เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
Featured การเงิน และการตลาด

กลุ่มลูกค้ายุคใหม่ เมินแบรนด์หรู ขอราคาดี คุณภาพโดน ดีกว่าสวยแต่รูปแล้วไม่ตอบสนองการใช้งาน

กลุ่มลูกค้ายุคใหม่ เมินแบรนด์หรู ขอราคาดี คุณภาพโดน ดีกว่าสวยแต่รูปแล้วไม่ตอบสนองการใช้งาน

ชาว “ฟิจิทัล (Phygital)” เป็นชื่อเรียกกลุ่มลูกค้า ที่จะกลายมาเป็นกำลังซื้อสำคัญของโลก ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือ Marketing 6.0 ของปรมาจารย์การตลาดระดับโลก ฟิลิป คอตเลอร์

ลูกค้ากลุ่มนี้กำลังเติบโตขึ้นมา เข้าสู่วัยทำงาน เมื่อทำงาน มีเงินใช้ ย่อมกลายมาเป็นบุคคลสำคัญในทางการตลาดทันที แต่คนกลุ่มนี้ อาจไม่ใช่คนที่จะค้าขายกับพวกเขาแบบเดิมได้อีกต่อไปแล้ว เพราะพวกเขามีความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างไปจากลูกค้ากลุ่มใหญ่ในปัจจุบันอย่างมาก

ฟิลิป คอตเลอร์ พูดถึงคน Generation Z และคน Generation Alpha ที่หลอมรวมกันเป็นชาว “ฟิจิทัล” เพราะคน 2 Gen นี้เขาไม่เห็นเส้นแบ่งทางกายภาพ (Physical) และดิจิทัล (Digital) และเป็นพวกที่กำลังดำดิ่งเข้าไปสู่โลกแห่งการหลอมรวมระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือน ที่เรียกว่า “เมตาเวิร์ส”

ย้อนกลับไปที่คนแต่ละ Gen กันก่อน ปัจจุบันคน Gen Baby Boomer อายุผ่านวัยเกษียณไปหมดแล้ว น่าจะเรียกได้ว่าเข้าสู่วัยผ้าอ้อม อาหารเสริม กันหมดแล้ว ขณะที่คน Gen X จะเริ่มเข้าสู่วัยรับเบี้ยคนชรารุ่นแรกในปีหน้า ดังนั้น คนที่เป็นกำลังซื้ออันสำคัญในตลาด ณ เวลานี้ คือคน Gen Y

การศึกษาเรื่องพฤติกรรมของคนแต่ละ Gen เป็นแนวทางที่นักการตลาดนำมาใช้กำหนดแนวทาง เพื่อสร้างกลยุทธ์การตลาด ให้เข้าถึงลูกค้าเป้าหมายได้ไม่พลาด รวมไปถึงกลยุทธ์ในการสื่อสารการตลาดด้วย

ปัจจัยสำคัญในการทำตลาดยุคนี้ คงหนีไม่พ้น “การสื่อสาร” กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ที่เราเรียกว่า “การสื่อสารการตลาด” เมื่อมีการสื่อสาร “สื่อ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้นำพา “สาร” จึงสำคัญมาก ถ้าไม่มี “สื่อ” การสื่อสารก็ล้มเหลว และสื่อในยุคนี้ มักหนีไม่พ้น สื่อที่อยู่บนเทคโนโลยี สื่อที่พึ่งพาระบบอินเทอร์เน็ต

ถ้าเราขีดเส้นแบ่ง ระหว่าง สื่อดั้งเดิมที่เราคุ้นเคย ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ ฯลฯ กับสื่อยุคปัจจุบันที่เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ เริ่มมาตั้งแต่เว็บไซต์ ถึงในปัจจุบันที่เราคุ้นเคย Facebook YouTube TikTok LINE ฯลฯ ก็ทำให้แบ่งคนแต่ละ Gen ออกไปด้วย Baby Boomer และ Gen X ก็คงคุ้นชินกับสื่อดั้งเดิม คน Gen Z และ Gen Alpha เกิดมาท่ามกลางสื่อดิจิทัล แล้วก็มีคน Gen Y ที่อยู่ตรงกลาง

