“คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย” โบราณท่านว่าไว้ เอามาใช้ได้ แม้ในการทำธุรกิจ
การทำธุรกิจแบบ “หันหลังพิงกัน” คือ การพึ่งพาอาศัยกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่หวังด้วยกัน สมัยนี้เรียกว่า “Collaboration” แปลเป็นไทยคือ การร่วมมือกัน
เราอาจเห็นการเขียนย่อ “X” เช่น บอกว่า แบรนด์ ก ไก่ X แบรนด์ ข ไข่ ก็หมายถึง แบรนด์ ก ไก่ และแบรนด์ ข ไข่ มีการ Collab หรือ Collaboration กัน นั่นเอง แต่ผมขอเรียกง่ายๆ แบบชาวบ้านๆ ว่า “หันหลังพิงกัน” นะครับ
การหันหลังพิงกันในธุรกิจ ไม่ใช่เพิ่งเกิด ไม่ใช่ว่าเพิ่งมาฮิตกันในปีสองปีนี้เท่านั้น แต่มีมานานแล้ว คนรุ่นปู่ย่าตายายพวกเรา โดยเฉพาะคนจีนที่เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทย ท่านเหล่านั้น ล้วนเป็นนักคอลแลบทั้งสิ้น นิยมทำธุรกิจแบบหันหลังพิงกัน ช่วยกัน เอื้ออาทรกัน
เบสิคการหันหลังพิงกัน ของคนขายสตรีตฟู้ดทั้งหลายคือ การยินยอมให้ลูกค้าของอีกเจ้า มานั่งกินที่โต๊ะของร้านเรา นึกภาพสตรีตฟู้ด ที่แต่ละเจ้าก็มีโต๊ะ เก้าอี้ แค่ 2-3 ชุด แต่บางทีลูกค้ามากันเป็นกลุ่ม คนนี้อยากกินร้านนี้ อีกคนอยากกินร้านนั้น
แต่ปัญหาคือ ร้านนี้ไม่เสิร์ฟ ถ้าคุณนั่งโต๊ะอีกร้าน อีกร้านก็บอก ห้ามนำของร้านอื่นมากินบนโต๊ะร้านฉัน
แล้วไง…มากัน 4 คน อยากกิน 4 อย่างไม่เหมือนกัน ต้องแยกกันนั่ง 4 ร้าน ยังงี้เหรอ?
ผมเห็นร้านสตรีตฟู้ดคนจีนสมัยก่อน นั่งได้ สั่งได้ ช่วยเก็บเงินแทนอีกร้านด้วย อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเวลาคิดเงิน แต่ละร้านไม่ต้องมีอุปกรณ์โต๊ะเก้าอี้เยอะ แต่มีที่นั่งทั้งตลาด
มาถึงยุคที่เราทำธุรกิจกันในรูปแบบบริษัท แบบองค์กรธุรกิจเต็มรูปแบบ การหันหลังพิงกัน ก็พัฒนาการมาสู่การร่วมมือกันทางธุรกิจ ทั้งในลักษณะทางตรง หรือทางอ้อม ก็แล้วแต่จะกระทำ
ในปัจจุบัน ยุคที่ต่างต้องสร้างความเป็นตัวตนอันเป็นเอกลักษณ์ของสินค้า ขององค์กร ที่เราเรียกกันว่า “แบรนด์” ต่างฝ่าย ต่างต้องระมัดระวังมากขึ้นว่า การร่วมมือกัน เพื่อหันหลังพิงกันทางธุรกิจ ต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์และความเป็นตัวตนของเราด้วย
แล้วดีไหม…ถ้าจะหันหลังพิงกับใคร?
ดีสิ…ดีแน่นอนเลย เชื่อผม เพราะอะไรหรือครับ เพราะอย่างแรก เราได้ขยายฐานลูกค้าของเราแน่นอน แต่ละแบรนด์ ย่อมมีลูกค้า มีแฟนคลับของตัวเอง การประกาศตัวมาหันหลังพิงกัน เท่ากับลากเอาแฟนคลับของตัวเองมารวมกัน
อย่างที่สอง ในเรื่องการทำกิจกรรมทางการตลาดหลายอย่าง ประหยัดงบประมาณ เพราะช่วยกันจ่าย แชร์กันออก แต่ถ้าอีกแบรนด์รวยกว่าเยอะ แล้วจะมาทำตัวป๋าสายเปย์ ออกงบประมาณให้ทั้งหมด เชื่อว่าอีกฝ่ายก็คงไม่ขัดหรอกมั้ง
อย่างที่สาม ธรรมชาติของลูกค้าแต่ละแบรนด์ เวลามีอะไรใหม่ จะกระดี๊กระด๊า หวือหวา ตื่นเต้น นักการตลาดเลยแนะนำเรื่องการพัฒนา ปรับปรุง หรือการออกสินค้าใหม่ๆ เพื่อมากระตุ้นต่อมลูกค้า ให้กระชุ่มกระชวยอยู่เสมอ แต่การคิดคนเดียว “หัวหาย” แบบโบราณว่าคือ มุกใหม่ๆ ไม่ใช่หาง่าย แต่เมื่อไรที่มีการแลกเปลี่ยน เปิดมุมมอง อะไรใหม่ๆ ก็พร้อมเกิด
