ปี 2024 “ยุคทองของอินฟลูฯ” ผู้ทรงอิทธิพลในโลกโซเชียล กลยุทธ์การตลาดที่แบรนด์ขาดไม่ได้
คำว่า “ยุคทองของอินฟลูเอนเซอร์” อาจจะดูกล่าวเกินจริงไปบ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปี 2024 นี้ อาชีพอินฟลูเอนเซอร์เป็นอาชีพที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดและมีบทบาทสำคัญในวงการธุรกิจ เพราะเปรียบเสมือนกลุ่มคนที่มีอิทธิพลในการกระตุ้นการตัดสินใจของผู้บริโภคได้อย่างเข้าถึงง่ายและตรงไปตรงมา เรียกได้ว่า เป็นอาชีพที่น่าจับตามอง
เหตุใดอินฟลูเอนเซอร์ถึงเป็นอาชีพที่มาแรง
สำหรับการเข้ามามีบทบาทของอินฟลูเอนเซอร์ อาจเล่าย้อนได้ว่า การระบาดของโควิด-19 เป็นช่วงที่ผู้คนยากลำบาก แต่สถานการณ์นั้นกลับกลายเป็นตัวเร่งที่ทำให้ผู้คนหันมาใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเป็นทางรอด ดังนั้น การเป็นอินฟลูเอนเซอร์จึงเป็นอีกช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายมากขึ้น และสร้างรายได้ที่เห็นได้ชัด
นอกจากเรื่องของโรคระบาดที่เข้ามาเป็นตัวเร่งแล้วนั้น ตลาดอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างรวดเร็วก็เป็นส่วนประกอบสำคัญ การซื้อขายสินค้าออนไลน์ต่างๆ ที่ใช้อินฟลูเอนเซอร์เข้ามาโปรโมต เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะมีอิทธิพลเพื่อดึงดูดความสนใจให้กับผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าและบริการนั้นๆ ได้
ในเรื่องความหลากหลายของแพลตฟอร์ม ที่มีโซเชียลใหม่ๆ เกิดขึ้น ทำให้มีทางเลือกในการสร้างคอนเทนต์ที่หลากหลายมากขึ้น
ในงานเติมเทรนด์ 2025 เซกชัน “เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคในปี 2025” โดยกูรูด้านการตลาด “คุณแอ๊ม-ศรัณย์ แบ่งกุศลจิต” เจ้าของเพจการตลาดการเตลิด ได้พูดถึงทิศทางของอาชีพ อินฟลูเอนเซอร์ ไว้ว่า
“เป็นปีที่ก้าวเข้าสู่ยุคของอินฟลูฯ ตัวเล็ก ความน่าเชื่อถือของเบอร์ใหญ่ลดลง
เมื่อปีที่แล้วแบรนด์อาจจะต้องใช้อินฟลูเอนเซอร์ตัวใหญ่ในการสร้างแบรนด์ให้ดูหรูหรา และยกระดับมากขึ้น แต่ตอนนี้เป็นการก้าวเข้าสู่ยุคของอินฟลูฯ ตัวเล็ก เพราะถ้าใช้อินฟลูฯ เบอร์ใหญ่เกินไป อาจจะทำให้ผู้บริโภคคิดว่าดูเข้าถึงได้ยาก
จึงทำให้คนหันไปจ้างอินฟลูฯ ที่มีจำนวนผู้ติดตามเพียงหลักพันคน แต่จ้างในจำนวนมาก หลากหลายช่อง เพราะคนจะมองถึงความสมเหตุสมผล และเชื่อถือในคนตัวเล็กๆ ระดับเดียวกันมากกว่า”
ประเด็นที่คุณแอ๊มได้กล่าวขึ้นมานั้น อาจเป็นเหตุผลที่มารองรับว่าทำไมผู้คนถึงผันตัวเองมาเป็นอินฟลูฯ กันมากขึ้น
ทำไมรายได้ของอินฟลูฯ ถึงพุ่งสูงขึ้น
อินฟลูเอนเซอร์ ถือเป็นกลยุทธ์การตลาดที่แต่ละแบรนด์ขาดไม่ได้ โดยมีปัจจัยหลายอย่างมากที่ทำให้รายได้หรือค่าตัวของเหล่าอินฟลูฯ พุ่งสูงขึ้น อาทิ ความน่าเชื่อถือ ที่ผู้บริโภคให้ความเชื่อถือและชื่นชอบมากกว่าโฆษณาแบบดั้งเดิม การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเฉพาะเจาะจงและมีประสิทธิภาพ คอนเทนต์เข้าถึงง่าย รวมถึงการเติบโตของอีคอมเมิร์ซและการมีแพลตฟอร์มที่หลากหลาย ที่เป็นโอกาสในการสร้างรายได้
จากข้อมูลที่ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ (อ่านข่าวฉบับเต็มได้ที่ prachachat) รายงานถึงภาพรวมของตลาดอินฟลูเอนเซอร์ในไทยและต่างประเทศ ดังนี้
ภาพรวมของตลาดอินฟลูเอนเซอร์ในไทย
– จำนวนครีเอเตอร์ Full-Time ในไทยมีมากถึง 2 ล้านคน
– ขนาดตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทย 4.5 หมื่นล้านบาท
– ตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทย เติบโตปีละ 25-30%
– ความนิยมของ Micro Influencer เพิ่มขึ้น (Micro Influencer เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่มีผู้ติดตามไม่นานนัก แต่สร้างคอนเทนต์ได้เป็นธรรมชาติ เป็นที่นิยมทั้งในหมู่ผู้ชมและแบรนด์)
ภาพรวมของตลาดอินฟลูเอนเซอร์ต่างประเทศ
– ขนาดตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์โลก 5.5 ล้านล้านบาท
– ในปี 2566 TikTok สร้างงานและรายได้ให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์ในฝรั่งเศส 5.5 หมื่นล้านบาท
– ในปี 2564 YouTube สร้างงานและรายได้ให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์ในฝรั่งเศส 2.6 หมื่นล้านบาท
– ปี 2567 เป็นปีที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั่วโลก เปลี่ยนมาทำงานแบบ Full-Time จำนวนมากที่สุด
จากสถิติข้างต้นชี้ให้เห็นว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์เป็นฟันเฟืองสำคัญที่มีความสัมพันธ์และอิทธิพลกับผู้บริโภค พฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ชอบรับข่าวสารและแสดงออกผ่านโซเชียลมีเดียมากกว่าสื่ออื่นๆ ทำให้นักการตลาดต้องโฟกัสและให้ความสำคัญกับการเลือกร่วมงานกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ มากขึ้นเรื่อยๆ
ตัวอย่างอินฟลูเอนเซอร์ไทยที่มาแรงแห่งปี 2024
ท่านเปา
1 คน 7 คาแร็กเตอร์! “ครอบครัวท่านเปา” สร้างสรรค์คลิปกระตุ้นอารมณ์ร่วม เข้าถึงคนทุกวัย โดยมุมมองของคุณเปาถึงเรื่องแนวคิดในการเป็นครีเอเตอร์ คือเน้นย้ำในเรื่องที่ควรจะเริ่มต้นจากความชอบและความถนัดของตัวเอง
“ถ้าเราชอบที่จะทำ เราอาจจะไม่ต้องพยายามมาก ลองมองหาสิ่งรอบตัวที่สามารถต่อยอดเป็นคอนเทนต์ได้ แล้วแสดงความเป็นตัวเองออกมาให้ชัดเจน ไม่ต้องพยายามเยอะ ลองค้นหาดูว่าตัวเราชอบอะไร ถนัดอะไร แล้วก็ลงมือทำ”
ด้วยคาแร็กเตอร์ที่โดดเด่น จนกลายเป็นที่จับตามองของแบรนด์ต่างๆ คุณเปาเองก็มีการเลือกรับสปอนเซอร์อย่างมีกลยุทธ์ โดยย้ำว่า เขาจะเลือกรับเฉพาะสินค้าที่เหมาะสมกับแนวคอนเทนต์ของช่อง เพื่อไม่ให้ดูเป็นการขายของมากเกินไป
“สปอนฯ ที่รับจะต้องลิงก์กับแนวคอนเทนต์ครอบครัวได้ ดูไม่ขายของเกินไป บางทีเจ้าของก็จะมีการรีเควสต์มาว่า ให้น้องปริมเป็นคนใช้ นี่ก็จะเป็นอีกหนึ่งกิมมิกเล็กๆ น้อยๆ เขาอาจจะเลือกได้ว่าอยากให้คนในครอบครัวคนไหนรีวิวสินค้าประเภทนี้”
อ่านข่าวฉบับเต็ม กว่าจะมาเป็น 1 คน 7 คาแร็กเตอร์ “ครอบครัวท่านเปา” สร้างอารมณ์ร่วม เข้าถึงคนทุกวัย
เสือร้องไห้
เสือร้องไห้ คือกลุ่มคอนเทนต์ครีเอเตอร์ชื่อดังของไทย ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกที่มีความสามารถหลากหลาย ทั้งนักดนตรี นักแสดง และผู้ผลิตคอนเทนต์ โดยมีสมาชิกหลักๆ ได้แก่ คัตโตะ ลิปตา, โค้ดดี้ (น้องชายของคัตโตะ), แน็ตตี้ และ เอ็ดดี้
เสือร้องไห้มีการสร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการรีวิวอาหาร การทดลองสิ่งใหม่ๆ หรือการพูดคุยเรื่องราวในชีวิตประจำวัน โดยใส่ความเป็นกันเองทำให้สนุกสนาน ผู้ชมรู้สึกเหมือนเป็นเพื่อนสนิท คอนเทนต์ของเสือร้องไห้ไม่เพียงแต่ให้ความบันเทิง แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมในการทำตามความฝันและไลฟ์สไตล์ของตัวเอง
เทพลีลา
เทพลีลา คือช่องยูทูบและเพจเฟซบุ๊กที่ก่อตั้งขึ้นโดย เหว่ง-ภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ และ เติ๊ด-ภูถิรพัฒน์ อ่องศรี สองหนุ่มอารมณ์ดีที่มักจะนำเสนอคอนเทนต์ที่หลากหลาย ด้วยสไตล์การนำเสนอที่เป็นกันเอง สนุกสนาน และแฝงไปด้วยสาระ ทำให้เทพลีลาได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนรุ่นใหม่
