“สอนลูกน้องให้คิดแบบเถ้าแก่” การบริหารสไตล์ “ดองกิ” หนึ่งในกลยุทธ์ยอดขายโตติดต่อกัน 33 ปี ทั้งพนักงานประจำหรือพาร์ตไทม์ ก็สามารถสั่งซื้อสินค้าเข้าร้านเองได้
DONKI (ดองกิ) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ Don Quijote เป็นร้านค้าปลีกชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น ที่โดดเด่นด้วยสินค้าหลากหลายชนิดในบรรยากาศที่คึกคักและมีสีสันสดใส เหมือนเดินเข้าไปในโลกแห่งความสนุกสนาน
แต่ทุกคนรู้หรือไม่ว่า แบรนด์ดองกิ เป็นหนึ่งแบรนด์ที่ผู้บริหารมีแนวคิด หรือกลยุทธ์ในการบริหารพนักงานที่แปลกและแตกต่างไปจากแบรนด์อื่นๆ แต่ในความแปลกนี้ ทำให้ดองกิ มียอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 33 ปี และขยายสาขาไปมากกว่า 600 สาขาทั่วโลก

เป็นร้านค้าที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ก่อตั้งโดย คุณทาคาโอะ ยาสุดะ เมื่อปี 1980 และมีการเปลี่ยนเปลงเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 1989 เป็นร้านที่เกิดจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ เป็นร้านค้าธรรมดาทั่วไป แต่เล็งเห็นโอกาสว่าในญี่ปุ่นมีซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่ง จึงอยากหาข้อแตกต่างที่จะดึงดูดลูกค้าได้ โดยมองหาตลาดของคนที่ทำงานกลางคืน เลิกกะดึก จึงผันตัวเองมาเป็นร้านที่เปิด 24 ชั่วโมง และขายในราคาย่อมเยา
ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่ทำให้ลูกค้าเกิดความสนใจและเลือกเข้ามาใช้บริการคือ การจัดร้าน ด้วยเป็นร้านที่ขายสินค้าราคาถูก จึงจัดสินค้าให้ดูแน่นๆ เวลาเดินสวนกันอาจจะลำบากนิดหนึ่ง แต่รูปแบบการจัดร้านดังกล่าว ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าน่าค้นหาและให้ความรู้สึกว่าที่นี่สินค้าราคาถูกจริงๆ
อีกหนึ่งจุดที่นักการตลาดที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญคือ การทำป้าย POP เวลาไปตามร้านที่ญี่ปุ่น มักจะมีป้ายที่เขียนแนะนำสินค้า โดยบอกรายละเอียดที่ลูกค้าอาจสงสัย อาทิ สินค้าคือชาเขียว ก็จะบรรยายสรรพคุณว่ามีข้อดีอย่างไร ช่วยในเรื่องใดบ้าง ป้ายเล็กๆ นี้จะเป็นตัวช่วยในการโฆษณาสินค้า ทำให้สินค้านั้นๆ เด่นขึ้น และใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อของลูกค้าอีกด้วย
จากเนื้อหาข้างต้นเป็นเพียงหนึ่งในกลยุทธ์ที่ทางแบรนด์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ แต่ยังมีประเด็นที่ทำให้ดองกิยอดขายเติบโตขึ้นติดต่อกัน 33 ปี สำหรับเคล็ดลับที่แท้จริงที่จะนำมาเสนอในบทความนี้ คือ ดองกิทำอย่างไรให้ลูกน้องคิดแบบเจ้าของเลยจริงๆ โดยมีการบริหารพนักงานดังนี้
ระบบมอบอำนาจ
แบรนด์ดองกิ ได้นำระบบมอบอำนาจนี้เข้ามาปรับใช้ โดยให้พนักงานหน้าร้านทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างอิสระ โดยสิ่งที่พนักงานสามารถทำได้มีดังต่อไปนี้
การจัดร้านและการจัดชั้นวางสินค้า จะไม่มีกฎระเบียบตายตัว พนักงานทุกคนมีสิทธิออกความเห็น
สามารถสั่งซื้อสินค้าเข้าร้านเองได้ โดยปกติร้านทั่วไปจะสั่งสินค้ามาทีละเยอะๆ แล้วจะกระจายสินค้าไปตามสาขาต่างๆ ของก็จะเหมือนๆ กัน แต่สำหรับดองกิ แต่ละสาขาจะไม่เหมือนกัน สินค้าจะมีความแตกต่างกันค่อนข้างเยอะ โดยสังเกตลูกค้าว่าโซนนี้จะเป็นลูกค้าแบบไหน ก็จะสั่งซื้อสินค้าต่างๆ เข้าร้านเพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด
การตั้งราคาสินค้า พนักงานสามารถตั้งราคาสินค้าเองได้ด้วยหากเห็นว่าเหมาะสม โดยไม่ต้องรอฝ่ายจัดซื้อเข้ามาตั้งราคาให้
