เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
Exclusive Featured

เปิดสูตรความสำเร็จ Olio Pasta จากอาชีพเสริม สู่พาสต้ายอดฮิตย่านปิ่นเกล้า ยอดขายพุ่ง 1,000 กล่อง/วัน

จากจุดเริ่มต้นที่อยากหาอาชีพเสริม จึงเกิดไอเดียทำเป็นธุรกิจเล็กๆ โดยเปิดเป็นร้านสปาเกตตีเสิร์ฟในสไตล์ข้าวราดแกง วางขายเป็นถาดๆ ให้ในปริมาณที่เยอะ ซอสฉ่ำ ล้นกล่อง ราคาหลักสิบ จนกระทั่งมีเพจดังมารีวิว ทำให้เหมือนพลิกชีวิตสร้างยอดขายได้ 1,000 กล่องต่อวัน 

วันนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณโอ๋-ธมนณัท ก๋งอุบล เจ้าของธุรกิจ Olio Pasta (โอลิโอ้ พาสต้า) ร้านสปาเกตตีสุดไวรัลที่ตลาดอินดี้ปิ่นเกล้า

จากอาชีพเสริมสู่ธุรกิจหลัก

แต่เดิมคุณโอ๋เคยทำธุรกิจคาเฟ่และโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษที่แม่กลองมาก่อน แต่ทว่าต้องย้ายเข้ามาในกรุงเทพฯ เพราะลูกสาวต้องเข้ามาเรียนต่อในระดับชั้นมัธยม เธอจึงต้องมาทำงานประจำอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่ง 

จนเมื่อเวลาผ่านไปกระทั่งลูกสาวอยู่ชั้นมัธยมปลาย ทำให้คุณโอ๋มีเวลาว่างมากขึ้นและเริ่มมองหารายได้เสริม โดยโอกาสก็เข้ามาแบบไม่คาดคิด เมื่อหลานของเธอที่เปิดร้านขายมะพร้าวอยู่ตลาดอินดี้ปิ่นเกล้า และให้เธอเข้าไปช่วยดู ทำให้เธอมองเห็นช่องทางการขาย ว่าตลาดนี้น่าจะทำอาชีพเสริมได้ จึงลองเปิดร้านอาหารดู เริ่มจากขายขนมจีนน้ำยาใต้ ข้าวผัด และสปาเกตตี

คุณโอ๋ เล่าว่า ด้วยความที่ตนนั้นเป็นคนชอบทำอาหาร และมักจะทำสปาเกตตีให้ลูกทานเป็นประจำ ลูกจึงแนะนำให้ลองขายดู เพราะยังไม่มีใครทำขายจริงจังในตลาดนัด 

เธอเริ่มศึกษาการทำอาหารผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ดูคลิปจากเชฟหลายๆ ท่าน และนำมาลองผิดลองถูก จนได้สูตรที่ถูกใจ โดยเริ่มขายช่วงแรกมีประมาณ 7-8 เมนูเท่านั้น แต่เมื่อได้รับผลตอบรับที่ดี จึงขยายเมนูเพิ่มจนปัจจุบันมี 13 เมนู 

“สาเหตุที่ขายสปาเกตตีในตลาด อย่างแรกคือ ตลาดแถวนั้นกลุ่มลูกค้าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา และแถวนั้นยังไม่มีใครทำสปาเกตตีขายเป็นถาด มีแต่แนวจานต่อจาน”

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อมีเพจรีวิวอาหารชื่อดังที่มีผู้ติดตามมากถึง 2 ล้านคน ได้เข้ามารีวิวที่ร้าน Olio Pasta และเมื่อคลิปลงไปภายในวันเดียว ก็ได้รับผลตอบรับอย่างล้นหลาม ลูกค้าเข้ามาไม่ขาดสายจนทำแทบไม่ทัน 

“มันเหมือนพลิกชีวิตเลยค่ะ เพราะวันรุ่งขึ้นลูกค้ามาตู้มเลย เราก็งงว่าลูกค้ามาจากไหน เขาก็บอกว่ามาจากเพจนี้ เลยเป็นที่มาของการขายดี” คุณโอ๋ กล่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

จากเดิมที่เคยทำ 10 เสิร์ฟต่อ 1 ถาด ต้องขยายเป็น 15 เสิร์ฟ และทำการเช่าล็อกเพิ่มไว้สำหรับทำสปาเกตตีโดยเฉพาะ และจัดการคิวให้เป็นระบบ เพื่อรองรับลูกค้าที่มากขึ้น

“ตอนแรกตั้งรับไม่ทันเพราะปริมาณลูกค้าเยอะเกินไป และพื้นที่เรามีจำกัดแค่ 2×2 เมตร เลยต้องเช่าล็อกเพิ่มเพื่อเอาไว้แยกต้มเส้นเพื่อให้ทันกับลูกค้า เพราะถ้าคิวยาวเกินไป ก็จะไปสร้างความเดือดร้อนให้ร้านข้างๆ ได้ เลยต้องย้ายล็อกเพื่อที่จะไม่ไปรบกวนร้านอื่น” 

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ขายดี คือที่ร้านจะให้ปริมาณที่เยอะล้นกล่อง แถมยังไม่หวงน้ำซอส ลูกค้าสามารถขอเพิ่มได้เลย เพราะที่นี่เขาจะให้ซอสฉ่ำๆ อยู่แล้ว

