อุตฯ เซรามิกลำปางยอดร่วงต่อเนื่อง มูลค่าตลาดเหลือเพียงพันกว่าล้าน ตลาดในประเทศหดตัวหนัก 70-80% ผู้ประกอบการดิ้นสู้รุกเปิดตลาด CLMV พร้อมจับมือกันตั้งกลุ่มเซราคลัสเตอร์-สหกรณ์ หวังช่วยแก้ปัญหาการตลาด-ขาดแคลนแรงงานฝีมือ-ลดต้นทุนการผลิต เล็งใช้แขนกลในอนาคต เดินหน้าจัดงานลำปางเซรามิกแฟร์ 1-11 ธ.ค. 60
นายชัยณรงค์ จุมภู นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง จังหวัดลำปาง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันจังหวัดลำปางมีโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ประมาณ 200-300 โรง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก หรืออุตสาหกรรมครัวเรือน ส่วนโรงงานขนาดใหญ่มีเพียง 20 กว่าโรงเท่านั้น ทั้งนี้เพราะโมเดลของจังหวัดลำปางเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ปิดตัวลง ส่งผลให้บุคลากรที่เคยทำงานภายในออกไปเป็นผู้ประกอบการเองโดยการเปิดโรงงานขนาดเล็ก
โดยจังหวัดลำปางมีผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาเกือบ 10 ประเภท ได้แก่ กระเบื้องเซรามิก ของชำร่วย ของที่ระลึก เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องประดับ เตาอโรมา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของตกแต่งบ้านและสวน ลูกกรง ลูกถ้วยไฟฟ้า และเครื่องดนตรี
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมเซรามิกของจังหวัดลำปางในปัจจุบัน แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 70% และต่างประเทศ 30% ซึ่งขณะนี้การส่งออกไปตลาดต่างประเทศยังคงเท่าๆ เดิม เพิ่งกลับมากระเตื้องขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดในประเทศลดลงอย่างมาก 70-80% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินค้าประเภทลูกกรง (ผลิตภัณฑ์ที่นำไปติดราวบันไดหรือรั้ว) เนื่องจากปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาแทน เช่น สเตนเลส

นายชัยณรงค์ กล่าวต่อว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์เซรามิกปี 2559 หายไปกว่าครึ่ง ลดลงมาเหลือเพียง 1,000 กว่าล้านบาท จากเดิมที่เคยทำได้สูงสุด 3,000 กว่าล้านบาทต่อปี ขณะนี้จึงพยายามทำตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม) มากขึ้น เนื่องจากประเทศในกลุ่มนี้มีความสนใจผลิตภัณฑ์เซรามิกของลำปางอย่างมาก เช่น มีเอเย่นต์จากเมียนมาเข้ามารับซื้อที่ลำปางจำนวนมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ขนาดเล็ก อาทิ ลูกกรงเซรามิก ดังนั้น จึงต้องพยายามสร้างการรับรู้ให้กลุ่ม CLMV มารับซื้อสินค้าโดยตรงจากผู้ประกอบการไทยให้มากขึ้น โดยที่ผ่านมาทางสมาคมได้พาผู้ประกอบการไปดูตลาดประเทศเพื่อนบ้านมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ในจังหวัดลำปางจะมีแรงงานราว 3 หมื่นคน แต่ยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ ซึ่งสมาคมก็พยายามช่วยเหลือตั้งแต่ระดับประถมศึกษาไปจนถึงมหาวิทยาลัย โดยให้ทุนการศึกษา และช่วยเหลือด้านวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และการศึกษาดูงาน อีกทั้งยังได้ทำเอ็มโอยูกับเครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิกทุกสาขากับสถาบันการศึกษาในภาคเหนือ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายเล็กยังประสบปัญหาการจัดการและต้นทุนการผลิต จึงได้จัดหลักสูตรต่างๆ ให้สมาชิก เช่น การเงิน/บัญชี และต้นทุนการผลิต รวมถึงในอนาคตจะมีการอบรมการค้าขายออนไลน์ เช่น การสร้างเพจ เว็บไซต์ ขณะเดียวกัน ได้รวมกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กจัดตั้งกลุ่มเซราคลัสเตอร์ขึ้น เพื่อให้สมาชิกได้รู้จักกัน สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาการเลียนแบบและตัดราคาซึ่งกันและกัน รวมถึงเพื่อรวมตัวกันซื้อวัตถุดิบเพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลง และเมื่อไปออกงานแสดงสินค้าหรือโรดโชว์จะได้ไปเป็นกลุ่มและดูยิ่งใหญ่
“อุตสาหกรรมเซรามิกมีปัญหาเยอะตั้งแต่ต้นทาง เช่น ตอนนี้สัมปทานแร่ของลำปางหลายรายหมดไปแล้ว และไม่สามารถต่อได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และหากดินขาว ซึ่งเป็นวัสดุหลักในการผลิตเซรามิกลำปาง ได้หมดไป เราจะใช้อะไร จึงต้องหานวัตกรรมหรือคิดค้นสิ่งใหม่ๆ และการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดพลังงาน”
นายชัยณรงค์ กล่าวอีกว่า สมาคมยังได้จัดตั้งสหกรณ์เซรามิกและหัตถอุตสาหกรรมลำปาง จำกัด ขึ้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 โดยเกิดจากการรวมตัวของ 5 องค์กรหลักในจังหวัดลำปาง ได้แก่ สมาคมเครื่องปั้นดินเผา สมาคมไม้ สมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (AT SMEs) สมาคมเหมืองแร่ และกลุ่มคลัสเตอร์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าขาย การช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิตให้ถูกลง และทำการตลาดให้กว้างขึ้น
ในเบื้องต้นจำกัดสมาชิกแค่ 30 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการระดมทุน โดยปี 2560 นี้ จะเริ่มจากด้านการตลาด ส่วนปีต่อๆ ไปจะดำเนินการในเรื่องวัตถุดิบ แรงงาน และพลังงาน รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เช่น แขนกล หรือมีโรงเตากลาง หรือมีแหล่งดินกลางให้สมาชิกใช้ร่วมกัน โดยจะเน้นการผลิตให้น้อยลง แต่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น
ทั้งนี้ มองว่าสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเซรามิกของลำปางจะทรงๆ ไปจนถึงกลางปี 2561 ดังนั้น จึงอยากให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมเซรามิกให้มากกว่านี้ เช่น เงินกู้พิเศษผ่านสหกรณ์เซรามิกและหัตถอุตสาหกรรมลำปาง จำกัด เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ รวมทั้งให้สัมปทานเหมืองแร่ต้นน้ำ
สำหรับการจัดงานลำปางเซรามิกแฟร์ จะมีขึ้นในวันที่ 1-11 ธันวาคม 2560 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลำปาง โดยภายในงานสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เซรามิกมากกว่า 200 บู๊ธ และมีการแมตชิ่งธุรกิจกับผู้ประกอบการอีกด้วย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์