เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
ข่าววันนี้ PR News

ธ.ก.ส. พักหนี้เกษตรกร เปิดให้ขอสินเชื่อฉุกเฉิน-เสริมสภาพคล่อง 29 ม.ค.นี้

ธ.ก.ส. พักหนี้เกษตรกร เปิดให้ขอสินเชื่อฉุกเฉิน-เสริมสภาพคล่อง 29 ม.ค.นี้

บอร์ด ธ.ก.ส. สั่งเร่งขับเคลื่อนนโยบายช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งการพักชำระหนี้ต้นเงินกู้เกษตรกร 1 ปี ผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร ผู้กู้เงินสินเชื่อฉุกเฉิน 6 เดือน และผู้เข้าร่วมโครงการแก้ไขหนี้นอกระบบ 1 ปี พร้อมเติมเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นผ่านสินเชื่อฉุกเฉินให้กับเกษตรกรและครอบครัว วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.1% ต่อเดือน ปลอดชำระหนี้ 6 เดือน และสินเชื่อฉุกเฉินเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี เริ่มเปิดรับคำขอสินเชื่อ 29 ม.ค.นี้

คุณสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

คุณสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ธ.ก.ส. มีมติเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 เห็นชอบมาตรการและมอบหมาย ธ.ก.ส. เร่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ในประเทศไทย โดยพักชำระหนี้ให้กับสัญญาเงินกู้ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2564 ในพื้นที่ 28 จังหวัดที่อยู่ในเขตควบคุมสูงสุดตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และจังหวัดที่ประกาศเพิ่มเติม ประกอบด้วย

1) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินให้แก่ลูกค้าเกษตรกรและลูกค้ารายคน ที่มีหนี้ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือนธันวาคม 2563 ถึงงวดเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นระยะเวลา 1 ปี นับจากงวดชำระเดิม 2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินให้แก่ผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) สหกรณ์ (ไม่รวมสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ) กลุ่มเกษตรกร กลุ่มบุคคล กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน และองค์กร ที่มีหนี้ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือนธันวาคม 2563 ถึงงวดเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับจากงวดชำระเดิม  3) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินให้แก่ลูกค้าที่กู้เงินตามโครงการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่มีหนี้ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือนธันวาคม 2563 ถึงงวดเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับจากงวด ชำระเดิม  4) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินให้แก่ลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการแก้ไขหนี้นอกระบบ ที่มีหนี้ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือนธันวาคม 2563 ถึงงวดเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นระยะเวลา 1 ปี นับจากงวดชำระเดิม

นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนเพื่อเติมเงินเข้าสู่ระบบ ทั้งในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็นในชีวิตประจำวัน และการฟื้นฟูเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินธุรกิจ  ประกอบด้วยโครงการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับเกษตรกรและครอบครัวของเกษตรกร วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่เพียงร้อยละ 0.1 ต่อเดือน กำหนดชำระคืนไม่เกิน 2 ปี 6 เดือนนับจากวันกู้ ไม่ต้องใช้หลักประกัน และสามารถแบ่งงวดชำระได้ตามความสามารถในการชำระคืน (รายเดือน / 3 เดือน / 6 เดือน) โดยปลอดชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก นับจากวันกู้ เริ่มเปิดให้ขอสินเชื่อทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน 2564

และโครงการสินเชื่อฉุกเฉินเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มเกษตรกร กลุ่มบุคคล กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน องค์กร และสหกรณ์ (ไม่รวมสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ) ในพื้นที่ 28 จังหวัดที่อยู่ในเขตควบคุมสูงสุด ตามประกาศ ศบค. และจังหวัดที่ประกาศเพิ่มเติม อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 12 เดือนนับตั้งแต่วันเบิกรับเงินกู้ แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ปลอดชำระต้นเงินไม่เกิน 6 เดือนแรกนับแต่วันกู้ เริ่มเปิดให้ขอสินเชื่อตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 31 ธันวาคม 2564 ที่ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่ของท่าน

ทั้งนี้ สามารถแจ้งความจำนงเข้าร่วมโครงการข้างต้นกับ ธ.ก.ส. ผ่านช่องทาง LINE Official BAAC Family เว็บไซต์ www.baac.or.th  โดยในกรณีแสดงความประสงค์ขอพักชำระหนี้จะปรากฏข้อความ “ธ.ก.ส. ได้รับข้อมูลของท่านเรียบร้อยแล้ว” เป็นการดำเนินการเสร็จสิ้น หากลูกค้าแสดงความประสงค์ขอสินเชื่อ ให้เลือกประเภทสินเชื่อที่ต้องการและกด “ถัดไป” จะปรากฏข้อความ “ธ.ก.ส. ได้รับข้อมูลของท่านเรียบร้อย” เป็นการดำเนินการเสร็จสิ้น และช่องทาง Call Center 02 555 0555  หรือที่ สาขา ธ.ก.ส.ในพื้นที่

 

Related Posts

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย Marketing Association of Thailand (MAT)
นันยาง