เพราะรักและผูกพันกับการเกษตร จึงมีแนวคิดอยากแปรรูปผลผลิต อย่าง ‘ถั่วเขียว’ วัตถุดิบสารพัดประโยชน์ที่มักถูกมองข้าม จากกระบวนการแปรรูปที่ซับซ้อนและยุ่งยาก แต่ด้วยความมุ่งมั่น บวกกับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรที่ได้เรียนมา
ทำให้ คุณอ๊บ-ทรรศิน อินทานนท์ เริ่มต้นแปรรูปเมล็ดถั่วเขียวธรรมดาๆ ให้กลายเป็น ‘เฟรนช์ฟรายด์ถั่วเขียว’ เจ้าแรกของโลก ภายใต้แบรนด์ ZENFRY เอสเอ็มอีตัวเล็กๆ จาก อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ที่เพิ่มมูลค่าพืชบ้านๆ ได้ถึง 10 เท่า และกำลังเดินทางสู่ระดับ Global ด้วยการสร้างมาตรฐานที่ถูกต้อง

เริ่มต้นจาก SMEs ตัวเล็กๆ
หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย คุณอ๊บเริ่มต้นชีวิตมนุษย์เงินเดือนในแวดวงอาหารและการตลาดในบริษัทเอกชนมานานนับสิบปี ก่อนตัดสินใจลาออกมาสู่เส้นทางการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรตามแนวคิดที่ตั้งใจไว้
โดยใช้เงินเก็บหนึ่งก้อนที่เก็บสะสมจากการทำงาน มาซื้อที่ดินผืนเล็ก เปิดโรงงาน ที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี แปรรูปสับปะรดกวน และเผือกกวน เป็นโปรดักต์แรกเริ่ม จากนั้นได้จุดประกายไอเดียทำเฟรนช์ฟรายด์ถั่วเขียว จาก ข้าวแรมฟืน อาหารพื้นเมืองจากภาคเหนือ ที่ใช้ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบหลักในการทำ นำไปตัดเป็นเส้น ลักษณะคล้ายเฟรนช์ฟรายด์
แทนที่จะใช้ถั่วเหลือง คุณอ๊บกลับเลือกใช้ ‘ถั่วเขียว’ พืชแฝดคนละฝากับถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบหลัก แต่ไม่ค่อยมีใครหยิบมาแปรรูปเท่าถั่วเหลืองที่เห็นกันจนชินตา นั่นเป็นเพราะถั่วเขียวนำมาแปรรูปยาก ไม่อร่อย จากไขมันที่มีน้อยนิดเพียง 1% ในถั่วเขียว 1 กรัม
ขณะเดียวกันก็มากไปด้วยประโยชน์ มีไขมันต่ำ มีไฟเบอร์ มีโปรตีน และไม่มีสารก่อภูมิแพ้ คนแพ้ถั่วกินได้
ซึ่งคุณอ๊บ มองว่า นี่คือความท้าทาย หากทำสำเร็จก็จะสร้างความหวือหวาในตลาด และถ้าสร้างรายได้แบบก้าวกระโดดก็จะหล่อมาก แต่ถ้าไม่สำเร็จ ก็แค่ ‘ตกเหว’ ‘เป็นหนี้’ และกลับไปสู่เส้นทางการทำงานเหมือนเดิม

พัฒนาสูตรเฟรนช์ฟรายด์ถั่วเขียว
ในกระบวนการพัฒนาเฟรนช์ฟรายด์ถั่วเขียว คุณอ๊บใช้ระยะเวลานานถึง 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2563 จนค้นพบว่า ต้องใช้ถั่วเขียวถึง 4 สายพันธุ์มามิกซ์รวมกัน ส่งตรงจากเกษตรกร อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่ปลูกแบบอินทรีย์ ราวๆ 5 ตันต่อเดือน
