“ทุนจีนถล่มตลาดไทย! Mixue-Wedrink-TEMU หั่นราคา โค่น SMEs ไทย ในยุคที่หุ้นร่วง เศรษฐกิจดิ่ง
การเข้ามาของทุนจีน ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เพียงแต่ใน พ.ศ. ที่หุ้นร่วง เศรษฐกิจเลว และการถาโถมเพิ่มจำนวนเข้ามาอย่างรวดเร็วของธุรกิจจีน นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนไปสู่ความย่อยยับของธุรกิจขนาดย่อมในประเทศไทย
การเริ่มต้นเปิดตัวในไทย เมื่อ 29 ก.ค. 67 แบบเงียบๆ ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีนอย่าง TEMU ผู้ที่เพิ่งเขย่าบัลลังก์ Amazon.com รวมถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอเมริกาให้สั่นสะเทือนมาแล้ว โดยการใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปี
ซึ่ง TEMU กำลังจะมาสร้างฝันร้ายให้เอสเอ็มอีไทยจำนวนมาก เพราะ TEMU ได้ชื่อว่า “ขายถูก” จนคนซื้อรู้สึกว่าตัวเองเป็นเศรษฐี ดังสโลแกนของธุรกิจที่บอกว่า “Shop Like a Billionaire”
แม้ไทยไม่ใช่ประเทศแรกๆ ที่ TEMU เปิดให้บริการ เพราะมีการเปิดให้บริการไปแล้ว 18 ประเทศทั่วโลก แต่การเข้ามาในช่วงเวลาเช่นนี้ ย่อมสะเทือนไม่น้อย นโยบายธุรกิจที่ชัดเจนของ TEMU คือ การตัดคนกลางออก เพื่อทำให้สินค้ามีราคาต่ำจนผู้บริโภคหวั่นไหว
การดีลตรงกับผู้ผลิตเพื่อนำสินค้าไปสู่ผู้ซื้อ ทำให้ส่วนต้องเสียให้คนกลาง กลายเป็นส่วนลดของผู้บริโภค การลดราคาค่าขนส่ง จูงใจผู้ซื้ออย่างมาก เพราะการซื้อสินค้าในปัจจุบันพบว่า บางสินค้าราคาไม่สูง แต่ค่าขนส่งกลับสูงกว่า หรือสินค้ารวมค่าขนส่งแล้ว ทำให้แพง
ก่อนหน้านั้น เมื่อช่วงต้นเดือน ชื่อของ Zhengxin Chicken Steak ไก่ทอดที่เริ่มต้นในราคา 15 บาท ทำเอาคนกินไก่ทอดหาดใหญ่ยังต้องลังเล และถ้าย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ร้านไอศกรีมเครื่องดื่มอย่าง Mixue และ Wedrink ก็เข้ามาบุกตลาดด้วยราคาจับต้องได้ที่ 15 บาทเช่นกัน ทั้งยังเร่งการขยายสาขาจนทำเอาร้านค้าไทยถึงกับซวนเซตามๆ กัน
ยังไม่นับว่า การเข้ามาบุกยึดล้งทุเรียนต่างๆ ให้กลายเป็นของทุนจีน ร้านหม่าล่าสารพัดแบรนด์ที่ขายเริ่มต้นกันที่ไม้ละ 5 บาท งานแสดงสินค้าในประเทศไทย ที่ตอนนี้บูธแสดงสินค้าบางงาน มีแต่ร้านของจีนเกือบทั้งงาน แทบทุกธุรกิจ กำลังได้รับผลกระทบจาก “ทุนจีน”
หลายย่านใน กทม. เช่น แถวห้วยขวาง รัชดา ดูเหมือนว่าเราตกเป็นประเทศราชของจีนไปเรียบร้อยแล้ว เพราะธุรกิจที่ป้ายชื่อไม่มีภาษาไทย ขึ้นอยู่เต็ม หัวยันท้ายถนน จนผู้ผ่านไปมา อาจเข้าใจผิดคิดว่ากำลังเที่ยวต่างประเทศ และตามตรอกซอกซอยต่างๆ ที่มีอพาร์ตเมนต์ เราเริ่มพบเห็นคนจีนอาศัยอยู่หนาตาขึ้น
ภาพเหล่านี้หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้อง ได้มองเห็นและตระหนักถึงภัยทางเศรษฐกิจบ้างหรือไม่ การเข้ามาลงทุนของต่างชาติเป็นเรื่องที่ดี หากการลงทุนนั้น ส่งผลดีต่อคนในชาติ เกิดการสร้างงานให้คนไทย ไม่ใช่คนจีนมาลงทุนธุรกิจ โดยใช้คนจีนมาบริการ สินค้ามาจากจีน ซื้อขายวัตถุดิบกันเองในหมู่คนจีน แต่ขายสินค้าสำเร็จรูปเพื่อรับเงินคนไทย แบบนี้เข้าข่ายการเบียดบังทรัพยากรที่ควรก่อเกิดประโยชน์กับคนไทย
