“คำนึงคำตาล” คาเฟ่ขนมไทย จากมหาชัยสู่ใจกลางเมือง ชูน้ำตาลโตนดเมืองเพชร ตัวแทนของขนมที่หลายคนคิดถึง
น้ำตาลโตนด ที่มักจะส่งกลิ่นหอมหวนรัญจวนใจ เป็นวัตถุดิบหลักของคาเฟ่ขนมไทยโฮมเมด อย่าง “คำนึงคำตาล” ที่เปิดขายอยู่ที่ “มหาชัย” แต่อย่าเพิ่งแปลกใจกันไปก่อนว่า อยู่ที่มหาชัย แต่ทำไมถึงใช้น้ำตาลโตนดจาก “เพชรบุรี” และยึดถือเป็นวัตถุดิบหลัก

จนมาวันนี้ ผู้เขียนได้กระจ่างกับข้อสงสัยนี้ เมื่อได้พูดคุยกับ คุณพิม-พฤกษา พฤษศิริสมบัติ อายุ 35 ปี เจ้าของร้านคำนึงคำตาล ถึงที่มาและเรื่องราวของการทำร้านนี้ขึ้น โดยคุณพิม เล่าให้เราฟังว่า
แต่ก่อน ที่บ้านเปิดร้านขายอาหาร เมื่อโตมาก็เปิดร้านอาหารกับพี่ๆ น้องๆ ชื่อร้านว่า Three girls and a boy นั่นสะท้อนให้เห็นว่า เธอคลุกคลีอยู่กับวงการร้านอาหารมาโดยตลอด จึงทำให้เกิดการซึมซับกับสายอาชีพนี้
ร้านอาหารที่เปิด จะเป็นเมนูอาหารคาวเสียมากกว่า แต่จะไม่มีของหวาน โดยส่วนตัว ทางครอบครัวมักจะไปกินอาหารหรือขนมจากที่ต่างๆ จากมหาชัยไปเพชรบุรี สามารถเดินทางวันเดียว เพื่อไปกินลอดช่องได้ โดยที่ไม่รู้สึกว่าไกล ได้ลองกินลอดช่องที่ใช้น้ำตาลโตนดเป็นวัตถุดิบหลัก เพราะที่นั่นเขาขึ้นชื่อในเรื่องของน้ำตาลโตนดอยู่แล้ว เมื่อได้ลองกินไป เลยรู้สึกติดใจ ทำไมของอร่อยๆ แบบนี้ ทำไมถึงยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก เพราะส่วนตัวคิดว่าเป็นสิ่งที่หากินได้ยากในมหาชัยและในกรุงเทพฯ
โดยส่วนตัว เป็นคนชอบน้ำตาลโตนดอยู่แล้ว เลยคิดว่า ถ้าจะทำขนมอะไรสักอย่าง จะต้องนำสิ่งที่ชอบเข้ามาประกอบอยู่ด้วย จึงวางคอนเซ็ปต์มาให้น้ำตาลโตนดเป็นวัตถุดิบหลัก จากนั้นจึงค่อยๆ หาขนมตัวอื่นๆ ที่ชอบ แต่หากินได้ยาก มานำเสนอในรูปแบบของเรา
จากความชอบ สู่ ร้านขนมไทยโมเดิร์น
จากความคิดนั้น ส่งต่อมาเป็นร้านที่ชื่อว่า “คำนึงคำตาล” โดยมีที่มาว่า “คำนึง” เป็นตัวแทนของขนมที่เราคิดถึง เป็นขนมในความทรงจำ ส่วน “คำตาล” มาจากน้ำตาลโตนด ตอนแรกลังเลว่าจะใช้คำว่า “คำนึง” หรือ “คำตาล” ดี แต่เลือกไม่ได้ เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ก็บอกว่า ให้ใช้ “คำนึงคำตาล” ไปเลย สุดท้ายก็กลายเป็นชื่อนี้
