เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
SMEs เกษตร

เลี้ยงโคเนื้อ ลงทุนน้อย สร้างรายได้เสริม ของ ขวัญยืน ระดมกิจ ที่ราชบุรี

การเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริม ก็เป็นทางเลือกของใครหลายๆ คน สำหรับเกษตรกรหรือชาวบ้านที่มีพื้นที่เหลือเพียงพอสำหรับการเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กหรือสัตว์ใหญ่ก็สามารถสร้างรายได้ในเวลาที่เหลือจากการทำอาชีพหลัก และวันนี้จะยกตัวอย่างการเลี้ยงโคเนื้อพื้นเมือง ของ คุณขวัญยืน ระดมกิจ เจ้าของโคเนื้อพื้นเมือง จำนวน 15 ตัว ที่บ้านเลขที่ 211 หมู่ที่ 2 ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี

ปัจจุบัน คุณขวัญยืน ทำงานอยู่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอดำเนินสะดวก แต่เลี้ยงวัวเป็นอาชีพเสริม

คุณขวัญยืน ระดมกิจ

เริ่มต้นการเลี้ยงโคเนื้อ

จุดเริ่มต้นในการเลี้ยงโคเนื้อของคุณขวัญยืนนั้น เริ่มจากปศุสัตว์ได้แจกแม่โคมาให้เลี้ยงคนละ 1 ตัว เลี้ยงไว้สักพัก แม่โคก็ผสมพันธุ์ออกลูกออกหลานมาให้คุณขวัญยืนได้เลี้ยงเพิ่ม…คุณขวัญยืน เล่าว่า โคไทยพื้นเมือง เป็นโคที่เลี้ยงง่าย แค่มีฟาง มีหญ้าให้กินก็อยู่ได้สบายๆ ไม่ต้องเลี้ยงอาหารก็ได้ เป็นการเลี้ยงสัตว์ที่ลงทุนน้อย ปัจจุบันเลี้ยงโคเนื้อพื้นเมืองมาได้ 5 ปีกว่าแล้ว

วิธีการเลี้ยงและการดูแลรักษาโรค

การเลี้ยงโคเนื้อ สำหรับบางคนที่เลี้ยงเป็นอาชีพหลัก ก็จะมีฟาร์มเลี้ยง มีพื้นที่ไว้สำหรับรองรับโคจำนวนมาก และมีวิธีการเลี้ยงแตกต่างกันออกไป แต่ก็เพื่อให้ได้โคเนื้อที่ราคาดี จะมีการขุนโคให้ตัวใหญ่ เนื้อเยอะ โดยการให้อาหาร ให้หญ้า หรือแล้วแต่การเลี้ยงของแต่ละคน

แต่วิธีการเลี้ยงโคเนื้อพื้นเมืองของคุณขวัญยืนนั้น เป็นวิธีง่ายๆ ไม่ได้มีการลงทุนมากมายนัก เพราะเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม อย่างการให้อาหาร ในตอนเช้าก่อนออกไปทำงาน จะนำโคไปปล่อยหรือผูกไว้ให้หากินหญ้าในพื้นที่ตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในบริเวณวัด พอตกเย็นหลังเลิกงานก็กลับมาต้อนโคเดินกลับบ้าน มื้อเย็นก็จะให้กินฟางเป็นอาหาร หรือบางครั้งก็ให้เป็นอาหารวัวเพื่อเสริมโปรตีน

สำหรับโรคที่มักจะเกิดขึ้นกับโคเนื้อ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นโรคทั่วๆ ไป อย่าง ปากเท้าเปื่อยและพยาธิ ด้วยความที่คุณขวัญยืน ทำงานอยู่ในกรมปศุสัตว์จึงได้เปรียบในเรื่องการรักษาโรคต่างๆ เกี่ยวกับสัตว์ เพราะมีความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง อย่างโรคปากเท้าเปื่อยที่เกิดขึ้นกับโคของตน จะมีการรักษาโดยฉีดยาป้องกัน 6 เดือนครั้ง ส่วนพยาธิจะฉีดยาถ่ายพยาธิและให้ยาบำรุง เป็นการรักษา