พูดง่ายๆ คนรุ่นก่อน คุ้นชินกับโลกทางกายภาพ ขณะที่คนรุ่นใหม่ คุ้นชินกับโลกดิจิทัลมากกว่า แต่สิ่งที่โลกกำลังเป็นไป ตามมุมมองของคอตเลอร์ โลกเข้าสู่การเป็นเมตาเวิร์ส ที่หลอมรวมเอาโลกจริงทางกายภาพเข้ากับโลกมายาของดิจิทัล จนกลายเป็นโลกเสมือน ที่ผู้คนเริ่มแยกไม่ออกว่าอันไหนจริง อันไหนปลอม เพราะเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสร้างสิ่งนั้น สร้างที่ปลอมให้ดูสมจริงสุดๆ ได้

ถ้าสงสัยว่า แล้วเกี่ยวยังไงกับ “การตลาด”

นึกภาพนี้ตามนะครับ ภาพของลูกค้าวัยรับเบี้ยคนชรา อยากซื้อเสื้อ สิ่งที่ต้องการคือ การไปลองเสื้อที่ร้าน หมุนดูกระจก จนพึงพอใจ ได้สัมผัสเนื้อผ้า ได้ตรวจดูรอยตะเข็บ เช็กดูนี่โน่นนั่น สารพัด ก่อนตัดสินใจซื้อ

แต่ชาวฟิจิทัล เขาเติบโตมากับดิจิทัล เขาคุ้นชินกับเทคโนโลยี เขาไม่รู้สึกแปลกแยกกับโลกจริงที่ทับซับซ้อนกับโลกเสมือน การซื้อเสื้อสักตัว คงไม่ต้องเสียเวลาไปลองถึงร้าน ไปสัมผัส ไปจับต้อง เพราะโลกเสมือนจะทำให้เขาสามารถลองเสื้อ (แบบเสมือน) แล้วส่องกระจกดูความพึงพอใจ ด้วยเสื้อแห่งโลกเสมือนนั้นได้ ไม่ต้องสัมผัสเนื้อผ้าเอง เพราะการค้นหาข้อมูลเรื่องนี้ มีมากพอให้เข้าใจได้ อีกทั้งข้อมูลรีวิว ช่วยให้ยืนยันได้ว่า ควรซื้อหรือไม่

เห็นไหมครับว่า ความแตกต่าง ในการทำให้ซื้อสิ่งเดียวกัน ของคนต่าง Gen ย่อยแตกต่างกันไปด้วย

การเตรียมรับมือ กับลูกค้าชาวฟิจิทัล คงต้องเริ่มกันที่ มาทำความเข้าใจพวกเขาให้มากขึ้น เพราะชาวฟิจิทัลทั่วโลกมีรวมกันมากกว่า 4,000 ล้านคน ถือเป็นตลาดใหญ่ที่รออยู่ พวกเขาดูผิวเผินอาจคล้ายคน Gen Y เพราะคุ้นเคยกับอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี แต่คน Gen Y มองว่าอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกบางอย่าง ผิดกับชาวฟิจิทัล ที่อินเทอร์เน็ตคือ “ส่วนหนึ่งของชีวิต” เพราะชีวิตพวกเขาจมอยู่กับอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา

ความเป็นนักค้นคว้าหาข้อมูล เป็นเรื่องปกติของชาวฟิจิทัล พวกเขาให้ความสำคัญกับสิ่งที่ตรงกับจริตของตัวเองเท่านั้น พวกเขาสนใจ “ความจริง” มากกว่าการ “สร้างภาพ” นักการตลาดเดือดร้อนสิครับ ประเภทที่เคยสร้างภาพให้เป็นแบรนด์หรูดูวิเศษ กล่อมคนกลุ่มนี้ไม่ได้แล้วครับ เขาสนใจประโยชน์มากกว่าภาพในสายตาคนอื่น

