เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
ข่าววันนี้

ราคาน้ำมันต่ำกว่าคาด พาณิชย์หั่นเงินเฟ้อทั้งปีนี้เหลือ 0.4-1%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (อัตราเงินเฟ้อ) ทั่วไปเดือนก.ย. 2560 เท่ากับ 101.22 สูงขึ้น 0.86% เทียบก.ย. 2559 และสูงขึ้น 0.58% เทียบส.ค. 2560 นับว่าเป็นบวกต่อเนื่องเดือนที่ 3 ตั้งแต่ ก.ค. 2560 โดยเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้นเป็นผลจากหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 1.32% เช่น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และการปรับขึ้นของราคาบุหรี่และสุราจากภาษีใหม่ และค่าไฟ รวมถึงก๊าซเอ็นจีวีที่ราคาสูงขึ้น

ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.06% เช่น ผักสดราคาสูงขึ้น ผลผลิตลดลงเพราะเน่าเสียหายจากฝนชุก

ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.ย. ที่สูงขึ้น เมื่อดูปัจจัยหลัก เช่น ค่าไฟ มีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.092% ราคาก๊าซเอ็นจีวีมีผล 0.00096% กฎหมายภาษีสรรพสามิตตัวใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2560 ทำให้ราคาบุหรี่ เหล้า เบียร์ ราคาขยับขึ้น รวมมีผลต่อเงินเฟ้อ 0.027% แบ่งเป็น บุหรี่มีผล 0.028% เบียร์ 0.001% เหล้า 0.0004%

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน หักกลุ่มอาหารสดและพลังงาน เดือนก.ย. 2560 เท่ากับ 101.44 สูงขึ้น 0.53% เทียบก.ย. 2559 และสูงขึ้น 0.09% เทียบส.ค. 2560 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 9 เดือนแรกปีนี้ สูงขึ้น 0.59% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 9 เดือนแรกปีนี้ สูงขึ้น 0.54% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

น.ส.พิมพ์ชนก ยังกล่าวอีกว่า จากการได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจจนถึงปัจจุบันทำให้ สนค. ต้องปรับตัวเลขประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2560 เป็น 0.4-1% จากเดิม 0.7-1.7% ภายใต้สมมติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี 3-4% เช่นเดิม ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ 45-55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมที่คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน 33.5-34.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากเดิม 35-35.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ส่วนปัจจัยสวัสดิการของรัฐแก่ผู้มีรายได้น้อย เช่น บัตรสวัสดิการสำหรับค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและค่าเดินทาง เหล่านี้จะช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน ยอมรับว่าจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ที่จะทำให้ราคาสินค้าไม่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม กำลังประเมินว่าจะมีผลต่อเงินเฟ้ออย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ สนค. ยังได้สำรวจค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเดือนก.ย. 2560 พบว่า 1 ครัวเรือนสมาชิก 1-5 คน มีค่าใช้จ่ายรายเดือน 20,421 บาท พบว่า ค่าใช้จ่าย 63.59% จะเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ 4,882 บาท หรือ 23.91% ค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 4,680 บาท หรือ 22.91% ส่วนค่าใช้จ่ายที่เป็นอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 36.41% ส่วนใหญ่เป็นค่าอาหารบริโภคในบ้าน 1,779 บาท หรือ 8.71% อาหารบริโภคนอกบ้าน 1,740 บาท หรือ 8.52%

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า สำหรับการสำรวจสินค้า 422 รายการในเดือนก.ย. มีสินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น 157 รายการ เช่น ผักสด หมู ไข่ไก่ ข้าวสารเจ้า สินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 196 รายการ และสินค้าที่ราคาปรับลดลง 69 รายการ เช่น กุ้งขาว ไก่สด น้ำมันพืช ซีอิ๊ว เป็นต้น

 

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์

Related Posts

ภาษีทรัมป์ ทำเดือดร้อนหนัก ผู้ประกอบการจิตตก รัฐบาลไทยหมกมุ่นกาสิโน