เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
Featured Exclusive

สสว.ชี้ ผลกระทบขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ SMEs ต้องปรับตัว

จากการที่คณะกรรมการค่าจ้างประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแยกตามกลุ่มจังหวัด 7 กลุ่ม ตั้งแต่ 5-22 บาท ส่งผลให้ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 315.97 บาทต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4  โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2561 นี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนแรงงานของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ภาคเกษตร และภาคบริการ ซึ่งมีการใช้แรงงานจำนวนมากและมีต้นทุนแรงงานในสัดส่วนที่สูง

คุณสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ภายหลังประกาศปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ สสว. ได้ดำเนินการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลอง SME-CGE ของ สสว. และศึกษาโครงสร้างต้นทุนค่าแรงจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (SME Input-Output Table) พบว่าอัตราส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 1 จะส่งผลให้ต้นทุนค่าแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.16 ดังนั้นการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จึงส่งผลให้ต้นทุนค่าแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.54 ทำให้ต้นทุนสินค้าขยับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.05 ซึ่งนับว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าไม่มาก

โดยปัจจุบันต้นทุนค่าแรงงานเฉลี่ยของ SMEs อยู่ที่ร้อยละ 12.0 โดยภาคบริการมีต้นทุนค่าแรงงานสูงสุดร้อยละ 21.8 ภาคการผลิตร้อยละ 13.7 และภาคการค้าร้อยละ 9.6  ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจข้อมูลผู้ประกอบการ SMEs ใน 74 จังหวัดทั่วประเทศ โดยศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจร สสว. (One Stop Service Center : OSS) พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราค่าจ้างที่ปรับขึ้นเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้ แม้จะมีภาระต้นทุนที่สูงขึ้นบ้าง แต่เนื่องจากเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานน้อย และในบางพื้นที่อัตราค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากเป็นการจ้างแรงงานที่ใช้ทักษะฝีมือเป็นหลัก

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้มีอัตราที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจสังคมเป็นปัจจัยสำคัญ เช่น ในพื้นที่อีอีซีมีการปรับขึ้นค่าแรงในอัตราสูง ซึ่งผู้ประกอบการมีศักยภาพในการสร้างผลิตภาพจากแรงงานอย่างคุ้มค่า  ในภาพรวม ผลกระทบต่อต้นทุนด้านแรงงานของผู้ประกอบการ SMEs จึงอยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้ แต่ในระยะยาว SMEs ยุค 4.0 จำเป็นต้องปรับตัวให้พร้อมรองรับความเสี่ยงทั้งการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและสถานการณ์การแข่งขันในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

อาทิ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมปรับใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ การวางแผน กลยุทธ์ด้านราคา  การปรับโมเดลในการดำเนินธุรกิจ หรือการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านอื่นๆ โดย สสว. มีโครงการต่างๆ พร้อมรองรับและสนันบสนุนการปรับตัวของ SMEs ให้สามารถเติบโตได้ตามวงจรธุรกิจอย่างยั่งยืน อาทิ โครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์ โครงการ SME One โดยพัฒนาเว็บไซต์ www.sme1.info  ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข่าวสาร องค์ความรู้และกิจกรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ SMEs ซึ่งขณะนี้เปิดทดลองให้บริการแล้ว เป็นต้นผอ.สสว. กล่าว

Related Posts

จากปัญหาของเล่นล้นบ้าน สู่ Keimen Kids ธุรกิจเช่าของเล่นที่อยากช่วยเซฟโลก เซฟเงินในกระเป๋าพ่อแม่
เปิดจักรวาล Karun! ปั้นแบรนด์น้องใหม่ เจริญสังขยา, Summer Bowl และ Avery Wong ปี 66 รายได้รวม 100 ล้านบาท