เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
Exclusive Featured แจกสูตรอาหาร และเครื่องดื่ม

เผยสูตรทำกิน-ทำขาย น้ำยำรสแซ่บ มีทั้ง ยำขาว ยำดำ และ น้ำจิ้มซีฟู้ด

จากสูตร ยำขาว ไทยๆ  “1-1-ครึ่ง” 1 คือ น้ำปลา 1 ส่วน อีก 1 คือ น้ำมะนาว 1 ส่วน และครึ่ง คือ น้ำตาล

บ้านเรายังมี “ยำดำ” ซึ่งก็คือน้ำยำขาวนี่ล่ะ แต่เพิ่มน้ำพริกเผาลงไป สูตรจะกลายเป็น น้ำปลา 1 น้ำมะนาว 1 น้ำพริกเผา 1 น้ำตาลครึ่ง

ยำดำ นิยมทำเป็น ยำถั่วพู ยำหัวปลี ยำกระท้อน ยำผลไม้ ยำส้มโอ ยำเกสรชมพู่มะเหมี่ยว โรยหัวกะทิเคี่ยว ถั่วลิสงป่น มะพร้าวคั่วป่น ยำดำนี้ ตอนหลังร้านอาหารชอบเอามาทำเป็นพล่าใส่น้ำพริกเผา

พล่าแบบตำรับเดิมๆ ไม่ได้ใส่น้ำพริกเผา ของที่เป็นพล่ามักทำกับของกึ่งดิบกึ่งสุก เช่น กุ้งเผา เนื้อปลาสดสับบีบน้ำมะนาวให้สุก (ซึ่งจริงๆ คือไม่สุก) เช่น พล่าปลาอินทรี พล่ากุ้งเผา พล่ากุ้งดิบ พล่าของทะเลลวก เครื่องพล่าเพิ่มเติมเครื่องขึ้นมา มี กระเทียมสับ ตะไคร้อ่อนซอย หอมแดงซอย ใบสะระแหน่ ใบมะกรูดซอย

พล่า มักทำรสให้จัดมากกว่ายำ อาจจะเพิ่มน้ำมะกรูดลงไปในส่วนของเปรี้ยว สูตรกลายเป็น น้ำปลา 1 น้ำมะนาวครึ่ง น้ำมะกรูดครึ่ง น้ำตาลครึ่ง

อีกขั้นของน้ำยำขาว ถูกพัฒนาขึ้นเป็นน้ำยำซีฟู้ดหรือน้ำจิ้มซีฟู้ด สัดส่วนของน้ำยำยังคล้ายของเดิมคือ น้ำปลา 1 น้ำมะนาว 1 น้ำตาลครึ่ง น้ำกระเทียมดองครึ่ง เพิ่มกระเทียม รากผักชี ใบผักชี ลงไปโขลกหรือปั่นด้วย น้ำยำซีฟู้ด เอาไปทำได้หลายอย่าง เช่น ราดหมูมะนาว กุ้งแช่น้ำปลา เป็นน้ำจิ้มซีฟู้ด ราดปูดอง ผสมน้ำซุปกลายเป็นน้ำปลานึ่งมะนาว ปลาหมึกนึ่งมะนาว ผสมไข่ปู ไข่กุ้ง มันปูเป็นน้ำพริกไข่ปู ไข่กุ้ง มันปู

น้ำยำขาว ยังนำไปทำเป็นต้มยำน้ำใส ซึ่งชื่อบอกอยู่แล้วคือเอายำมาต้ม เพราะฉะนั้น สูตรของน้ำต้มยำจึงคล้ายคลึงกับน้ำยำ มีน้ำปลา 1 น้ำมะนาว 1 น้ำตาลเหลือ 1 ใน 4 หรือครึ่งของครึ่ง เนื่องจากน้ำต้มยำนั้นไม่หวานเท่ายำ

ส่วนต้มยำน้ำข้นคล้ายกับยำดำเช่นกัน แต่เพิ่มส่วนผสมไปอีกเยอะ คือ น้ำปลา 1 น้ำมะขามเปียก 1 น้ำพริกเผา 1 น้ำตาลครึ่งของครึ่ง และเหยาะน้ำมะนาว เกลือ ให้ชูรส นมสดให้ใส่หลังสุดแล้วปิดไฟ ไม่งั้นนมจะเดือดเป็นเม็ด ต้มยำน้ำข้นไม่สวย

น้ำต้มโคล้ง เหมือนต้มยำน้ำข้นไม่ใส่น้ำพริกเผา ใช้พริกแห้งเผา หอมแดงเผาใส่ไปต้มด้วย ขีดคั่นของต้มโคล้งกับต้มยำคือ ต้มโคล้งทำกับเนื้อสัตว์น้ำที่มีกลิ่นหอมปิ้งไฟ รมควัน เช่น ปลากรอบ ปลาดุกย่าง ปลาสลิดย่าง กุ้งเผา ปลารมควัน มาสมัยนี้เห็นร้านอาหารดัดแปลงไปเป็นต้มโคล้งหมูกรอบ

ที่ว่าเรื่องของน้ำยำมานี้ ไม่ได้เอ่ยถึงไปอย่างหนึ่งซึ่งเป็นของสำคัญของยำคือ พริก

พริกที่ใช้กันมีพริกขี้หนูสวนเม็ดเล็กให้ความหอม เผ็ด พริกขี้หนูสวนเม็ดใหญ่ ใช้ง่ายแต่ไม่ค่อยหอม พริกแดงจินดาเม็ดใหญ่หาง่ายให้รสเผ็ดร้อนไม่ค่อยหอม บางที่เลยจับผสมกันตามแต่จะหาพริกอะไรสะดวกกว่ากัน พริกในยำต่างๆ ควรหั่นให้เล็กๆ บางๆ เอาชนิดที่คนกินมองไม่เห็นแต่เคี้ยวไปแล้วให้สะดุ้งเป็นพักๆ บางทีก็ใช้วิธีโขลกพริกให้แหลกได้เช่นการตำส้มตำ ตำพริกกับกระเทียม

ยำง่ายๆ ยักย้ายไปใช้พริกป่นแทนพริกสด หรือใช้พริกขี้หนูแห้ง ให้รสเผ็ดแบบอ้าปากเร็วกว่าพริกขี้หนู และผสมง่ายกว่า

ความเปรี้ยวไม่มีมะนาว ใช้ผลไม้รสเปรี้ยวแทน เช่น มะม่วงเปรี้ยวสับ ระกำ มะดัน ตะลิงปลิง มะยม (ตำมะยม) กระท้อน

….

บทความโดย : อาจารย์ยศพิชา คชาชีวะ กูรูอาหาร เจ้าของคอลัมน์ “ตู้จดหมายพลศรี”

Related Posts

ภาพบรรยากาศในงานปี 2024