อย่างตัวที่เป็นซิกเนเจอร์ของทางร้าน จะเป็นแป้งกะลอจี๊ รู้สึกว่าบ้านเราหากินยาก อาจจะมีเฉพาะช่วงกินเจ อีกอย่างคือเห็นว่าคุณแม่ชอบ เลยลองทำดู แล้วกินคู่กับน้ำตาลโตนด แล้วหาอะไรต่างๆ มาจับคู่เพื่อให้ดูเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายมากขึ้น
จะเรียกว่าความโดดเด่นกว่าร้านอื่นๆ คุณพิม บอกว่า อาจจะเขินๆ แต่ทางร้านตั้งใจที่จะนำเสนอรูปแบบขนมในแบบที่อาจจะต่างออกไปจากเดิม โดยไม่ได้ยึดติดแบบเก่าๆ แต่ปรับเพื่อให้ขนมมีความทันสมัยและสร้างความดึงดูดให้กับลูกค้าได้
โดยเมนูในร้านมีให้ลูกค้าเลือกมากมาย อาทิ ลอดช่องคำตาล เส้นลอดช่องทำเองสดใหม่ ราดด้วยน้ำตาลข้นสูตรเฉพาะและน้ำกะทิ ในราคา 40 บาท
น้ำแข็งไสสับปะรดพริกเกลือพร้อมเนื้อสับปะรดและเจลลี่สับปะรด ในราคา 65 บาท ขนมปังคำตาลครีมสดมะพร้าวอ่อน ในราคา 65 บาท ขนมปังอบซอสไข่เค็มลาวา ในราคา 50 บาท ไอติมโฮจิฉะ+แป้งทอดซิกเนเจอร์+ครัมเบิ้ลถั่ว ในราคา 80 บาท แผ่นแป้งทอดสูตรเฉพาะ ราดซอสน้ำตาลข้น โรยด้วยครัมเบิ้ลถั่ว ทานคู่กับไอติมโฮจิฉะ ในราคา 120 บาท และอีกหลากหลายเมนูให้เลือก
ทีมที่ดี คือจุดแข็งของการทำธุรกิจ
นอกจากมีการรังสรรค์เมนูต่างๆ แล้ว ในเรื่องของการบริหารจัดการร้าน คุณพิมเอง ก็เล่าว่า มีการทำงานกันเป็นทีมในกลุ่มพี่ๆ น้องๆ โดยแบ่งตามความถนัดของแต่ละคน อย่างคุณพิมถนัดเรื่องขนม ก็จะดูแลในส่วนนี้ เรื่องของหน้าร้านที่ถือเป็นภาพลักษณ์ที่จะแสดงออกไป จะมีพี่สาวและน้องสาวคอยดูแลให้
“จุดแข็งที่เห็นสำคัญที่สุดคือ ทีมที่ดี ที่ช่วยกัน ลงทั้งแรง ลงทั้งใจ ลงทั้งความคิด” เธอกล่าว
ส่วนเรื่องการคัดสรรวัตถุดิบ โชคดีมากที่ได้ซัพพลายเออร์ที่ดี แต่กว่าจะหาแหล่งวัตถุดิบได้ก็ใช้ระยะเวลาพอสมควร แต่ปัญหาของราคาต้นทุน ในระยะเวลา 1 ปีที่ทำร้านมา เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก อย่าง มะพร้าวน้ำหอม ราคาค่อนข้างปรับขึ้นปรับลงอยู่บ่อยๆ มีช่วงหนึ่งที่ ลูกละ 25 บาท ผ่านไป 3 เดือน กลายเป็นลูกละ 50 บาท และหาได้ยากมาก เพราะขาดตลาด อันนี้ก็ถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญในการทำร้านอาหาร ที่จะต้องค่อยๆ เรียนรู้กันไป
แน่นอนว่า การทำธุรกิจ ปัญหา เป็นเรื่องปกติที่ต้องเจอ เพราะการเปิดร้านอาหารมันไม่ใช่แค่การทำอาหาร แต่องค์ประกอบโดยรวมมีหลายอย่างมากๆ เช่น วัตถุดิบ การบริหารคน การรักษาคุณภาพ หรือแม้แต่การติดต่อสื่อสารกับลูกค้า ซึ่งเป็นปัญหาที่เรียนรู้ไม่สิ้นสุด แต่ในทุกๆ ปัญหา อย่างตอนแรกที่บอกว่าจุดแข็งคือทีมที่ดี ดังนั้น เมื่อมีปัญหาเข้ามา ก็จะช่วยกันแก้
