เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
Featured การเงิน และการตลาด

เจาะเทรนด์โลก 2025 ส่องพฤติกรรมแต่ละเจน แบรนด์ต่างๆ ควรรู้ ปรับตัวอย่างไรมัดใจให้ถูกเจน

เจาะเทรนด์โลก 2025 ส่องพฤติกรรมแต่ละเจน แบรนด์ต่างๆ ควรรู้ ปรับตัวอย่างไรมัดใจให้ถูกเจน

ในปี 2025 ถือเป็นปีที่เป็นจุดตัดของปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์สำคัญ ที่จะนำไปสู่การใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ อาจมีความซับซ้อน มีการแบ่งแยก เพื่อความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ทั้งในเรื่องของรสนิยม ความชอบ วัฒนธรรม รวมไปถึงการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ (AI) 

แต่ถึงอย่างไร โลกยังคงประสบกับวิกฤตทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเรียนรู้สภาวะตลาดและผู้บริโภคที่ไม่เสถียร โดยทาง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ได้จัดทำอีบุ๊ก ในประเด็นที่ว่า เจาะเทรนด์โลก 2025 : BEYOND IMAGINATION เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางความคิด โดยมีประเด็นที่หลากหลาย

ในส่วนของประเด็นที่เส้นทางเศรษฐีออนไลน์จะหยิบยกขึ้นมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ คือ ประเด็นเกี่ยวกับ GENERATION คือ กลุ่มของคนที่เกิดในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน และมีประสบการณ์ วัฒนธรรม สังคม หรือเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกัน เช่น Generation X, Generation Y เป็นต้น

GENERATION เมื่อนำมาผูกกับธุรกิจ นั้นมีความหมายที่หลากหลายและซับซ้อน เพราะไม่ใช่แค่การแบ่งกลุ่มคนตามช่วงอายุ แต่ยังหมายถึงความคิด ความเชื่อ พฤติกรรม และความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมาก เจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการต้องศึกษาเกี่ยวกับเทรนด์ของ GENERATION แต่ละแบบ เพื่อปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจของคุณได้ โดยมีอยู่ด้วยกัน 6 GENERATION ดังนี้

1. BABY BOOMER (เบบี้บูมเมอร์)

จากรายงานของสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ปี 2050 จะมีจำนวนผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าผู้ที่มีอายุ 15-24 ปี เนื่องจากอัตรการเกิดน้อยลง ด้วยปัจจัยทางการแพทย์และองค์ความรู้จากงานวิจัยด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย อาจทำให้มีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าในปัจจุบันถึง 2 เท่า 

กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ยังถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่เข้าใจเทคโนโลยีช้าที่สุด แต่รู้หรือไม่ว่า เป็นผู้บริโภคที่มีสัดส่วนมากที่สุดในสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟน โดยเฉพาะนาฬิกาที่เป็นอุปกรณ์เกี่ยวข้องกับข้อมูลตรวจจับสุขภาพ เติบโตอย่างต่อเนื่องในกลุ่มนี้

ผลสำรวจจาก Demandsage ชี้ว่า ธุรกิจในสหรัฐอเมริกายังคงมีเจ้าของเป็นกลุ่มเบบี้บูมเมอร์กว่า 54% และมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ในวัย 70 ปีขึ้นไป รวมถึงธุรกิจขนาดเล็ก และโอนสิทธิ์ให้รุ่นมิลเลนเนียลเข้ามาบริหารองค์กร ซึ่งเบบี้บูมเมอร์เหล่านี้มักจะชอบให้คำแนะนำทางการเงินและการบริหารบุคลากร 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจในยุคนี้มักจะให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้บริโภคมิลเลนเนียลและเจนซี แต่ลืมไปว่า ผู้บริโภคที่มีกำลังทรัพย์และต้องการสินค้าที่มีคุณภาพยิ่งกว่าคือ BABY BOOMER

2. X (เจนเอกซ์)

กลุ่มเจนเอกซ์เป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจ เพราะว่าแม้พวกเขาจะเกิดและเติบโตมาจากครอบครัวที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการประหยัดและอดออม แต่ทุกวันนี้เจนเอกซ์จัดอยู่ในกลุ่มของผู้บริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยในระดับพรีเมียมเป็นอันดับต้นๆ เพราะพวกเขาเข้าใจในเรื่องของความคุ้มค่าที่แท้จริง เพราะไม่เพียงแต่เรื่องราคา แต่ยังรวมไปถึงการสร้างประสบการณ์ที่มอบคุณค่าที่ดีกว่าได้ เรียกได้ว่า กลุ่มเจนเอกซ์เป็นกลุ่มนักช้อปที่รอบคอบและมีความฉลาดด้านการเงิน

จากการสำรวจแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงเจนเอกซ์กำลังมองหาการนำเสนอความงามแบบวัยกลางคนมากขึ้น เปิดโอกาสให้แบรนด์ต่างๆ สามารถลงทุนในผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้รับการคัดสรรและเหมาะกับช่วงวัย

