หนุ่มไอทีผันตัวปั้นแบรนด์ “กุยช่ายมหานคร” ดังเปรี้ยงเพราะลีลา จนได้ฉายา พ่อค้าเอวหวาน ไวรัล 10 ล้านวิว
ทำไมกุยช่ายต้องตลาดพลู?
“ตลาดพลู” เรียกได้ว่าเป็นย่านที่มีชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเมื่อถึงเทศกาลต่างๆ จะมีการทำขนมกุยช่าย ที่ใช้เซ่นไหว้เจ้าที่และแจกจ่ายกันภายในโรงเจ
ทำให้หลายคนต่างพูดกันปากต่อปากว่า “ขนมกุยช่าย” ที่ตลาดพลู มีความอร่อย จนชาวบ้านแถวนั้นได้มีการทำขายกลายเป็นอาชีพกันมาอย่างยาวนาน
วันนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ได้มีการพูดคุยกับ คุณซัน-ปฏิพล สถาวรวิจิตร เจ้าของร้าน กุยช่ายมหานคร ที่ได้มีการนำสูตรกุยช่ายของครอบครัวมาต่อยอดให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ด้วยการปรับเป็น “แป้งบาง ไส้แน่น”
โดยส่วนใหญ่จะเน้นเป็นเดินสายออกบูธขายตามสถานที่ต่างๆ อีกทั้งคุณซันเป็นคนที่ชอบเต้น เมื่อไปขายแต่ละที่เขามักจะทำคอนเทนต์เต้นลงโซเชียล จนกลายเป็นไวรัล มียอดคนดูมากถึง 10 ล้านวิว และได้รับฉายาว่า “กุยช่ายเอวหวาน”
จากหนุ่มไอทีสู่เจ้าของกุยช่ายเอวหวาน
“หลายคนถามว่าทำไมเรียนมาตั้งสูง ถึงกลับมาขายกุยช่าย แต่ซันคิดว่าการทำงานกับสิ่งที่เรียนมาไม่เหมือนกัน ถามว่าการเรียนจำเป็นไหม จำเป็น แต่ใบปริญญาไม่ได้บอกทุกอย่าง คือคนจะมองเรายังไงก็ตาม ซันคิดว่า การที่เรามาทำอาชีพตรงนี้ได้ คือเป็นความภาคภูมิใจของเราอยู่แล้ว”
คุณซัน เล่าว่า ตนเคยทำงานเป็นวิศวะไอทีมาก่อน เมื่อเริ่มทำไปสักประมาณ 2 ปี รู้สึกว่ากิจการของที่บ้านสามารถนำมาต่อยอดได้
ช่วงแรกเขาทำอาชีพนี้เป็นงานเสริม จนกระทั่งตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาขายกุยช่ายเต็มตัว ชื่อร้านว่า “กุยช่ายมหานคร” เน้นขายในรูปแบบการออกบูธ ขายตามงานอีเวนต์ ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

แต่เดิมธุรกิจนี้เป็นของครอบครัว โดยคุณพ่อของเขาขายกุยช่ายสูตรตลาดพลูในแบบดั้งเดิมที่เป็นแป้งหนา แต่แล้วก็ได้เลิกขายไป จึงทำให้เขาเกิดไอเดียต่อยอด นำสูตรกุยช่ายตลาดพลูของคุณพ่อมาพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบแป้งบาง ไส้แน่น
“ตอนนั้นซันรู้สึกว่ากุยช่ายแบบเดิมที่เป็นแป้งหนาเริ่มมีขายเยอะขึ้น เลยลองทำแบบแป้งบาง ไส้แน่น พอเริ่มขายไปสักพัก ผลตอบรับดี ลูกค้าชอบ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่”
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คุณซันเป็นที่รู้จักในโซเชียลมากขึ้น นั่นคือ “การเต้น” โดยคลิปที่เป็นไวรัลช่วงแรกๆ จะเป็นคลิปที่เขาเต้นเพลงเชฟบ๊ะ ที่ตอนนี้ยอดคนดูแตะ 10 ล้านวิวเลยทีเดียว
“ตอนนั้นที่ยังไม่ได้เป็นอินฟลูฯ เต็มตัว คือเราเครียดจากงาน แล้วพอมาขายกุยช่ายด้วย ก็ไม่รู้ว่าจะไปเต้นที่ไหน ก็เต้นที่บูธไปเลย แล้วคลิปก็เป็นไวรัล กุยช่ายก็ขายดีขึ้นด้วย”
เน้น ‘ออกบูธ’ กลยุทธ์เข้าถึงลูกค้า
“ที่ออกบูธเพราะว่า ถ้าสมมติเราอยู่หน้าร้านประจำก็จะมีคนแค่กลุ่มเดียว แต่ถ้าสมมติเราออกบูธ คนที่อยู่ต่างจังหวัดก้ได้ทานกุยช่ายของเราด้วย”
คุณซัน มองว่า การออกบูธช่วยให้ลูกค้าในต่างจังหวัดได้มีโอกาสลิ้มลองกุยช่ายของเขาโดยไม่ต้องเดินทางไกล และยังสามารถควบคุมคุณภาพให้สดใหม่ได้เสมอ ลูกค้าหลายคนที่เคยซื้อครั้งแรกก็มักจะกลับมาซื้อซ้ำ
