เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
Featured Exclusive หลักสูตรเรียนฟรี

ซูชิเบิร์น อาชีพทำเงิน อดีตกรุ๊ปเฮดโปรดักชั่น ขายเฉลี่ย 600 คำต่อวัน

ซูชิเบิร์น ในตลาดนัด อาชีพทำเงิน ของ อดีตกรุ๊ปเฮดโปรดักชั่น ทำขายสดๆ เฉลี่ย 600 คำต่อวัน

ขายของตลาดนัด ถือเป็นหนึ่งในอาชีพยอดนิยมสำหรับคนขายมือใหม่ ที่งบยังมีไม่มากพอที่จะทำร้านเป็นของตัวเอง ซึ่งในตลาดก็ขายสินค้าหลากหลาย โดยเฉพาะของกิน ที่มองไปทางไหนก็อุดมสมบูรณ์เสียเหลือเกิน

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มีโอกาสได้คุยกับ คุณตี๋-ฐกลพัชร์ ทยาภัทร วัย 39 ปี หนึ่งในเจ้าของร้าน ซูชิเบิร์นนน…มั๊ย อดีต Group Head Production ผู้ผันตัวเองมาเป็นพ่อค้าขายซูชิในตลาดนัด ซึ่งซูชิของเขาก็ไม่ใช่ซูชิแบบเดิมๆ ทั่วๆ ไป แต่เป็น ซูชิเบิร์นไฟ ที่สร้างความแปลกใหม่ตื่นตาตื่นใจให้กับลูกค้าไม่น้อย!

คุณตี๋-ฐกลพัชร์ ทยาภัทร วัย 39 ปี หนึ่งในเจ้าของร้าน ซูชิเบิร์นนน…มั๊ย อดีต Group Head Production ผู้ผันตัวเองมาเป็นพ่อค้าขายซูชิในตลาดนัด

คุณตี๋ เล่าว่า เดิมทีตนทำงานตำแหน่ง Group Head Production คุมงานทั้งหมด อีกทั้งทำหน้าที่เป็นทั้งดีไซเนอร์และครีเอทีฟ ในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งมาเกือบ 8 ปี กระทั่งรู้สึกอิ่มตัวกับการทำงาน บวกกับอยากทำอะไรใหม่ๆ ตอบโจทย์ตัวเองให้มากกว่านี้

ซึ่งเดิมที คุณตี๋เป็นคนชอบทำอาหารอยู่เป็นทุน จึงเกิดความคิดที่ว่า ตัวเองน่าจะหันมาทำงานตามความชอบดีกว่า ผนวกกับเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเป็นจุดที่ทำให้ชายหนุ่มคิดว่า งั้นลาออกมาเปิดร้านซูชิ เลยแล้วกัน

คุณตี๋ ตอนยังทำงานโปรดักชั่น

“ทำงานมานานมันก็รู้สึกอิ่มตัวเนอะ แล้วผมเป็นคนชอบทำอาหารก็อยากทำอะไรที่เกี่ยวกับอาหาร แล้วผมมีเพื่อนสนิทอยู่คนหนึ่ง (คุณธนภณ อิทธิภัคุล) ที่เรามักจะคุยอัพเดตชีวิตกันมาตลอด เขาก็ชอบทานซูชิ และมีความรู้เกี่ยวกับการทำอาหารเหมือนกัน เลยคิดว่า งั้นเรามาร่วมหุ้นกันทำร้านซูชิดีไหม เพราะผมก็คิดว่าตัวเองก็สามารถทำซูชิได้ ถ้าเรามาแชร์ไอเดียด้วยกัน มันก็น่าจะสร้างสรรค์ซูชิหน้าใหม่ๆ ได้ เลยชวนกันมาทำ สร้างเอกลักษณ์ใหม่ ให้ซูชิร้านของพวกเราต่างจากที่อื่น”

“เราไปดูกันเลยว่า ซูชิที่มีขายทั่วไปตามตลาดนัด เขาทำกันยังไง ก็เห็นว่าเขาทำแล้วก็วางไว้ ให้ลูกค้าเลือกหยิบว่าอยากกินอะไร กินชิ้นไหน คือวางให้หยิบเฉยๆ แล้วเอาไปจ่ายเงิน ผมก็รู้สึกว่า การขายแบบนี้ มันไม่ได้สร้างประสบการณ์ร่วมให้ลูกค้า เลยเอาโจทย์กลับมาคิดกันใหม่ ร้านเราจะทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์ร่วมและได้ตามที่เขาต้องการยังไง ก็ได้ไอเดียว่า ใช้ความเรียลขายลูกค้า ในตลาดยังไม่มีการเบิร์นให้เห็นจังๆ ใช่ไหม งั้นก็ทำ ซูชิหน้าเบิร์น เอามาเป็นจุดขายเลย” คุณตี๋ เล่า

คิดได้ดังนั้นก็ลงมือทำ ปัจจุบันขายมาได้กว่า 1 ปีแล้ว ผลตอบรับที่ได้คือ ลูกค้ามีความสุขและเข้ามาอุดหนุนตลอด มีลูกค้าหน้าใหม่เข้ามาซื้อจากการบอกต่อและซื้อซ้ำ ก็ทำให้ทั้งคุณตี๋และคุณธนภณ ใจชื้นและมีกำลังใจมากขึ้น