เลี้ยงในบริเวณวัด

โคเนื้อทำเงิน

ลักษณะของโคที่ทำเงินให้กับคุณขวัญยืนได้ดีนั้นคือโคเพศผู้ เมื่อแม่โคให้กำเนิดลูกโคออกมาเป็นเพศผู้จะมีราคาถึง 15,000 บาท แต่จะเริ่มขายได้ก็ต่อเมื่อเลี้ยงได้ 1 เดือนกว่า ส่วนใหญ่โคเพศผู้จะเป็นที่ต้องการ ไม่ว่าจะนำไปขุนต่อ เป็นพ่อพันธุ์ หรือนำไปวิ่งลาน เพราะเพศผู้เป็นเพศที่แข็งแรง อดทน ทำให้ขายง่ายและได้ราคาดี ยิ่งถ้าหากโคตัวไหนที่มีรูปร่างสูงใหญ่ ดูแข็งแรง มีแวววิ่งลานดี ราคาก็อาจสูงถึงหลักแสน ส่วนโคตัวเมียก็จะขายได้ตามสภาพ ลักษณะดี สวยก็ได้ราคาดีหน่อย โคเพศเมียส่วนใหญ่คนมักจะซื้อไปทำพันธุ์และนำไปกิน แต่ถ้าหากขายเพื่อนำไปกินเนื้อจะเป็นโคแก่ที่เลี้ยงมานานแล้ว เพราะมีเนื้อเยอะและขายได้ราคา ตัวหนึ่งก็ได้ 18,000-20,000 บาท หรือช่วงที่เนื้อขาดตลาดก็จะขายได้ 20,000-30,000 บาท คุณขวัญยืน กล่าว

เรื่องของการขาย คุณขวัญยืนเลี้ยงโคเนื้อไว้เพื่อเป็นการค้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะขายให้โรงเชือดอย่างเดียวเพราะอย่างที่บอกไปข้างต้น บางคนก็ขอซื้อไปเป็นแม่พันธุ์หรือนำไปเลี้ยงเพื่อแข่งกีฬาวิ่งลาน ในการขายแต่ละครั้งจะมีคนมารับซื้อถึงที่บ้าน เพราะคุณขวัญยืนเป็นที่รู้จักกันในหมู่คนเลี้ยงวัวในอำเภอดำเนินสะดวกอยู่แล้ว

โคเนื้อพื้นเมือง

ฝากถึงเกษตรกรที่อยากมีอาชืพเสริม คุณขวัญยืนแนะนำเลี้ยงโคเนื้อพื้นเมืองเพราะเป็นโคที่เลี้ยงง่าย แค่นำไปปล่อยไว้ตามพื้นที่ต่างๆ หรือลานตามวัด มีหญ้า มีฟางให้กิน ไม่ต้องเสี่ยงลงทุนสูง ก็สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับเจ้าของ อยากสอบถามวิธีการเลี้ยงสามารถมาได้ที่ เลขที่ 211 หมู่ที่ 2 ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี หรือโทร. (086) 755-3025

เห็นแบบนี้แล้ว การเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริมก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด อย่างการเลี้ยงของคุณขวัญยืน ที่เล่าถึงการเริ่มต้นเลี้ยงและวิธีการเลี้ยงแบบวิถีชาวบ้านให้เราฟัง ทั้งมีการลงทุนต่ำและได้กำไร ถือว่าเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่อยากเริ่มอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อในอนาคต

Related Posts

จากลูกจ้างในตลาดผัก สู่เจ้าของแผง 'ขายมะเขือเทศ' มีลูกค้าประจำ ทั้งร้านอาหารดัง  ซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงสายการบิน ขายเฉลี่ยวันละ 500 ลัง 
ไอเดีย สร้างอาชีพเสริมแบบไม่ต้องรอพร้อม ‘เช่าที่ปลูกดอกไม้กินได้’
อดีตพนักงานห้าง ปิ๊งไอเดีย ขายผักน้ำพริก เริ่มต้นแพ็กละ 10 บาท โกยรายได้ครึ่งแสนต่อเดือน
ออกจากงานประจำ มาขาย "เตยหอม" เจาะกลุ่มโรงงานขนม ร้านดอกไม้ พ่อค้าแม่ค้า วันละ 900-1,000 กิโลกรัม