“อย่างที่เคยไปขายที่ชลบุรีครั้งแรก ลูกค้ามาทานแล้วอีกวันหนึ่งเขาก็กลับมาซื้อซ้ำ แล้วฟีดแบ็กว่าอร่อย ทั้งๆ ที่ตอนนั้นยังไม่ได้ดังในโซเชียล”
แต่ทว่าการออกบูธของเขาก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป มีบางวันที่ไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง อยู่ดีๆ ตอนเช้าขายดีมาก แต่ตกบ่ายฝนตก คนเงียบก็มี
เขาเล่าว่า “เคยมีอยู่วันหนึ่งที่ไปขายที่ห้าง แล้วอยู่ดีๆ คนหายหมดเลย ก็สงสัยว่าทำไมคนหายหมด จะมีตำรวจเดินเข้ามาบอกว่าเขาจะวางระเบิด แล้ววันนั้นเตรียมกุยช่ายไปเยอะมาก แต่ต้องทิ้งหมดเลย”
ขายของ + ทำคอนเทนต์ = ความปัง
“โซเชียลมันดังเนอะ เราจัดเต็มเลย ใส่เต็มที่เต็มร้อย พอคนเห็นเขาก็อยากมาลองทาน พอเราลงคลิปแล้วเป็นไวรัล ลูกค้าก็จะเข้าถึงร้านเราง่าย เวลาออกบูธก็เหมือนเป็นการไปหาลูกค้า”
ก่อนที่จะเล่าต่อว่า แต่เดิมเขาเป็นคนที่ชื่นชอบในการเต้นอยู่แล้ว และเป็นคนที่มีเอเนอร์จี้เยอะมาก เวลาไปออกบูธขายก็จะเต้นตลอด เพราะว่าคลายเครียด
โดยจะมีอยู่คลิปหนึ่งที่เรียกว่าแมสมาก เป็นคลิปเต้น “เชฟบ๊ะ” ที่ตอนนี้ยอดวิวแตะหลัก 10 ล้านวิวเลยทีเดียว
“เราก็เต้นไปเรื่อยๆ อ่ะครับ ไม่มีเวลาก็เต้นที่บูธกุยช่าย คนก็มาคอมเมนต์ว่า ทำไมพ่อค้าเอวหวานจังเลย ทำไมเต้นเก่งจัง แซวกันเยอะมาก ก็รู้สึกดีเหมือนกันนะ เลยเริ่มทำติ๊กต็อกของกุยช่ายด้วยอีกอัน เพื่อเอาไว้แจ้งข่าวสารว่าเราไปออกบูธที่ไหนบ้าง”
“การออกบูธไม่ต้องมีพื้นที่ประจำก็ได้ แล้วพอเป็นกุยช่ายตลาดพลู คนเห็นก็จะรู้สึกว่าน่าจะอร่อยอยู่แล้ว สมมติเราออกต่างจังหวัด ก็เหมือนเราได้เที่ยวไปในตัวด้วย ได้มาเจอคน มาเจอเอฟซีด้วยครับ”
สมมติคนที่มาหน้าร้านเขาก็จะบอกว่า “อ๋อนี่ไง ชี้มาเลย น้องคนที่เอวหวานๆ น้องกุยช่ายเอวหวาน อุ้ยๆๆ น้องเต้นแล้ว”
แป้งบาง ไส้แน่น สดใหม่ทุกวัน

ก่อนที่จะเป็นแบบแป้งบาง แต่เดิมก็จะมีกุยช่ายแป้งหนาที่เป็นสูตรดั้งเดิมของคุณพ่อ แต่คุณซันก็ได้มีการเข้ามาพัฒนาให้เป็นแบบแป้งบาง เนื่องด้วยอยากตามเทรนด์ เพราะสมัยนี้คนหันมาใส่ใจเรื่องอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น
แต่ยังคงคอนเซ็ปต์ กุยช่ายตลาดพลู รสชาติอร่อยกลมกล่อม พัฒนาจากตัวสินค้าเดิมที่มีอยู่ เช่น กุยช่าย หน่อไม้ และเผือก นำมาทำเป็นแบบแป้งบาง และในส่วนของวัตถุดิบ “กุยช่าย เผือก หน่อไม้” จะมาจากไร่ที่สุพรรณบุรีทั้งหมด
“กุยช่ายของเราจะทำสดใหม่ ผลิตวันต่อวัน คือทุกลูกเราตั้งใจทำ เป็นแบบแป้งบาง ไส้แน่น อบสดร้อนๆ เสิร์ฟถึงลูกค้า เคยขายได้มากสุดประมาณหมื่นลูกต่อวัน แต่ถ้าน้อยสุดจะอยู่ที่ 3,000-4,000 ลูก”
อนาคตของกุยช่ายมหานคร
“ซันคิดว่าตัวสินค้าของเราก็เป็นจุดขายจุดหนึ่ง เพราะเป็นแบบแป้งบาง ไส้แน่น ถ้าสมมติวันหนึ่งซันไม่ได่อยู่ตรงนี้แล้ว แต่ก็จะพยายามทำคอนเทนต์ที่ทำให้กุยช่ายอยู่ในกระแส จะพยายามไม่ให้คอนเทนต์หายไป”
“อนาคตเราสามารถต่อยอดให้ไกลกว่าเดิมได้มากยิ่งขึ้น พอเห็นลูกค้าชอบก็มีกำลังใจในการทำมากขึ้น ยิ่งเรามาขายหน้างานเอง ก็จะได้คุยกับลูกค้า ถามว่าจะมาขายเมื่อไหร่ กลับมาอีกไหม ก็มีกำลังใจในการขายมากขึ้น เลยเป็นอีกสิ่งที่ทำให้เราตัดสินใจลาออกจากงานประจำได้”
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 10 เมษายน 2568