เจนเอกซ์นับเป็นฐานผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในตลาดความงาม และได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้บริโภคที่มีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

3. MILLENNIALS (เจนวาย)

Tri-life Crisis ภาวะกดดันของคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป เกิดขึ้นได้ทั้งชายและหญิง ส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่มีอายุ 34-37 ปี โดยมีความเครียดเกี่ยวกับงาน การผ่อนบ้าน การแต่งงาน และการมีลูก ความสำเร็จเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้กลายเป็นขุมทรัพย์ที่ทรงพลังที่ใช้ในการขับเคลื่อนชีวิตของมิลเลนเนียล

สำหรับแบรนด์ที่จะซื้อใจชาวมิลเลนเนียลได้นั้น จะต้องเข้าใจถึงความอ่อนไหวที่พวกเขากำลังเผชิญ อย่างประเทศอังกฤษ มีหลานแบรนด์ที่ให้ส่วนลดเดือนเกิดตลอดทั้งเดือน หรือมีของขวัญสำหรับผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป เพิ่อเฉลิมฉลองการเข้าสู่วัยกลางคน 

จากงานวิจัย พบว่า มิลเลนเนียลเป็นรุ่นที่หย่าร้างมากที่สุด สินค้าและบริการด้านสุขภาวะ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง เพราะชาวมิลเลนเนียลให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาวะโดยเฉพาะการพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละสัปดาห์ รายงานจาก eMarketer ชี้ว่าผู้บริโภคชาวมิลเลนเนียลจำนวน 45 ล้านคนเก็บเงินและใช้งานดิจิทัลวอลเล็ตเป็นประจำ และเป็นลูกค้า BNPL (Buy Now Pay Later) หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” มากที่สุดถึง 36% และเป็นผู้บริโภคที่จ่ายเงินผ่อนตรงต่อเวลาอีกด้วย

4. ZER (เจนซี)

พฤติกรรมของเจนซี รู้สึกว่าโซเชียลไม่ได้ทำให้ความเหงาน้อยลง แต่จะกระตุ้นให้เหงาและมีเวลาพักผ่อนน้อยลง เจนซี วัย 18-22 ปี ในสหรัฐอเมริกา ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2025 จะต่อสู้กับความรู้สึกโดดเดี่ยว โดยการคิดแพลนท่องเที่ยว เข้าร่วมกิจกรรมทางท้องถิ่น เข้าถึงวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มมากขึ้น 

สำหรับร้านคาเฟ่ อย่าง Happy Medium ในนิวยอร์ก เป็นมากกว่าร้านคาเฟ่ มีการให้บริการเมนูจัดทำเวิร์กช็อปแทนรายการอาหาร เน้นสร้างผลงานร่วมกันของผู้ที่ชื่นชอบศิลปะหรือต้องการมาพบปะกัน

เจนซีบางส่วนกำลังเผชิญกับภาวะ First Job Crisis ต้องปรับตัวเข้ากับสังคมและการทำงาน หลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้เจนซีเป็นกลุ่มที่ถูกคัดออกจากการทำงานเป็นอันดับต้นๆ จึงทำให้พวกเขาไม่มีความมั่นใจในฐานะทางการเงินของตนเอง อีกทั้งเหล่าเจนซียังคงค้นหาความสนใจและมีเป้าหมายความสุขจากกิจกรรมวันต่อวัน โดยหารายได้จากการเป็นครีเอเตอร์ ติ๊กต๊อกเกอร์ และอินฟลูเอนเซอร์บนสื่อโซเชียล 

สำหรับสินค้าที่เจนซีจะจ่าย ต้องสมเหตุสมผลทั้งด้านราคาและคุณภาพ พวกเขายินดีจ่ายให้กับสินค้าประเภทแก็ดเจ็ต สมาร์ทโฟน อุปกรณ์สตรีมมิง รวมไปถึงแอปพลิเคชันประเภทเกม รายได้ของ YPulse ชี้ว่าเด็กยุโรปอายุ 13-22 ปี ใช้แชตบอตของ Open AI มากถึง 42% ทำให้เจนซีเป็นลูกค้าคนสำคัญอันดับต้นๆ ของแพลตฟอร์ม ChatGPT

5. ALPHA (เจนอัลฟา)

ในปีนี้ ประชากรเจเนอเรชันอัลฟาจะมีจำนวน 2.2 พันล้านคน ถือเป็นเจนที่มีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ภายในปี 2030 เจนอัลฟารุ่นแรกจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ (อายุ 20 ปี) และก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน แบรนด์ต่างๆ จะต้องลำดับสิ่งที่เจนอัลฟาให้ความสำคัญ โดยครอบคลุมถึงเงื่อนไขในวัยเด็ก คาดการณ์ว่า 65% ของเจนอัลฟาจะทำงานในตำแหน่งที่ไม่มีอยู่ในปัจจุบัน มีเพียง 50% ของเจนนี้ที่คาดว่าจะสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และอาจหันไปทำงานสายอาชีพเพื่อสร้างความมั่นคงในสาขางานที่ทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติไม่ได้