“ปริมาณที่เราให้กับราคาที่ขายบอกเลยว่าได้กำไรไม่เยอะ แค่ 20% ถ้าตอนแรกที่ขายทำเป็นรายได้เสริมขายได้ 200-300 กล่อง จนปัจจุบันเราขายได้วันละ 1,000 กว่ากล่อง ทำให้ตอนนี้ไม่ได้ทำเป็นอาชีพเสริมแล้ว แต่กลายเป็นอาชีพหลัก เพราะต้องทำแบบเต็มตัว”

จัดหน้าร้าน…วางถาดเหมือนร้านข้าวแกง

“เราไม่ได้อยากทำจานต่อจานเพราะจะไม่ทันกับเวลา อย่างร้านอาหารตามสั่งทั่วไปใช้เวลาในการขายเต็มที่เลยประมาณ 3 ชั่วโมง เพราะช่วงพีกๆ ที่ลูกค้ามาเดินตลาดจะตั้งแต่เวลา 6 โมงเย็นไปจนถึง 2 ทุ่มครึ่ง หลังจากนั้นลูกค้าจะซาแล้ว”

ทำให้เกิดความคิดที่ว่าถ้าทำจานต่อจานก็อาจจะได้ไม่ถึง 100 จาน แต่ลูกค้าที่อยากทานมากกว่า 100 เลยจำเป็นต้องทำในปริมาณที่เยอะ ทำให้เกิดไอเดียทำลงในถาด เพื่อให้ลูกค้ามองเห็นว่าน่าทาน และตักลงแพ็กเกจจิ้งได้ง่าย จึงต้องทำเป็นถาดเพื่อให้ทันเวลาในการขาย

เมนูซิกเนเจอร์จะเป็น ‘ครีมกุ้งเลมอน’ ที่ขายดีเพราะตัวซอสจะไม่หนักเกินไป เป็นครีมสดเบาๆ ตัดด้วยความเปรี้ยวของเลมอน และตบท้ายด้วยไข่กุ้ง ให้ได้เทกซ์เจอร์ที่มีลูกเล่นที่ทานแล้วสนุกขึ้น

อย่างเมนูซอสโรเซ่ จริงๆ แล้วตัวซอสจะมาจากฝรั่งเศส แต่คุณโอ๋มีการนำมาดัดแปลงเพิ่ม ‘โคชูจัง’ ของเกาหลีเข้าไปในซอสด้วย ทำให้ไม่เลี่ยนและมีความซับซ้อนมากขึ้น

จุดเด่นของ Olio Pasta

โดยจะแบ่งเป็น 3 ส่วน อย่างแรก ‘โปรตีน’ เธอจะมีการตั้งว่าจะใช้โปรตีนอะไรใส่ในสปาเกตตี ซึ่งโปรตีนที่มีหลักๆ ได้แก่ เบคอน แฮม ไส้กรอก อย่างต่อมาจะเป็น กุ้ง และอย่างที่ 3 คือ อกไก่

“อย่างบางคนเป็นอิสลามเขาก็จะไม่ทานหมู เราก็มีเมนูกุ้งกับไก่ หรือบางคนแพ้กุ้งก็จะมีทางเลือกเบคอน แฮม ไก่ เลยกลายเป็นว่าตัวโปรตีนหลักจะเป็น 3 ตัวนี้”

ต่อมาจะเป็น ‘เส้นพาสต้า’ ถ้าเป็นชาวต่างชาติส่วนใหญ่เขาจะชอบทานแบบนุ่มข้างนอก ข้างในจะกรุบๆ แต่จะไม่ค่อยดูดน้ำซอส เหมาะกับการทานสดใหม่จานต่อจาน อีกหนึ่งอย่างคือแบบที่นุ่มไปเลย แต่ข้อเสียคือจะทิ้งไว้นานไม่ได้ เพราะจะเละ 

ทำให้เธอต้องพยายามหาตรงกลางว่าจะทำอย่างไรดีถ้าลูกค้าซื้อไปแล้วเก็บได้นาน เส้นไม่เละ ไม่แข็ง ทำให้เธอต้องทดลองทำอยู่นานจนได้เป็นเส้นที่ไม่เละ ไม่แข็ง เอาไปแช่ช่องฟรีซและนำออกมาอุ่นก็ยังคงความอร่อยได้

เริ่มจากสิ่งที่ชอบ สู่ธุรกิจที่ยั่งยืน

“ตอนแรกไม่ได้คิดเลยว่าจะมาถึงจุดนี้ คิดแค่ว่าทำเป็นอาชีพเสริมได้กำไรวันละนิดก็พอแล้ว”

สิ่งที่ทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ หนึ่งคือ เรื่องของราคาที่ไม่ได้แพง อย่างต่อมาที่ขาดไม่ได้คือ รสชาติที่อร่อย เพราะถ้าลูกค้าได้มาลองแล้วติดใจ เขาก็จะกลับมาซื้อซ้ำ

“ทุกอาชีพไม่ใช่แค่ค้าขาย คือเราต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเราเองและลูกค้า สองคือ ต้องมีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่น ขยัน อดทน เพราะกว่าจะทำธุรกิจสำเร็จได้ไม่ใช่เรื่องง่าย”

Related Posts

เปิดจักรวาล Karun! ปั้นแบรนด์น้องใหม่ เจริญสังขยา, Summer Bowl และ Avery Wong ปี 66 รายได้รวม 100 ล้านบาท  
เปิดเทรนด์ผู้บริโภคยุคนี้ ไม่เน้นถูกสุด แต่ต้อง ‘คุ้มสุด’