วันที่ 14 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณีแม่น้ำโขงแห้งลงอย่างมากในช่วงนี้ เพราะเป็นผลมาจากการเข้าสู่ฤดูแล้งและมีการปิดเขื่อนกั้นน้ำที่เขื่อนจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ห่างจาก จ.เชียงราย ไปทางทิศเหนือประมาณ 261 กิโลเมตรนั้น ล่าสุดแม้ว่าทาง จ.เชียงราย จะประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้แจ้งทางการจีนให้ปล่อยน้ำลงมาบ้าง ซึ่งพบว่าศูนย์ควบคุมแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง สิบสองปันนา ปล่อยน้ำเข้าเขื่อนในวันเดียวกันในปริมาณ 587 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และระบายน้ำออกจากเขื่อนในปริมาณ 819 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำที่หน้าที่ว่าการ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ชายแดนไทย-สปป.ลาว ลึกประมาณ 2.30 เมตร สามารถใช้เพื่อการสัญจรเรือเล็กไปมาได้บ้างนั้น
แต่ยังคงพบว่าแม่น้ำโขงยังคงแห้งกว่าปกติโดยปรากฏให้เห็นเกาะแก่งและโขดหินไปทั่วบริเวณโดยเฉพาะสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน แก่งไก่ คอนผีหลง อ.เชียงของ ไปจนถึงแก่งผาได อ.เวียงแก่น ทำให้เรือสินค้าขนาดใหญ่ยังไม่สามารถสัญจรไปมาได้ และต้องใช้เรือเล็กในการขนถ่ายไปมาอยู่โดยเฉพาะในเขตชายแดนประเทศเมียนมา-สปป.ลาว ที่มีเกาะแก่งและหาดทรายเป็นบริเวณกว้าง
นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กล่าวว่า ตามปกติระดับน้ำในแม่น้ำโขงในฤดูแล้งน้ำจะอยู่ที่ประมาณ 2 เมตรกว่าขึ้นไป จากเดิมที่มีระดับเฉลี่ย 6-8 เมตร แต่ปรากฏว่าสัปดาห์ก่อนลดลงเหลือต่ำสุดเพียง 1.80 เมตร จึงมีการแก้ไขปัญหาด้วยการประสานงานกระทั่งจีนมีการปล่อยน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าดังกล่าวส่วนระยะยาวคงมีการขุดลอกบางส่วน แต่เนื่องจากเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศจึงต้องใช้เวลาหารือกัน กระนั้นทางเจ้าท่าก็มีเรือเล็กเพื่อดำเนินการบางจุดที่เป็นปัญหาแล้ว รวมทั้งมีการประกาศเตือนการใช้เรือด้วยความระมัดระวังแล้ว
อย่างไรก็ตาม จากปรากฏการณ์น้ำแห้งดังกล่าวพบว่า ชาวบ้านพื้นที่ อ.เชียงของ ใช้โอกาสที่น้ำลดลงอย่างมากลงไปหา “ไก” ซึ่งเป็นสาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่งที่ขึ้นตามเกาะแก่งในน้ำโขงอย่างคึกคัก เพราะในรอบปีจะสามารถเก็บไกได้เพียง 1 ครั้งคือในฤดูแล้งนี้เท่านั้น โดยไกที่ได้เมื่อนำมาตากให้แห้งและอบตามภูมิปัญญาชาวบ้านจะได้สาหร่ายน้ำจืดที่หอมอร่อย สามารถนำมารับประทานหรือปรุงเป็นอาหารต่างๆ จึงเป็นที่นิยมของคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวที่ไปหาซื้อถึงขั้นที่ว่า อ.เชียงของ เตรียมจัดงานแห่ไกน้ำโขงยาวที่สุดในวันที่ 16 มี.ค.นี้ ในเขตเทศบาล ต.เวียงเชียงของ
นางคำ โยงยืน วัย 70 ปี ชาวบ้าน อ.เชียงของ ที่ออกเก็บไกมานาน กล่าวว่า เนื่องจากไกแม่น้ำโขงมีรสชาติดีไม่แพ้กับสาหร่ายที่นำเข้าจากต่างประเทศหรือที่จำหน่ายทั่วไป ทำให้ตนและเพื่อนบ้านต่างพากันออกเก็บไกที่ติดตามโขดหินในแม่น้ำโขงเป็นประจำ ตั้งแต่เดือน มี.ค.-เม.ย. ของทุกปี หรือบางปีแล้งมากก็จะหาเก็บไกยาวไปถึงเดือน พ.ค. เพราะหากระดับน้ำสูงขึ้นจนท่วมมากก็จะไม่สามารถเก็บได้อีกต่อไป ซึ่งไกที่เก็บได้จะนำไปขายให้แม่ค้าในตลาด แต่ละคนสามารถหาไกได้วันละ 5-20 กิโลกรัม แล้วแต่ความชำนาญจึงสร้างรายได้ให้วันละประมาณ 500- 2,000 บาท
ที่มา ข่าวสดออนไลน์