เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
Featured เคล็ดลับผู้ประกอบการ

‘วางระบบดี มีชัยไปกว่าครึ่ง’ เรื่องสำคัญของการทำธุรกิจ ถึงมีทุนหนา ทำการตลาดดีแค่ไหน แต่ถ้า ‘ระบบไม่แข็งแรง’ ก็เจ๊งได้

ทำธุรกิจ ใครๆ ก็อยากให้เติบโต เราก็มักมุ่งเน้นไปที่เรื่องการตลาด การขาย แต่เรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ “การมีระบบ”

ผมเชื่อว่ามีหลายคนที่กำลังเผชิญสถานการณ์อยากให้โต แต่ทำไมไม่ยอมโต เลยหยิบเอาเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังครับ เรื่องของ “ระบบ” ที่หลายคนมองข้ามไป และเข้าใจว่า ทุกวันนี้ที่ทำงานกันอยู่ ถ้าไม่มีระบบ แล้วจะอยู่รอดมาได้อย่างไร

นั่นก็จริงอยู่ครับ แต่…สิ่งที่กำลังทำอยู่ อาจเป็นเพียงระบบพื้นฐาน ที่ธุรกิจทั่วไปเขาก็ต้องทำ ต้องปฏิบัติเป็นปกติ คือถ้าไม่มีกระทั่งระบบพื้นฐาน คงจะเละเทะจนธุรกิจล่มสลายไปนานแล้ว

แต่ระบบ ที่อยากเล่าให้ฟังคือ ระบบ ที่ช่วยให้การทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายง่ายขึ้น และสามารถส่งต่อระบบนี้ ไปสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น

ระบบ ที่ผมกำลังหมายถึง มีหน้าตาประมาณนี้ครับ ลองจินตนาการตามนะครับ เป็นกระบวนการทำงาน ที่ง่าย รวดเร็ว สามารถถ่ายทอดให้ทุกคนทำตามในแบบเดียวกัน โดยไม่ต้องมาเสียเวลานั่งคิดว่า ฉันควรเริ่มต้นทำอะไรดี

งานบางอย่างมีความสลับซับซ้อน และต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบ การปล่อยให้คนมีประสบการณ์เท่านั้นที่ทำได้ เพราะเขามีวิธีคิดว่าต้องจัดการกับสรรพสิ่งตรงหน้าอย่างไร แบบนี้ ถ้าคนนั้นไม่อยู่ เอาแค่ป่วยก็ได้ ไม่มาทำงาน ทั้งบริษัทแทบเป็นอัมพาต ต้องหยุดชะงัก

ทีนี้ลองจินตนาการถึง “นักบิน” ผมเชื่อว่าเราคงนึกออกว่า ก่อนการบินทุกครั้ง นักบิน จะต้องถือโพยที่มีรายการยาวเหยียด เพื่อตรวจเช็กสรรพสิ่งตามรายการ นักบิน และนักบินผู้ช่วย มีรายการที่ต้องเช็กของแต่ละคน แล้วก็ไล่ตามรายการไป โดยไม่ขาดตกบกพร่อง

ถามว่าบินอยู่แทบทุกวัน จำไม่ได้เหรอว่าต้องทำอะไรบ้าง จำได้สิ ไม่ได้ฟั่นเฟือน แต่การใช้แค่ความจำ ความชำนาญ จำนวนชั่วโมง ไม่ได้การันตีความปลอดภัยไงล่ะ งานที่สำคัญกับชีวิตคนเป็นร้อย จะพึ่งพาเพียงความเชี่ยวชาญของใครไม่ได้ การทำตามเช็กลิสต์ ไม่ต้องเสียเวลานึก ไม่ต้องเปลืองหยักสมองจำ แค่ทำตาม ง่าย เร็ว ชัวร์ ปลอดภัย