นำมาผ่านกระบวนการแปรรูป เริ่มต้นด้วยการล้างทำความสะอาด จากนั้นนำถั่วไปปั่น เแล้วเทกรองเอากากออก เหลือไว้เฉพาะน้ำถั่วเขียว นำไปเข้าเครื่องกวนโดยใช้ความร้อน เมื่อกวนจนถั่วเขียวขึ้นรูป ให้นำไปเทใส่บล็อก ปาดหน้าให้เรียบ แล้วเข้าเครื่องชีลไว้ 1 คืน จะได้ออกมาเป็นแผ่นวุ้น เสร็จแล้วนำมาตัดเป็นแท่ง ทำการพรีไฟล์หรือทอดเบื้องต้น ทอดเสร็จนำเข้าห้องเย็น เพื่อเตรียมสู่ขั้นตอนการบรรจุต่อไป
ซึ่งเฟรนช์ฟรายด์ถั่วเขียว นับเป็นอีกโปรดักต์ทางเลือกใหม่ของผู้บริโภคในตลาด เพราะมีคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน โซเดียม น้อยกว่าเฟรนช์ฟรายด์ปกติเท่าหนึ่ง

จากแบรนด์ Mr.ZEN สู่ ZENFREY
ในการจำหน่ายเฟรนช์ฟรายด์ถั่วเขียว คุณอ๊บเริ่มจากรูปแบบแช่แข็ง ซึ่งบอกตามตรง ว่ายังไม่ใช่สูตรที่ลงตัวที่สุด แต่ต้องวางจำหน่าย เพราะใช้ทุนในการพัฒนาไปมากถึงหลักแสนแล้ว
ขณะนั้นยังใช้ชื่อ Mr.ZEN วางจำหน่ายเมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน ปี 2565 ในเพจเฟซบุ๊ก โดยเน้นการ ‘เล่าสตอรี่’ เพื่อให้คนรู้จักแบรนด์และโปรดักต์มากขึ้น แล้วจึงเริ่มจำหน่าย
ไม่นาน มีรายการอาหารชื่อดังจากช่องน้อยสีติดต่อมา แม้จะไม่ค่อยมีความพร้อม แต่ ‘ไม่ทิ้งโอกาส’ หลังจากเทปออกอากาศราวๆ กลางเดือนตุลาคม ทางแบรนด์มีออร์เดอร์เข้ามามากถึง 3,000 ออร์เดอร์ แต่ก็ไม่สามารถส่งได้ตามเป้า จากปัญหาด้านการขนส่ง
จากนั้นคุณอ๊บตัดสินใจหายหน้าจากตลาดไปนาน 4 เดือน เพื่อกลับไป ‘พัฒนาโปรดักต์’ ให้อร่อยขึ้นและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายมากกว่าเดิม ซึ่งมีเฟรนช์ฟรายด์จากการปรับสูตรกว่า 200 กิโลในแต่ละสัปดาห์ ที่คุณอ๊บต้องนำขึ้นมาจำหน่ายที่กรุงเทพฯ ด้วยตัวเอง ทั้งในร้านสเต๊ก หรือคาเฟ่แอนด์ฟาร์ม ซึ่งวิธีการนี้ ทำให้เริ่มได้ลูกค้ามากขึ้น
จากนั้นในปี 2566 คุณอ๊บได้สมัครเข้าร่วมรายการหนึ่ง นำธุรกิจไป ‘Pitching’ แม้ไม่ได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่ได้รับโอกาสออกรายการดัง ยิ่งช่วยโปรโมตให้เป็นที่รู้จักมากกว่าเดิม
เมื่อเริ่มเดินเครื่องการผลิตได้มากขึ้น จับต้นทุนได้ คุณอ๊บเริ่ม ‘ปั้นแบรนด์ ZENFRY’ โดยเซตบูธเพื่อ ‘ออกอีเวนต์ทั่วประเทศ’ ตลอด 5 เดือน เพราะอยากรู้ฟีดแบ็กของลูกค้า จนสังเกตเห็นว่า 3 วันแรก ยอดขายไม่ดี แต่หลังจากนั้นยอดขายดีขึ้น จากลูกค้าที่กลับมาซื้อซ้ำ เพราะชอบในตัวโปรดักต์

ทำให้มั่นใจ และตัดสินใจ ‘เปิด Pop Up Store’ แห่งแรกเมื่อต้นปี 2567 ที่ชั้น G เซ็นทรัล เวสต์เกต โดยเลือกทำเลมาจากประสบการณ์การออกอีเวนต์ที่ห้างแห่งนี้ที่ได้รับฟีดแบ็กดีมากๆ