กลยุทธ์ที่สำคัญของบรรดาธุรกิจจีนคือ “ราคาถูก” เป็นกลยุทธ์หลัก แม้เราจะมีความเชื่อว่า ของดีราคาถูกไม่มีจริงในโลก และสินค้าจีนมีคุณภาพด้อย แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจย่ำแย่เช่นนี้ ราคาย่อมเป็นสิ่งที่เร้าใจผู้บริโภคเสมอ และการตัดสินใจซื้อสินค้าราคาถูก ไม่ต้องใช้การตัดสินใจที่ซับซ้อน
การที่ธุรกิจใช้ กลยุทธ์ราคา หลายคนบอกว่าส่งผลดีกับผู้บริโภค เรื่องนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ ว่าราคาที่ลดลง ผู้บริโภคย่อมได้รับประโยชน์ แต่อย่าลืมว่า ภาพรวมของธุรกิจต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจใหญ่ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากธุรกิจของคนไทยได้รับผลกระทบ ภาครัฐก็ต้องเข้ามาโอบอุ้ม การจะมาแจกเงินกันทุกรัฐบาล คงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาประเทศ มีแต่จะทำให้เกิดปัญหาใหม่เพิ่มเข้าไป
การทำให้ธุรกิจรายเล็กๆ เดินหน้าไปได้ กลไกของเศรษฐกิจใหญ่ก็จะขับเคลื่อนไปด้วยกันอย่างแข็งแรง ภาครัฐควรเป็นผู้ส่งเสริมให้ธุรกิจทั้งเล็กใหญ่ในชาติแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรม จะได้ไม่ต้องมาโอบอุ้มแจกโน่นแจกนี่ แต่เอางบประมาณไปพัฒนาระบบหลักๆ ของประเทศ เช่น สาธารณูปโภคทั้งหลาย การขนส่งมวลชน ฯลฯ ให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจของภาคประชาชน
ผู้ประกอบการร้านอาหารทะเลรายหนึ่งในพื้นที่มหาชัย กล่าวถึงผลกระทบว่า คนจีนรับซื้ออาหารทะเลบางอย่าง แบบมีเท่าไหร่พร้อมรับหมด ทำให้ร้านค้าอาหารทะเลได้รับผลกระทบ เพราะร้านอาหารซื้อเพียงจำนวนพอขายในแต่ละวัน ทำให้คนขายก็ไม่อยากขายให้รายย่อยแบบนี้ หันไปขายให้คนจีนแทน นี่คืออีกภาพของผลกระทบที่เกิดกับหลายธุรกิจในลักษณะเดียวกัน อะไรที่คนจีนต้องการบริโภค คนไทยจะเริ่มเข้าถึงได้ยากขึ้น เพราะคนกลางอยากขายให้คนจีนมากกว่าคนไทย
จากทฤษฎีเดิม ที่กล่าวว่า สงครามราคา ควรเป็นสิ่งสุดท้ายที่คิดถึง เพราะไม่ก่อเกิดผลดีต่อธุรกิจ ควรใช้บริการที่ดีมาสร้างมูลค่าเพิ่มแทน หรือการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพดี เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่า ควรเลือก แม้ราคาสูงกว่าแต่คุณภาพและความคุ้มในระยะยาวมีมากกว่า
ปัจจุบัน พฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปเยอะมาก การนิยมซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้การบริการเป็นเรื่องไม่สำคัญเท่า “ราคา” ประกอบกับเศรษฐกิจโดยองค์รวมของประเทศดูย่ำแย่ และสร้างความไม่มั่นใจให้กับทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค การเลือกสินค้าที่ราคาถูก จึงกลายเป็นวิธีการตัดสินใจที่รู้สึกปลอดภัยในเชิงการเงินมากขึ้น และยังสามารถได้ของที่ต้องการอีกด้วย
ก่อนที่การแข่งขันระหว่างคนตัวเล็กกับทุนขนาดใหญ่ จะขยายวงกว้างสร้างผลกระทบไปยิ่งกว่านี้ ได้แต่หวังใจว่าภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะหันมามองอย่างจริงจัง และเข้าไปปกป้องด้วยมาตรการทางรัฐ อย่าพูดเพียงว่าเราเป็นประเทศแข่งขันเสรี เพราะความเสรีร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มีอยู่จริง แต่ความเสรีที่ทำให้ทุกขนาดของธุรกิจเดินหน้าไปด้วยกัน ควรต้องทำให้เกิดขึ้นจริง
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2024