เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
Exclusive Featured

ย้อนเวลาพาชม เมืองสงขลาในอดีต ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.สงขลา

“เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” พาลงใต้ไปเยี่ยมเยียนเมืองที่ได้ชื่อว่า เป็นเมืองเก่าแก่ของไทยเมืองหนึ่ง อย่าง จังหวัดสงขลา กับบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ได้แวะเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา” ที่จัดแสดงความเป็นมา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตต่างๆ ของคนสงขลาเอาไว้

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมยุโรป เดิมเป็นบ้านของพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา หรือก็คือต้นตระกูล ณ สงขลา ในปัจจุบัน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2421 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 5

ใช้เป็นบ้านพักอาศัยของตระกูล ณ  สงขลาได้ 16 ปี ทางราชการได้ซื้ออาคารหลังนี้จากทายาทของตระกูล เพื่อใช้เป็นที่พำนักข้าหลวงและที่ทำการราชการ และท้ายที่สุดใช้เป็นศาลากลางจังหวัดสงขลา ก่อนจะถูกทิ้งร้างและได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในปี 2516 และทางกรมศิลปากรได้เข้ามาปรับปรุงเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ในปี 2525

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา จัดแสดงเกี่ยวกับความเป็นมาของจังหวัด งานประณีตศิลป์ต่างๆ รวมถึงมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับบริจาคจากประชาชนในพื้นที่ด้วย

บรรยากาศของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เต็มไปด้วยต้นไม้สีเขียวร่มรื่น เมื่อเดินผ่านประตูรั้วเข้ามา ก็จะเจอสนามหญ้าสีเขียว ที่ขนาบข้างด้วย เรือนไม้ทางด้านซ้ายและขวา โดยจัดแสดงวิถีชีวิตของชาวสงขลา เมื่อเดินตรงเข้าไปข้างในจะเป็นการจัดแสดงงานสถาปัตยกรรมและศิลปวัตถุอื่นๆ โดยภายในจะแบ่งเป็น 2 ชั้น 14 โซน ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการเยี่ยมชม

ชั้นล่างแบ่งเป็น 9 โซนด้วยกัน โซนแรก โซนวิถีชีวิตสงขลา “โหนด-นา-เล” แสดงวิถีชีวิตประจำวันของชาวสงขลาที่อยู่กับตาลโตนด นาข้าว และการประมง โซนที่ 2  เป็นโซน “ภูมิลักษณ์คาบสมุทรสงขลา” จัดแสดงประวัติของจังหวัดตั้งแต่อดีต จนมีการพัฒนาเป็นเมืองท่าสำคัญในการค้าขาย

โซน 3 และ 4 คือโซน “สงขลายุคก่อนประวัติศาสตร์” กับโซน “ประวัติศาสตร์แรกเริ่มบนคาบสมุทรสทิงพระ” บอกเล่าเรื่องราวของเมืองสงขลาตั้งแต่คนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดตั้งแต่ 6,000 ปีที่แล้ว

โซนที่ 5 ถึง 7 คือโซน “สงขลาหัวเขาแดง”  “สงขลาแหลมสน” และ “สงขลาบ่อยาง” เมืองท่าทางการค้าที่สำคัญในสมัยพุทธศตวรรษที่ 22 ตลอดจนเรื่องราวศิลปะ อิทธิพล และวิทยาการที่ได้รับจากต่างชาติ

โซนที่ 13 โซน “สงขลาย้อนยุค” ย่านธุรกิจการค้าที่สะท้อนภาพความทันสมัยของสงขลา เมื่อ 60 – 70 ปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

และโซนสุดท้ายในชั้นล่าง คือโซน “ศาลากลางแจ้ง” ซึ่งเป็นโซนที่อยู่ด้านหลังสุดของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดแสดงชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่วัดต่างๆ ได้มอบให้กับพิพิธภัณฑสถาน

เดินขึ้นไปชั้น 2 จะเจอเข้ากับโซนที่ 9 “บันทึกสงขลา” จัดแสดงเกี่ยวกับศิลปวัตถุของผู้ปกครองเมืองสงขลาในสมัยต่างๆ โซนที่ 8 โซน “การค้าระหว่างประเทศ”

และโซนที่ 10 – 12 เป็นโซน “ศิลปกรรมสงขลา” “ประวัติศาสตร์โบราณคดีภาคใต้ตอนล่าง” และ “สุนทรียภาพของชาวใต้ตอนล่าง” เป็นโซนที่จัดแสดงตั้งแต่กำเนิดชุมชนเมืองโบราณบริเวณลุ่มน้ำปัตตานี มีชาวไทย ไทยมุสลิม จีนและตะวันตกเข้ามาตั้งรกราก ไปจนถึงอิทธิพลทางศิลปะ ศาสนา และความเชื่อจากอินเดีย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ตั้งอยู่บนถนนวิเชียรชม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เปิดทำการในวันพุธ – วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น.และหยุดในวันจันทร์ – วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยชาวไทยเสียค่าธรรมเนียมในการเข้าชมคนละ 30 บาท และ ชาวต่างชาติคนละ 150 บาท ส่วนพระภิกษุ สามเณร นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ และผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เข้าชมได้ฟรี สอบถามเพิ่มเติม โทรศัพท์ (074) 311-728 ในเวลาทำการ

Related Posts

80 ยังแจ๋ว "ป้าตุ่น" ครีเอเตอร์รุ่นใหญ่ ไม่หยุดเรียนรู้ โชว์ทำขนมบนโซเชียล เป็นขวัญใจคนทุกเจน