ราคาดี คุณภาพโดน สำคัญกว่าหน้าตาทางสังคม ความโดดเด่นด้านการใช้งานเหนือกว่าสวยแต่รูปแล้วไม่ตอบสนองการใช้งาน

ชาวฟิจิทัล ชื่นชอบการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ชีวิต ดังนั้น สิ่งที่จะตรึงใจพวกเขาได้คือ การเป็นแบรนด์ที่สร้างประสบการณ์ใหม่ได้ ความสมเหตุสมผลจากประสบการณ์ สำคัญกว่าการสร้างความหวือหวา แต่ว่าแพงเกินเหตุ หรือไม่ตอบโจทย์การใช้งาน

ในอดีต เวลาพูดถึงพฤติกรรมผู้บริโภค กลุ่มสังคม มีอิทธิพลกับผู้บริโภคค่อนข้างมาก แต่ชาวฟิจิทัลไม่สนใจแรงกดดันจากกลุ่มสังคม พวกเขามองความสอดคล้องกับค่านิยมส่วนตัวเป็นหลัก อาจรวมไปถึงการให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่ทำตัวเป็นคนดีของสังคม รับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค พวกเขาอยากให้การสนับสนุน

พวกเขาชอบมีปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มเล็กๆ ที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน มากกว่าการพยายามเข้ารวมกลุ่มกับสังคมใหญ่ จึงดูเหมือนพวกเขาเป็นแนว Introvert อยู่ไม่น้อย

ขณะที่คน Gen อื่น มองเรื่องภาพลักษณ์ตัวตน เป็นเรื่องที่ควรปรากฏตามเป้าหมาย วัตถุประสงค์ ของแต่ละสื่อแต่ละแพลตฟอร์ม แต่คนฟิจิทัลห่วงภาพลักษณ์ตัวเองในโลกดิจิทัลอย่างมาก ถึงขั้นสร้างตัวตนสมมติขึ้นมา เพื่อหวังสร้างภาพลักษณ์ในแบบที่ตนเองต้องการ

ในมุมของการสื่อสารการตลาด โฆษณาแบบเดิมๆ ที่บรรจงสร้างมาอย่างดี กลับไม่เป็นที่ชื่นชอบของชาวฟิจิทัล ที่นิยมชมชอบความ “เรียล” ไม่ชอบของปรุงแต่ง โฆษณาที่มาจากคอนเทนต์ของผู้ใช้งานจริง ถ่ายจริงๆ ไม่ต้องจัดฉาก จัดแสง โดนใจมากกว่า

พอเห็นภาพคร่าวๆ หรือยังครับ ว่าการเข้าถึงคนกลุ่มใหม่ชาวฟิจิทัล อาจถึงขั้นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำตลาดที่เคยทำมาทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การตลาดเป็นเรื่องที่เอาใจใครทั้งโลกไม่ได้ หากธุรกิจของเรายังยึดมั่นกับลูกค้ากลุ่มเดิม การปรับเปลี่ยนอาจยังไม่จำเป็น แต่หากเราต้องการคนรุ่นใหม่มาเป็นลูกค้าด้วย การทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ และการเตรียมตัวรับมือคงต้องเริ่มแล้วในเร็ววัน…

Related Posts

เปิดจักรวาล Karun! ปั้นแบรนด์น้องใหม่ เจริญสังขยา, Summer Bowl และ Avery Wong ปี 66 รายได้รวม 100 ล้านบาท  
เปิดเทรนด์ผู้บริโภคยุคนี้ ไม่เน้นถูกสุด แต่ต้อง ‘คุ้มสุด’