กับธุรกิจอื่นๆ ทุกอย่างมีขั้นตอน มีกระบวนการในการทำ คนที่เก่ง หาวิธีทำได้ง่าย เร็ว และได้ผลดี นั่นแหละครับต้นแบบ ที่น่าถอดออกมาให้คนอื่นได้ปฏิบัติตาม เมื่อใดที่เราถอดกระบวนการนั้นออกมา แล้วทำเป็นคู่มือปฏิบัติที่ชัดเจน ส่งต่อให้ทุกคนรับรู้ได้ นั่นแหละครับ “ระบบ” ที่ผมกำลังพูดถึง

ธุรกิจร้านอาหาร เป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่ง ในการพึ่งพาความเชี่ยวชาญของคนที่เรียกว่า “แม่ครัว” “พ่อครัว” “เชฟ” “กุ๊ก” จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ หากคนนี้ไม่มา “แทบปิดร้าน” หรือไม่ก็ต้องเผชิญกับการบ่นของลูกค้าว่า รสชาติอาหาร “ไม่เหมือนเดิม”

แล้วร้านอาหารที่เขาเติบโตสามารถขยายสาขา ขายแฟรนไชส์ไปได้ทั่วโลก เขาเอาพ่อครัวแม่ครัววิ่งไปปรุงทุกที่อย่างนั้นหรือ เปล่าเลย เขาแค่สร้างระบบ แล้วสิ่งที่เขาขายจริงๆ คือ “ระบบ” นั่นเอง

ร้านอาหารที่อยากเติบโต สิ่งที่ต้องทำคือ การสร้าง SOP (Standard Operation Procedure) หรือคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติในร้าน เขาจะไม่พึ่งพาทักษะแม่ครัวคนใดคนหนึ่ง เช่น ทำแกงสักถ้วย SOP ก็จะบอกเลยว่า ใส่น้ำเท่าไร เครื่องแกงกี่ช้อน ใส่หมูกี่กรัม ผักกี่กรัม ฯลฯ ปรุงด้วยไฟระดับไหน ใช้เวลาเท่าไร

ไม่ต้องอาศัยแม่ครัวตัวจี๊ดของร้าน ใครก็ทำได้ แค่ทำตาม SOP ที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด รสชาติออกมา ไม่แตกต่างกัน ดังนั้น เวลาเขาขยายสาขา เขาก็ส่งต่อระบบนี้ไปยังสาขาใหม่ ถ้าเขาขายแฟรนไชส์ ก็ขายระบบนี้ไป สาขาที่เกิดใหม่ การปรุงอาหารจึงออกมา หน้าตา รสชาติ เหมือนๆ กัน

นั่นแปลว่า ระบบ ช่วยให้ทำงานง่าย ทำได้เร็วขึ้น ไม่ต้องอาศัยฝากชะตาไว้กับใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ต้องอาศัยความรู้สึก ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ส่วนตัว แต่ทุกอย่างถูกคิด ถูกพิสูจน์มาแล้วว่าทำแบบนี้ง่าย เร็ว ผลลัพธ์ดี ถูกต้อง สามารถชี้วัดและประเมินความสำเร็จได้ไม่ยาก

แล้วเราจะสร้างระบบได้อย่างไร ไม่ยากครับ เพราะหากทำตาม 4 ขั้นตอนต่อไปนี้ ก็สามารถเกิดระบบขึ้นมาในธุรกิจของเราได้

ขั้นแรก วิเคราะห์ขั้นตอน เป็นการวิเคราะห์ภารกิจ หรืองานต่างๆ ที่ต้องทำอยู่เสมอว่ามีขั้นตอน มีกระบวนการ 1…2…3…อย่างไร ทำรายละเอียดออกมาให้ละเอียดชัดเจน จากนั้นช่วยกันพิจารณาว่ามีขั้นตอนใดที่มากเกินความจำเป็น สามารถตัดทิ้งได้หรือไม่