พนักงานพาร์ตไทม์ ก็มีโอกาสทำ ไม่เพียงแค่พนักงานประจำเท่านั้น พนักงานพาร์ตไทม์ก็มีโอกาสในการเสนอไอเดียร่วมด้วยเช่นกัน
ดองกิสาขาใน Shibuya 70% ลูกค้าจะเป็นคนต่างชาติ สินค้าที่มีเยอะจะเป็นทางด้านของขนม ของฝากต่างๆ และจะมีโซนที่ใหญ่มากคือ โซนกระเป๋าเดินทาง เพราะบางคนช้อปสินค้าจนต้องซื้อกระเป๋าใหม่ หรือในส่วนของดองกิที่ตั้งอยู่ใน Akabane โดยย่านนี้จะเป็นร้านกินดึกค่อนข้างเยอะ สินค้าขายดีก็จะแตกต่างออกไป
ดังนั้น พนักงานที่นี่จะต้องมีกระบวนการคิดที่มาก เพราะทั้งหมดนี้จะเกิดจากที่พนักงานหน้าร้านคอยสังเกตพฤติกรรมลูกค้าและเลือกสินค้าที่ลูกค้าน่าจะสนใจมาขายในร้าน
หลายคนอาจสงสัยว่า มอบอำนาจให้พนักงานอย่างอิสระอย่างนี้ แล้วจะกระตือรือร้นหรือไม่ ทางดองกิเองก็จะมีระบบการประเมินและให้ผลตอบแทนอย่างชัดเจน โดยจะประเมินในทุกๆ เดือน โดยไม่ใช่เพียงแค่หัวหน้าประเมิน แต่จะให้พนักงานทุกคนประเมินเพื่อนร่วมงานด้วยกัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นไปตามความจริง
นอกจากการให้ความอิสระแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทางแบรนด์ให้ความสำคัญคือ การวางปรัชญาของบริษัท มีการอบรมให้พนักงานเกิดความเข้าใจถึงแก่นปรัชญาจริงๆ โดยจะแจกหนังสือ 1 เล่มคือ The Source เป็นปรัชญาขององค์กร โดยในเนื้อหามีกฎหลักอยู่คือ
“สิ่งสำคัญพื้นฐานไม่ว่าเราจะสั่งสินค้ามาจัดตั้งราคาอย่างไร ต้องให้ความสำคัญกับลูกค้ามากที่สุด”
สำหรับการคัดคนเข้ามาทำงานในองค์กร เขามองว่า การไม่ต้องทำตามกฎ ไม่ต้องทำตามคู่มือ มันเป็นสิ่งที่ดี มันเป็นการสร้างอนาคตที่สร้างสรรค์ นี่เป็นความเชื่อของแบรนด์ จึงทำให้ได้พนักงานที่ชอบคิดชอบทำเข้ามาร่วมทีม
คุณสมบัติสำคัญของพนักงาน จะต้องมี DNA ที่ตรงกันและเข้าใจในองค์กร โดยดองกิจะมี DNA อยู่ 4 ข้อ คือ
1. ตนเองเป็นต้นเหตุ เวลาเกิดปัญหาอะไรก็ตาม อย่าไปโยนความผิดว่าเป็นคนอื่น แต่ให้เริ่มจากตัวเราก่อนว่าตัวเราเองสามารถลงมือทำอะไรได้บ้าง และมองเห็นถึงปัญหาอะไรแล้วจะมีวิธีการจัดการแก้ไขอย่างไรบ้าง
2. ยอมรับความหลากหลาย พนักงานแต่ละคนอาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกัน ให้ยอมรับความหลากหลายกันมากขึ้น
3. มีแนวคิดแบบ AND มองเห็นไอเดียของเพื่อนๆ หากดี ไอเดียนี้เราสามารถนำมาต่อยอดอะไรได้บ้าง
4. ล้มแล้วลุก ที่ดองกิมีการประเมินค่อนข้างโหด พนักงานมีโอกาสที่จะได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นและมีโอกาสที่จะได้รับการเลื่อนลงเช่นเดียวกัน แต่ที่แห่งนี้มองว่าการถูกลดตำแหน่งเป็นเรื่องปกติ ทำให้พนักงานมีความกล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ มากขึ้น
สำหรับแนวคิดในการบริหารองค์กรแบบฉบับของดองกิ ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ต่างๆ ตามมามากมาย อาทิ พนักงานมีความภาคภูมิใจในงานที่ทำ มีความช่างสังเกตมากขึ้น พนักงานมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เมื่อพนักงานทุกคนมีความเชื่อมั่นและพร้อมที่จะพัฒนา จะส่งผลไปยังรายได้หรือผลประกอบการที่ดีนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจที่มีพนักงานหรือลูกน้อง สามารถนำแนวคิดของดองกิไปพัฒนาหรือต่อยอดให้เหมาะสมกับองค์กร เพื่อให้ธุรกิจเติบโตและประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูล สอนลูกน้องให้คิดแบบเถ้าแก่ บทเรียนจากร้านดองกี้ | innovative wisdom