เปิดปีกว่า ขยายไป 3 สาขา
เปิดสาขาที่มหาชัยไม่นานก็บุกเข้าเมืองเพื่อไปสร้างฐานลูกค้าให้รู้จักมากขึ้น เพราะมองว่า ตลาดในมหาชัยค่อนข้างเล็ก ผู้บริโภคค่อนข้างน้อย โดยอยากไปลองเปิดที่กรุงเทพฯ โดยที่แรกที่ไปคือ ตึกมหานคร และต่อยอดไปเปิดอีกที่ One Bangkok และมี Pop up อีกหลายที่ เพราะมองว่าโอกาสไม่ได้มีเข้ามาบ่อยๆ จึงอยากหาโอกาสและเมื่อได้รับมาแล้ว ก็อยากจะทำออกมาให้ดีที่สุด ด้วยความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างการใช้วัตถุดิบจากน้ำตาลโตนด ประกอบกับมีผู้เล่นในตลาดน้อย จึงสามารถเข้ามาเติบโตในตลาดคนกรุงได้
ปัจจุบัน คำนึงคำตาล เปิดให้บริการมาเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน และได้รับผลตอบรับที่ดีกว่าที่ตั้งเป้าเอาไว้เยอะมาก เพราะไม่คิดว่าภายใน 1 ปีจะมีสาขาอยู่ในห้างได้เร็วขนาดนี้
คุณพิมเอง มองคำนึงคำตาลในอนาคตไว้ว่า อยากเห็นคำนึงคำตาลเป็น Stand Alone ในกรุงเทพฯ สักหนึ่งร้าน เพื่อจะได้เป็นตัวเองอย่างสมบูรณ์ เพราะบางครั้งการอยู่ในห้าง อาจมีพื้นที่จำกัดและหลายๆ อย่างที่จำกัด จึงทำให้เป็นตัวเองไม่ได้ 100% ร้านอาจจะไม่ต้องใหญ่มาก แต่ให้มีทีมเก่งๆ
สุดท้ายนี้ อยากฝากไปยังผู้ประกอบการท่านอื่นๆ ไว้ว่า
“ทุกๆ ธุรกิจ เริ่มมาจากความคิดและการวางแผน และสิ่งที่สำคัญเลยคือการลงมือทำ 2 สิ่งนี้ต้องมาพร้อมกัน ถึงจะเกิดขึ้น อยากให้มั่นใจว่า ถ้าเรารักที่จะทำมันก็ให้ลองกันไป อย่างน้อยถ้ามันไม่ได้เป็นอย่างที่เราหวัง เราก็ไม่เสียดายโอกาสที่เราคิดแล้วเราได้ทำมัน”
หากใครอยากไปสัมผัสรสชาติขนมหวานจากร้าน “คำนึงคำตาล” ตามไปกันได้ที่
📍สาขา มหาชัย (เวลาเปิด-ปิด : 10.00-18.00 น.)
(ถนนเอกชัย, ใกล้ ธ.ก.ส.)
📍สาขา Mahanakorn (เวลาเปิด-ปิด : 10.00-21.00 น.)
(ตึกมหานครคิวบ์, โซน THAI TASTE HUB ชั้น 1)
📍สาขา One Bangkok (เวลาเปิด-ปิด : 10.00-21.30 น.)
(โครงการ One Bangkok, ตึก The Parade ชั้น 3, ตรงข้าม Sushiro)
📍สาขา Central World (Pop-up : untill 16 March)
(เวลาเปิด-ปิด : 10.00-21.30 น.)
(ชั้น 7, หน้าโรงหนังและ Tops Supermarket)