เมื่อพิจารณาเบ็ดเสร็จสะเด็ดน้ำ ก็บันทึกขั้นตอนหรือกระบวนการนั้น โดยรวบรวมไว้ในที่เดียวกัน จัดหมวดหมู่ให้ง่ายต่อการเข้าถึง เช่น ถ้าเป็นธุรกิจอาหาร ก็อาจมี ขั้นตอนการปรุงอาหาร ขั้นตอนการจัดโต๊ะ ขั้นตอนการจัดจาน ฯลฯ

ขั้นที่สอง ระบุสิ่งที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน งานในแต่ละขั้นตอน มักมีสิ่งที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบในร้านอาหาร หรือเครื่องมือที่ต้องใช้ในธุรกิจบริการซ่อม พยายามทำสิ่งที่ต้องนำมาใช้ให้ชัดเจนว่า ใช้อะไร แบบไหน ขนาด ชนิด หรือการกำหนดปริมาณที่ชัดเจน

เช่น ธุรกิจอาหารก็ใช้หน่วยชั่งตวงวัดได้ อาจระบุว่าใช้น้ำสต๊อกไก่ ตวงด้วยถ้วยตวงแก้ว ปริมาณ 250 ซีซี หรือธุรกิจศูนย์บริการรถยนต์อาจระบุเครื่องขันน็อตชนิดไหน ขนาดเท่าไร และขันน็อตด้วยแรงตึงเท่าไร ไม่ใช่ปล่อยช่างขันไปเรื่อย บางคนขันหลวมเกิน บางคนแน่นเกิน

ขั้นที่สาม สร้างนิสัยให้ทำตามระบบ ขั้นตอนนี้ยากครับ โดยเฉพาะคนไทย เพราะทำตามใจ คือไทยแท้ ต้องเข้มงวดกับการทำตามระบบ มีบทลงโทษ มีบทชื่นชม จะพระเดชหรือพระคุณ ก็ว่ากันไป แต่ทำอย่างไร ให้ใช้ระบบให้ได้ และใช้จนเป็นปกตินิสัย

ขั้นสุดท้าย เมื่อใช้ระบบ ทำตามระบบไประยะหนึ่ง ต้องมีการประเมินผล ทบทวน และหาทางทำให้ง่ายขึ้น ลดขั้นตอน หรือเปลี่ยนไปใช้วิธีที่ดีกว่า อย่าเชื่อมั่นว่า คิดมาแล้วต้องดีเลิศเป็นอมตะ

เห็นไหมครับว่า ธุรกิจใหญ่โตข้ามชาติข้ามภพทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าเขามีทุนหนาจนคิดทำอะไรก็ได้ เพราะถ้าไม่มีระบบที่แข็งแรง เขาก็เจ๊งได้เช่นกัน ดังนั้น ถ้าอยากให้ธุรกิจเติบโต ไม่เพียงแค่การตลาดที่ดี การขายที่เก่งกาจ แต่การมีระบบที่ดี เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ

พึงระลึกไว้เสมอครับ “โตไม่ได้…ถ้าไร้ระบบ”

เรื่องโดย พลชัย เพชรปลอด

Related Posts

จากมนุษย์เงินเดือนที่ไม่รู้ว่าชอบอะไร สู่เจ้าของแบรนด์พรมแต่งบ้านสุดคราฟต์ ‘Supersoft.bkk’ ที่เริ่มต้นจากเงิน 3 หมื่น สู่รายได้หลักแสนต่อเดือน
ราคาทองพุ่งไม่หยุด! ซื้อทอง ดีกว่าเก็บเงินไว้เฉยๆ จริงไหม แล้วควรซื้อด้วยเงินสด หรือบัตรเครดิต
แจกสูตร คั่วหมี่ ก๋วยเตี๋ยวผัดจานโปรดชาวลาว คู่หูตำหมากหุ่ง ให้รสหวานเค็ม โรยไข่เจียว ทำตามไม่ยาก
‘บ้านหมูหวาน’ จากธุรกิจที่ล้มจนโดนหมายศาล พลิกสู่แบรนด์เนื้อสัตว์แปรรูป รายได้ 7 หลักต่อเดือน