คอนเทนต์ของเทพลีลาเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่กล้าที่จะแสดงออกและสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง และเทพลีลาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าอาชีพคอนเทนต์ครีเอเตอร์เป็นอาชีพที่มีความน่าสนใจและสามารถสร้างรายได้ได้จริง
9arm
9arm หรือ ดร.ธนานนท์ ปฏิญญาศักดิกุล เป็นอินฟลูเอนเซอร์สายเทคโนโลยีที่โดดเด่นในประเทศไทย ด้วยความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ พร้อมลีลาในการนำเสนอที่สนุกสนานและเข้าใจง่าย ทำให้เขาเป็นที่รู้จักและชื่นชอบในวงกว้าง โดยสร้างช่อง YouTube ชื่อ 9arm เพื่อแบ่งปันความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีให้กับผู้คนทั่วไป นอกจากเรื่องเทคโนโลยีแล้ว 9arm ยังสร้างสรรค์คอนเทนต์อื่นๆ ที่หลากหลาย เช่น การรีวิวสินค้า การเล่นเกม และการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม
KP ตะลอนแหลก
KP ตะลอนแหลก หรือ แพร-กิตติ์ธัญญา เวชกุลไชยพงศ์ หนึ่งในอินฟลูเอนเซอร์สายกินชื่อดัง ที่มีผู้ติดตามมากมาย ด้วยวิธีการในการรีวิวอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ จนทำให้มีผู้ติดตามมากมาย และยึดการเป็นอินฟลูฯ มาทำเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่มั่นคง
ซ้อการ์ด
ซ้อการ์ด หรือ ณัฐชยานันท์ สุขวัฒนพร เจ้าของช่อง TikTok ที่มีผู้ติดตามเกือบ 10 ล้านคน และเป็นผู้สร้างสถิติ ไลฟ์สดขายของ 33 นาที สร้างยอดขายทะลุ 12 ล้านบาท และปิดจบที่ 40 นาที ยอดขายทะลุ 25 ล้านบาทเลยทีเดียว ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ เริ่มต้นจากการเป็นผู้หญิงธรรมดาๆ ที่มีความมุ่งมั่นและความคิดสร้างสรรค์ จนสามารถสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาได้อย่างแข็งแกร่ง จนกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างในฐานะอินฟลูเอนเซอร์และเจ้าของแบรนด์สกินแคร์ชื่อดังอย่าง Love Potion
อย่างไรก็ตาม อาชีพอินฟลูเอนเซอร์ยังคงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจและน่าจับตามอง และเป็นอาชีพทรงอิทธิพลอย่างมากในยุคนี้ เพราะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ได้จริง และสามารถโน้มน้าวใจของคนดูให้เกิดการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการได้ง่ายขึ้น จึงเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างหนึ่งที่แต่ละแบรนด์ต้องให้ความสำคัญ
สำหรับทิศทางสายอาชีพของอินฟลูฯ ในปี 2025 นั้น เรียกได้ว่าเป็นปีที่ก้าวเข้าสู่ยุคของอินฟลูฯ ตัวเล็ก จนมีผลกระทบให้ความน่าเชื่อถือของเบอร์ใหญ่ลดลง Micro Influencer จะได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ด้าน Macro Influencer (บุคคลที่มีผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดียตั้งแต่ 100,000 คนขึ้นไป หรือคนตัวใหญ่) อาจเป็นเป้าหมายรองลงมาจากกลุ่ม Micro Influencer
สำหรับผู้ที่อยากจะผันตัวเองมาเป็นอินฟลูฯ จะต้องมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แต่ก็มีความท้าทายไม่น้อย ด้วยเป็นอาชีพที่มีการแข่งขันที่สูง ดังนั้น หากจะทำอาชีพนี้จริงๆ ต้องศึกษาทิศทางในการทำคอนเทนต์ มีความพร้อมและเตรียมตัวดี ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ได้