อย่างที่สี่ ถ้าสิ่งที่ออกมาใหม่ เกิดเป๊ะปัง โดนใจกลุ่มเป้าหมายของทั้ง 2 แบรนด์ขึ้นมา ทีนี้แหละจะเอาช้างมาฉุดก็หยุดไม่อยู่ โอกาสขยายตัวทางธุรกิจ รวมไปถึงการหาอะไรใหม่มาเปิดตลาดเพิ่ม ย่อมไม่ไกลเกินจริง นั่นแปลว่า โอกาสการขยายธุรกิจจากการหันหลังพิงกันมีสูงมาก
ดังนั้น เราจึงเห็นแบรนด์ระดับโลก เขาก็หันหลังพิงกัน เช่น รถยนต์ BMW X หลุยส์ วิตตอง ที่ออกกระเป๋าชุดพิเศษเข้ากับรถ BMW i8 คนใช้ BMW คงชื่นชอบ เพราะมีกระเป๋าที่เข้ากับรถที่ขับ
Apple เจ้าแห่งเทคโนโลยี กับ Nike เจ้าแห่งกีฬา ก็เคยคอลแลบกัน ทำแอปเปิลวอตช์ไนกี้ออกมา ให้คนสายกีฬาได้มีอุปกรณ์เท่ๆ ไว้ชี้วัดโน่นนี่นั่นเวลาออกกำลังกาย
เมืองไทยก็ไม่น้อยหน้านะ แบรนด์ดอยตุง ที่สามารถสร้างผ้าทอสวยๆ ยังเคยคอลแลบกับแบรนด์รองเท้าดัง โอนิซึกะ ไทเกอร์ ส่งผ้าทอไทยเป็นลวดลายเฉิดฉายของรองเท้าโอนิซึกะ ไทเกอร์ มาแล้ว
ส่วนตลาดของกิน เลย์เจ้าแห่งมันฝรั่ง เจอกับ KFC ให้กำเนิด มันฝรั่งรสวิงส์แซ่บ และรสไก่ทอดสูตรผู้พัน สายขบเคี้ยวคงชื่นชอบ เพราะได้อารมณ์ประมาณกินเลย์ด้วย กินเคเอฟซีด้วย ในเวลาเดียวกัน ก็ประหยัดดีนะ
เยลลี่ปีโป้กับ M150 เครื่องดื่มชูกำลัง มีการออกปีโป้รสชาติ M150 หรือเครื่องดื่มสมุนไพร ที่ Sappe ร่วมมือกับตะขาบ 5 ตัว และเมื่อเร็วๆ นี้ ซีอิ๊วตราเด็กสมบูรณ์ ก็จับมือกับ Lotus’s ออกเบเกอรี่ ที่เอาซีอิ๊วไปเป็นส่วนผสมของขนม คิดภาพตามไม่ออกเลย
ยังมีอีกมากมายครับ ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ก่อเกิดจากแนวคิด “หันหลังพิงกัน” สร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ทางการตลาดขึ้นมา บ้างก็ประสบผลสำเร็จเกินคาด บ้างก็ยังไม่เข้าเป้า ดีบ้าง แป้กบ้าง ตามธรรมดาของการตลาด แต่อย่างน้อย ก็เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา
แล้วถ้าธุรกิจของเรา คิดอยากหันหลังพิงกับใครบ้างล่ะ ควรทำอย่างไร?
อย่างแรกที่ควรพิจารณา เลือกให้ถูกคน การจะหันหลังพิงกับใคร เหมือนการคบเพื่อนแหละครับ ต้องมองหาคนที่ดี คนที่มีแนวคิดอะไรใกล้เคียงกับเรา การเริ่มต้นเจรจาต้องอยู่บนพื้นฐานแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันก่อน
อย่างที่สอง การกำหนดเป้าหมายร่วมกัน เพราะอย่าลืมว่า เวลาหันหลังพิงกัน การช่วยเหลือกัน แต่ละฝ่ายมาด้วยปัญหาภายในองค์กรที่แตกต่างกัน มีเป้าหมายอย่างไร ต้องเปิดใจแลกเปลี่ยนกันก่อน เข้าใจกันก่อน และตั้งเป้าร่วมกันก่อน การสร้างสินค้าใหม่จากการคอลแลบ มักต้องฝ่าฟันกับการยอมรับของตลาดมากพอควร ถ้าตั้งเป้าเอาเงินก่อนเอาชื่อเสียง อาจผิดหวังได้ง่าย
อย่างที่สาม ความจริงใจในการแบ่งปันทรัพยากร เช่น งบประมาณ ข้อมูล ฐานลูกค้า ฯลฯ เป็นสิ่งสำคัญ ที่ช่วยเสริมโอกาสความสำเร็จในการหันหลังพิงกัน
การทำธุรกิจปัจจุบัน คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย หมดยุคแข่งขันกันแบบศัตรูคู่แค้นไปนานแล้ว แต่ทำธุรกิจอย่างไร ที่จะผสานประโยชน์ร่วมกันต่างหาก สามารถนำพาความสำเร็จมาสู่ธุรกิจ
เมื่อคิดหันหลังพิงกับใคร ควรตระหนักเช่นกันว่า…เราก็แข็งแรงมากพอให้เขาพิง…
เรื่อง พลชัย เพชรปลอด