โดย ‘ตั้งราคาเข้าถึงง่าย’ เริ่มต้น 29 บาท คุณอ๊บเรียกว่าเป็น ‘กลยุทธ์เปิดใจ’ ให้ลูกค้าหน้าใหม่กล้าลองในราคาที่ไม่ต้องคิดมาก และยังมีการพัฒนาโปรดักต์ใหม่ น้ำสับปะรด ผลผลิตจาก อ.บ้านคา จ.ราชบุรี ขณะเดียวกัน ยังวางจำหน่ายแบบแช่แข็งควบคู่กันไปด้วย ปริมาณ 500 กรัม 129 บาท
ซึ่งโปรดักต์ของ ZENFRY สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่ม ตั้งแต่เด็ก นักเรียน นักศึกษา วัยทำงาน ไปจนถึงกลุ่มครอบครัว เลยทีเดียว
“เราให้ความสำคัญกับลูกค้า กินแล้วได้รอยยิ้ม นี่คือสิ่งที่เราให้ความสำคัญ ให้พนักงานคอยสังเกตลูกค้าโดยตลอด กินแล้วชอบไหม และกลับมาซื้อซ้ำไหม” เจ้าของแบรนด์เล่าเสริม
นอกจากนี้ ยังมีการหา ‘พาร์ตเนอร์’ ที่มีศักยภาพ 1 จังหวัด 1 พื้นที่ เป็นตัวแทนกระจายสินค้าและวัตถุดิบของแบรนด์ ให้เข้าถึงลูกค้าหลากหลายกลุ่ม โดยคนที่จะมาเป็นพาร์ตเนอร์ ต้องดูแลร้านและทำด้วยตัวเองทั้งหมด ต้องเข้าใจกลยุทธ์แบรนด์ มีความรู้ด้านการตลาด มีฐานลูกค้า และรักในเรื่องเกษตรแปรรูป
สร้างมาตรฐานพา SMEs สู่ Global
ถึงปัจจุบันโรงงานของ ZENFRY มีพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ซึ่งผ่านมาตรฐาน อย. HACCP GHP และ ฮาลาล รวมทั้งเดินหน้า ‘จดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา’ ครอบคลุมทั่วโลก เพื่อรองรับการส่งออกไปต่างประเทศ ตั้งแต่ชื่อแบรนด์ มาสคอต รวมถึงการออกแบบ เป็นต้น โดยดำเนินการผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ซึ่งแนวคิดการจดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา คุณอ๊บ มองว่า “อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญกับลิขสิทธิ์ทางปัญญา เพราะไม่อย่างนั้น สิ่งที่เราทำทั้งหมดอาจจะโดนคนอื่นลอกเลียนแบบไปอย่างง่ายดาย”
และเมื่อถามถึงรายได้ ในปี 2567 แบรนด์ ZENFRY สามารถสร้างรายได้ เดือนละ 900,000-1,000,000 บาท
ก่อนทิ้งท้าย ถึงเป้าหมายปี 2568 คุณอ๊บ วางกลยุทธ์ไว้ว่า จะมุ่งเน้นการโปรโมตแบรนด์ให้มากขึ้น ผ่านหน้าสื่อต่างๆ รวมถึงสร้างการรับรู้ ด้วยการออกอีเวนต์ และเมื่อโปรดักต์ได้รับความนิยมและอยู่ได้อย่างยั่งยืน ZENFRY ยังมีโปรดักต์ที่อยากพัฒนาออกมาอีกมากมายในปีต่อๆ ไป
สรุปกลยุทธ์ความสำเร็จของ ZENFRY
- ทำสิ่งที่อยาก แต่สร้างความแปลกใหม่ในตลาด ทำให้ ZENFRY ได้เฟรนช์ฟรายด์ถั่วเขียว เจ้าแรกของโลก
- ไม่ทิ้งโอกาส ZENFRY คว้าโอกาสที่เข้ามาเสมอ ทั้งการพาโปรดักต์ไปออกรายการ ไป Pitching ธุรกิจ เพื่อต่อยอดการเติบโต
- สร้างมาตรฐานให้ถูกต้อง เปรียบเสมือนการติดกระดุมเม็ดแรก ถ้าติดถูกต้องตั้งแต่แรกก็จะสามารถพาธุรกิจไปสู่ระดับ Global ได้