล้ว ลุงสายจะคอยเดินสังเกตดูอัตราการรอดของลูกปลาในแต่ละบ่อ โดยเฉพาะเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเดือนที่ลูกปลาจะตายเยอะที่สุด เพราะเป็นต้นฤดูฝน น้ำในบ่อจะเปลี่ยน ทำให้ปลาน็อก  ซึ่งทางแก้ของลุงสายคือหยุดให้อาหาร จะช่วยทำให้ปลาท้องไม่อืด สามารถช่วยลดอัตราการตายของลูกปลาลงได้

ปลาตะเพียน
ปลานิล

สำหรับอาหารที่ให้ ในช่วง 1-3 เดือนแรกของการเพาะเลี้ยงจะให้เป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูป (อาหารปลาเล็ก) วันละ 1 ครั้ง (เช้า) และหลังจากช่วงเดือนที่ 3 จะเปลี่ยนเป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูป (อาหารปลาใหญ่) เสริมด้วยมูลไก่ ซึ่งสามารถช่วยปรับสภาพน้ำในบ่อให้ไม่เน่าเสีย โดยรวมแล้ว ใช้ระยะเวลาเลี้ยงตั้งแต่อนุบาลถึงจับขายโดยเฉลี่ยแล้ว อยู่ที่ 8-9 เดือน

ตลาดรับชื้อ ลุงสาย บอกว่า จะจับไปส่งขายเองในตลาด จะไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับชื้อ เนื่องจากราคาจะไม่เป็นธรรม สู้จับไปขายเองไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาการตอบรับจากตลาดรับชื้อเป็นไปได้ด้วยดี มีทั้งกลุ่มผู้บริโภครายเล็กและรายใหญ่ แต่ละครั้งๆ ทำรายได้เกือบ 100,000 บาท

ท่านใดที่กำลังมองหาอาชีพ หรือประกอบอาชีพนี้อยู่แล้ว แต่ยังไม่ชำนาญ หรือต้องการคำแนะนำ ลุงสาย พร้อมให้คำปรึกษา ท่านสามารถติดต่อไปได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 061-726-5611

Related Posts

จากลูกจ้างในตลาดผัก สู่เจ้าของแผง 'ขายมะเขือเทศ' มีลูกค้าประจำ ทั้งร้านอาหารดัง  ซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงสายการบิน ขายเฉลี่ยวันละ 500 ลัง 
ไอเดีย สร้างอาชีพเสริมแบบไม่ต้องรอพร้อม ‘เช่าที่ปลูกดอกไม้กินได้’
อดีตพนักงานห้าง ปิ๊งไอเดีย ขายผักน้ำพริก เริ่มต้นแพ็กละ 10 บาท โกยรายได้ครึ่งแสนต่อเดือน
ออกจากงานประจำ มาขาย "เตยหอม" เจาะกลุ่มโรงงานขนม ร้านดอกไม้ พ่อค้าแม่ค้า วันละ 900-1,000 กิโลกรัม