เจนอัลฟาจะเป็นผู้ขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ โดยเลือกประกอบอาชีพด้านสุขภาพจิต และความเป็นอยู่ที่ดี เพราะพวกเขาเติบโตมากับการตระหนักถึงผลเสียของโลกแห่งความรีบเร่งและสภาพแวดล้อมที่เคร่งเครียดเป็นอย่างดี

เจนอัลฟาถูกนิยามว่าเป็นเจเนอเรชันแห่งการถดถอย จากอัตราการอ่านออกเขียนได้ที่ลดลง ครอบครัวและแบรนด์จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมสร้างแหล่งข้อมูลการอ่านเพื่อลดช่องว่างทางการเรียนรู้ แบรนด์อาจสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้สำหรับผู้ปกครองและเด็กที่ห้องสมุดท้องถิ่นหรือศูนย์ชุมชน 

แม้อายุการเริ่มต้นใช้อินเทอร์เน็ต จะเริ่มในช่วงวัย 13 ปี แต่ 40% ของเจนอัลฟาเริ่มใช้งานอินเทอร์เน็ตในช่วงอายุ 8-12 ปี และอัลฟลูเอนเซอร์ก็เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ให้กับแบรนด์ต่างๆ โดยแบรนด์ต่างๆ ควรตระหนักรู้และร่วมจัดการกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก ส่งเสริมการดูแลด้านดิจิทัล และสร้างพื้นที่ดิจิทัลที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับอินฟลูเอนเซอร์และอัลฟลูเอนเซอร์ (Alphuencers)

6. BETA (เบต้า)

เจเนอเรชันเบต้า คือกลุ่มประชากรใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2025-2039 และพร้อมที่จะรับช่วงต่อโลกที่ถูกหล่อหลอมมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และบรรทัดฐานทางสังคมที่เปลี่ยนไป โดยภายในปี 2035 เจนเบต้าจะมีจำนวน 16% ของประชากรโลกซึ่งมีแนวโน้มเป็นเจนที่มีจำนวนน้อยที่สุด

การที่เจนเบต้าเกิดในโลกที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความแตกต่างจากรุ่นก่อน ทั้งในเรื่องของการโต้ตอบเทคโนโลยี การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม และมุมมองที่ไม่แบ่งแยก มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และยาวนานยิ่งขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญกับ AI เป็นหลัก ดังนั้น แบรนด์ที่เข้าใจปัจจัยของคนเจนนี้ในตอนนี้ ย่อมมีต้นทุนด้านความพร้อมที่จะแข่งขันกับผู้บริโภคในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

เจนเบต้าจะเป็นเจเนอเรชันที่มีความชาญฉลาดทางดิจิทัล เข้าใจถึงความเสี่ยงของดิจิทัลฟุตพรินต์เป็นอย่างดี พ่อแม่จึงปกป้องลูกเจนเบต้าอย่างเต็มที่ และมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้งานเป็นสำคัญ

สำหรับลักษณะของผู้บริโภคในปี 2025 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

ผู้บริโภคมีความไว้วางใจในสถาบันและองค์กรลดน้อยลง ตลอดจนแรงกดดันทางการเมืองและ เศรษฐกิจที่พุ่งสูงขึ้น เศรษฐกิจชุมชนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจที่เริ่มต้นจากกลุ่มคนตัวเล็ก

ธุรกิจค้าปลีกที่สร้างมูลค่าจากการมีหน้าร้านและโฆษณารูปแบบต่างๆ แต่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงภายในปี 2025 จะเกิดขึ้นในธุรกิจอีคอมเมิร์ซและระบบ UX (ระบบ UX ย่อมาจาก User Experience หมายถึง ประสบการณ์ของผู้ใช้ ที่ได้รับจากการใช้งานผลิตภัณฑ์หรือบริการใดๆ) ประสบการณ์ของผู้ใช้งานที่สอดคล้องกับคุณค่าที่กลุ่มผู้บริโภคแนวใหม่กำลังมองหา

ในปี 2025 ธุรกิจต่างๆ อาจถูกจำกัดพื้นที่โฆษณาหรือการมีหน้าร้านจริงให้น้อยลงได้ นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการสร้างจุดแข็งของธุรกิจออนไลน์ การพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ ตลอดจนการสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับธุรกิจในท้องถิ่น

ตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ โดยคาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตในปี 2027 เนื่องจากมีกลุ่มผู้บริโภคมองหาสิ่งที่ตอบโจทย์ตามความต้องการด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตนเองมากขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) 

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม หรือดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่ : tcdc 

Related Posts

กะละแมนครพนม