เปิดเส้นทาง “บ้านทองหยอด” จากโรงงานขนมไทย สู่แหล่งผลิตนักแบดระดับโลก
“บ้านทองหยอด” แหล่งผลิตขนมหวานหลากชนิดที่เรารู้จักกันดี แต่นอกจากการผลิตขนมหวานแล้ว ยังส่งออกเหล่านักกีฬาแบดมินตันมากฝีมือ อย่าง เมย์-รัชนก อินทนนท์ แชมป์โลกแบดมินตันที่อายุน้อยที่สุด และล่าสุด วิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์ นักแบดมินตันชายเดี่ยวมือ 4 ของโลกชาวไทย คว้าเหรียญเงินโอลิมปิกเกมส์ 2024
แต่ก่อนที่บ้านทองหยอดจะมาเป็นแหล่งผลิตนักกีฬาเก่งๆ ที่แห่งนี้เป็นโรงงานทำขนมมาก่อน และวันนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ จะพาทุกท่านมาดูเส้นทางความเป็นมาของบ้านทองหยอด จากโรงงาน สู่แหล่งผลิตนักกีฬา
จุดเริ่มต้นจากโรงงานขนม สู่แหล่งผลิตนักแบดทีมชาติ
แม่ปุก-กมลา ทองกร เจ้าของโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ได้เล่าเรื่องราวชีวิตผ่านรายการ Perspective ไว้ว่า ในสมัยก่อนชีวิตค่อนข้างลำบาก แม้แต่จะทำผัดผักบุ้งกิน ยังต้องผัดกับน้ำเลย แต่ความลำบากทำให้ต้องต่อสู้และดิ้นรน เลยต้องหาทุกวิถีทางที่ทำแล้วได้เงินมาจุนเจือครอบครัว
ด้วยครอบครัวมีพี่น้อง 7 คน รายได้ไม่พอ คุณแม่ของเธอเลยคิดว่าจะลองทำฝอยทองขาย จึงทำให้แม่ปุกตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยที่บ้าน และเสียสละให้พี่ๆ เรียนต่อไป แต่หลังจากที่เริ่มทำไป งานที่บ้านเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น จึงตัดสินใจเข้าเรียนศึกษาผู้ใหญ่ต่อ
ขนมฝอยทองพลิกชีวิตที่แท้จริง จากบ้านที่เช่าอยู่ หลังจากที่ขายขนมได้รายได้งาม จนทำให้ครอบครัวขยับขยาย ซื้อที่ดินและปลูกบ้านเป็นของตัวเอง จนกระทั่ง แม่ปุกแต่งงาน และย้ายออกมา และต้องทำขนมเป็นของตนเอง เพื่อไม่ให้ซ้ำกับที่ทางบ้านทำ
แม่ปุกเลยคิดค้น และทำทองหยอด เริ่มจากวันแรกๆ ได้เพียงหมื่นกว่าลูก จนเติบโตมาเป็นหลายๆ แสนลูก ในตอนนั้นแม่ปุกมีอายุเพียง 20 กว่าปี ก็สามารถซื้อบ้านได้ถึง 3 หลังเลยทีเดียว แต่ว่าสถานที่ไม่อำนวยในการทำการผลิตขายส่ง จึงตัดสินใจมาซื้อที่เพื่อขยับขยายใหญ่ขึ้น จนมาเป็นบ้านทองหยอดอย่างทุกวันนี้
แต่จากที่เล่ามา ยังมองไม่เห็นว่า จุดเริ่มต้นของแหล่งผลิตนักกีฬาอยู่ตรงไหน แม่ปุก เล่าต่อว่า เริ่มจากที่เธอและสามีชอบเล่นกีฬาเป็นงานอดิเรกอยู่แล้ว พอถึงวันหยุดก็จะพาลูกๆ ไปตีแบด เลยอยากมีสนามแบดอยู่ในบ้าน เพื่อเอาไว้ออกกำลังกาย
ในปี พ.ศ. 2534 ได้กำเนิดชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอดขึ้น และขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกสามัญของสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งตอนนั้นมีนักกีฬาเพียง 4 คนคือ ลูกๆ และเพื่อนๆ ของลูก
ในตอนนั้น มีการจ้างโค้ช พรโรจน์ บัณฑิตพิสุทธิ ซึ่งเป็นครูพละมาสอนที่บ้าน แต่เกิดเหตุที่ครูจะต้องย้ายไปรับราชการที่กระบี่ จึงทำการติดต่อกับสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ให้ช่วยติดต่อสมาคมแบดมินตันของประเทศจีนเพื่อขอจ้างโค้ช จนสุดท้ายได้ โค้ชเซี่ย หรือ “เซี่ย จื่อหัว” มาเป็นครูฝึกสอนจนถึงปัจจุบัน

ผลผลิตจาก “บ้านทองหยอด”
หากพูดถึงเรื่องผลผลิตจากบ้านทองหยอด ที่แน่ๆ คือเรื่องรายได้จากการประกอบธุรกิจขนมไทย โดยในปี 2566 ขนมไทยบ้านทองหยอด ทำรายได้สูงถึง 204 ล้านบาท
และนอกจากรายได้ทางธุรกิจแล้ว ผลผลิตน้ำงามของบ้านทองหยอดอีกหนึ่งอย่าง คือ นักกีฬาแบดมินตัน เริ่มต้นจาก เป้-ภัททพล เงินศรีสุข ได้ติดทีมชาติไทยเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2541 และต่อมาสองพี่น้อง เป้-ภัททพล เงินศรีสุข และ เป๊ก-ภาณุวัฒก์ เงินศรีสุข ได้กลายเป็นนักแบดมินตันมือ 1 และมือ 2 ของประเทศไทย
และในปี พ.ศ. 2546 ได้ทำการจัดตั้งเป็นโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด และเป็นเบื้องหลังของความสำเร็จให้กับนักกีฬาแบดมินตันที่ไปทำตามความฝันและหอบความภาคภูมิใจกลับมาให้กับประเทศไทย อย่าง เมย์-รัชนก อินทนนท์ และ วิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์
ขอบคุณข้อมูล