“เราเน้นทำสดใหม่ตลอดเวลา แล้วก็ต้องมีความสะอาด ที่ลูกค้าเข้ามาก็จะเห็นได้เลยทั้งหน้า-หลังร้านแม้เราจะเป็นร้านเต็นท์ตลาดนัด นอกจากนั้นซูชิร้านเรามีกลิ่นหอมจากการเบิร์น ทำให้ซูชิมันน่าทานมากขึ้น ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการก็ผ่อนคลายเพราะเราพยายามทำให้เขารู้สึกผ่อนคลายและมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเราตลอดการสั่งซื้อ จนตอนนี้เราขยายสาขาได้กว่า 9 สาขา ไม่ใช่แฟรนไชส์นะครับ แต่เป็นเพื่อนๆ กันนี่แหละที่เข้ามาบริหารแต่ละสาขา เราอยากทำให้ระบบมันมั่นคงและมีคุณภาพก่อน ค่อยต่อยอดไปแฟรนไชส์ ก็ทำกันไป พัฒนากันไปเรื่อยๆ แม้จะใช้เวลานานไปสักหน่อย แต่เรามั่นใจว่าร้านเราจะมีคุณภาพและจะได้ฐานลูกค้าที่ยั่งยืนแน่นอน” คุณตี๋ เล่าอย่างนั้น

โดยซูชิที่ร้านของคุณตี๋ มีมากกว่า 60 หน้า และยังมีหน้าใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกร้านจะมีจำนวนหน้าซูชิมากขนาดนั้น เพราะขึ้นอยู่กับขนาดของแต่ละสาขาที่สามารถทำวางขายได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีหน้ายอดนิยมยืนพื้น เช่น เบคอนเบิร์นหม่าล่า ที่เป็นหน้าซิกเนเจอร์ที่ขายดีของร้าน เป็นต้น

“ร้านเราพร้อมปรับเปลี่ยนตลอดเวลาครับ วันหนึ่งก็พยายามจะออกหน้าใหม่ๆ มา 2-3 หน้า อย่างเสาร์-อาทิตย์ เราจะมีซูชิหน้าเนื้อส่วนน่องลายมาวางในร้าน ซึ่งเราก็ขาย 10 บาทเหมือนหน้าอื่น ถามว่าตอนนี้ทุนทุกอย่างขึ้น เราก็ยังอยู่ได้เพราะอาศัยพวกน้ำปรุงข้าวกับสูตรซอสที่เราทำเอง พอเอามาเฉลี่ยรวมกัน หักลบแล้วมันก็ลดไปได้เยอะ”

“ลูกค้าก็มีถามครับว่าทำไมไม่ขึ้นราคาสักที แต่เรามองว่า เราอยากให้คนได้กินของดีๆ อร่อยๆ เหมือนกันหมด และด้วยความที่มันเป็นซูชิตลาดนัด ถ้าขึ้นราคาไปมากกว่านี้ มันจะขายไม่ได้ เวลาคิดราคาเลยคิดง่ายๆ ให้ซื้อง่าย ทอนเงินง่าย รสชาติกับราคาต้องคุ้มค่ากับลูกค้า มันก็ส่งผลให้กิจการเราดำเนินต่อไปได้ ตอนนี้ก็กำลังจะขยายเปิดสาขาที่ 10 แล้วครับ” คุณตี๋ ว่าอย่างนั้น

เจ้าของร้านซูชิเบิร์นนน…มั๊ย ยังเล่าต่อว่า กลุ่มลูกค้าของร้านเรียกว่ามีครบทุกช่วงวัยและทุกเพศ เพราะซูชิเป็นอาหารที่กินง่าย เป็นมื้อหลักหรือรองท้องก็ได้

“ร้านที่ตลาดพลู จะเปิดประมาณ 4 โมงเย็น ถึง 3 ทุ่มครึ่ง เฉลี่ยก็ขายได้ 5-6 ร้อยคำ แต่บางวัน 6 โมงก็ขายหมดแล้ว เพราะลูกค้าบางคนก็ซื้อเยอะ แล้วของร้านเราทำจำกัด เพราะบางหน้าเป็นของสด ทำวงไปนานๆ มันจะเซตตัว จะไม่ค่อยอร่อย ฉะนั้น ใครอยากกินต้องมาเร็วนิดหนึ่ง ออกมาขายตรงนี้ก็ดีนะ ได้กำไร 35-40% มันก็โอเคในระดับหนึ่ง”

“ผมว่าซูชิคือศิลปะ ถ้าทำตามคนอื่น มันก็จะเหมือนคนอื่น ฉะนั้น ถ้าอยากขาย อย่างแรกต้องมีเวลาและความใส่ใจกับการทำ เพราะถ้าไม่มีเวลา ไม่ใส่ใจ สินค้าก็จะออกมาไม่ดีและส่งผลต่อร้านได้นะ ดังนั้น เป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องใส่ใจและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ คุยกันตรงๆ ร้านแบบนี้ ใช้เงินทุนไม่เยอะ มันอยู่ที่ ที่ที่เราไปตั้งขาย ธุรกิจนี้มันยังไปต่อได้ แม้การแข่งขันมันจะสูง เพียงแต่เราต้องใช้ความอดทนและสร้างตัวตนให้ได้ ถ้าทำได้ เราก็ไปได้ดี ไม่แน่ถ้าโควิดหาย ผมอาจจะขยายสาขาไปประเทศเพื่อนบ้านก็ได้ ใครจะรู้อนาคต” คุณตี๋ กล่าวทิ้งท้าย

 

เผยแพร่เมื่อ วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2565

Related Posts

จากนักเรียนไทยในแดนมังกร หิ้วสินค้าไทยไปขาย สู่นักไลฟ์สดมือโปร กวาดเงิน 5 ล้านบาท ใน 2 ชั่วโมง