โลกยุคปัจจุบันคือยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันไปแทบจะทุกเรื่อง ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งใหญ่ ที่ทุกคนในสังคมและทุกหน่วยงานต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทันกับกระแสหลักของโลก ซึ่งรวมถึงระบบสาธารณสุขของประเทศ ที่ต้องเร่งเพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีทันสมัยใหม่ต่างๆ ให้กับบุคลากร เพื่อช่วยในการบริหารจัดการและการให้บริการงานด้านสาธารณสุขให้มีความทันสมัย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สอดรับกับนโยบายของภาครัฐให้ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0
เอไอเอส ในฐานะผู้นำเครือข่ายและบริการดิจิทัล จึงได้นำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปบูรณาการการทำงานด้านสาธารณสุข ภายใต้แนวคิด Digital For Thais เพื่อมุ่งสร้างประโยชน์ และคุณค่าให้กับสาธารณสุขชุมชนและสังคมไทย ผ่านการพัฒนา “แอพพลิเคชั่น อสม. ออนไลน์” เครื่องมือสื่อสารเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในระดับปฐมภูมิระหว่าง รพ.สต.และอสม. ฟันเฟืองสำคัญในการดูแลสาธารณสุขชุมชน ซึ่งตอบโจทย์การทำงานด้วยการใช้งานง่าย มีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย ช่วยดูแลผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด และช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรในโรงพยาบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี
เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในระดับปฐมภูมิมากขึ้น เอไอเอส จึงจัดโครงการประกวดการใช้งานแอพพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แบ่งออกเป็นรางวัลดีเด่นระดับประเทศ 10 แห่ง รางวัลดีเด่นระดับจังหวัด 82 แห่ง และรางวัลดาวรุ่ง จำนวน 31 แห่ง รวม 123 รางวัล เพื่อส่งเสริมให้ อสม.เรียนรู้และมีทักษะดิจิตอลเพิ่มขึ้น และสามารถนำแอพพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานสาธารณสุขชุมชนได้อย่างหลากหลายและมีประสิทธิภาพ
“ผมเชื่อว่า อสม.ทุกคนคือเครือข่าย ที่จะร่วมกันนำดิจิทัลไปสร้างเสริมงานสาธารณสุขไทยและดูแลพี่น้องประชาชนคนไทยให้มีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน จากการส่งผลงานประกวดในปีนี้ พบว่ามีความก้าวหน้ามากขึ้น และมีจำนวนคนส่งเข้ามาแข่งขันเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว แสดงให้เห็นว่า อสม.มีความเข้าใจแอพ อสม.ออนไลน์ อย่างถ่องแท้ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น บางท่านเป็นผู้สูงอายุก็สามารถใช้แอพ อสม.ออนไลน์ ได้ง่ายๆ ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ และลดกระบวนการทำงานแบบเดิมๆ ได้ ผมจึงอยากขอบคุณพี่น้องชาว อสม.จริงๆ ที่เข้ามาเป็นจิตอาสาและเสียสละเรื่องการสาธารณสุขสำหรับคนไทย ผมในฐานะตัวแทนของชาวเอไอเอสก็จะมุ่งมั่นพัฒนาแอพพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ ให้เป็นแพลตฟอร์มสาธารณสุขอย่างแท้จริง” คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าว
ทั้งนี้ ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมานี้ มีหน่วยบริการหลายแห่งที่สามารถนำแอพ อสม.ออนไลน์ ไปประยุกต์ใช้กับงานได้อย่างน่าสนใจ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
คุณสมจิตร บุญยง ผู้อำนวยการ รพ.สต.กุดบง จ.หนองคาย เล่าถึงการใช้งานแอพ อสม.ออนไลน์ ในช่วงเริ่มต้นที่ใช้งานจนถึงปัจจุบันว่า “การใช้งานแอพ อสม.ออนไลน์ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการทำงานจากรูปแบบเดิมโดยสิ้นเชิง ช่วยย่นระยะเวลาการทำงานของ อสม. ให้สะดวกรวดเร็วขึ้น เพราะสามารถสื่อสารผ่านแอพ เฉพาะกลุ่ม แทนการจดบันทึกลงกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเรื่องโรคระบาด การส่งรายงาน การนัดประชุม การแจ้งพิกัดแผนที่เพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยก็สามารถทำได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ยังสามารถประสานกับ รพ.สต. เพื่อสอบถามอาการของผู้ป่วย ไปจนถึงแนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วยในเบื้องต้นได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีความรู้ด้านสาธารณสุขใหม่ๆ ให้ อสม. ได้ศึกษาและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ก็ทำให้ อสม.ได้สั่งสมความรู้ใหม่ๆ ไปในตัวด้วย เมื่อ อสม. มีความรู้แน่นและมีทักษะทางดิจิทัลที่ดีก็ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับเหล่า อสม.ได้ด้วย เวลาออกไปตรวจเยี่ยมชาวบ้านก็ทำให้ชาวบ้านรู้สึกอุ่นใจและมั่นใจ เมื่อไม่สบายก็จะนึกถึง อสม.เป็นที่พึ่งพาอันดับแรก”
ด้าน รพ.สต.บ้านหนองเกาะ จ.บุรีรัมย์ เป็นอีกหน่วยบริการที่นอกจากการใช้งานพื้นฐานต่างๆแล้ว ยังประยุกต์ใช้แอพ อสม.ออนไลน์ เข้ามาช่วยในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง โดยนางเสาวลักษณ์ พักแพง ประธาน อสม.รพ.สต.บ้านหนองเกาะ ให้ข้อมูลว่า “ใช้แอพ อสม. ออนไลน์ ตั้งแต่การลงพื้นที่ค้นหาผู้ป่วยติดเตียง ไปจนถึงการติดตามอาการผู้ป่วย และให้คำแนะนำในการรักษาเบื้องต้น เช่น หากผู้ป่วยสูงอายุ อยู่กับลูกหลานตามลำพัง เกิดการหลงลืมในการทานยา เราก็จะแนะนำลูกหลานให้ช่วยเตือนผู้ป่วย ถ้าลูกหลานไม่เข้าใจก็สามารถส่งไลน์ถามข้อมูลการทานยาที่ถูกต้องจาก อสม. ได้ แต่หากเป็นเคสหนักๆ อสม.ก็จะลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือในเบื้องต้นทันที พร้อมประสานกับคุณหมอ ที่ รพ.สต. เข้าดูแลผู้ป่วยอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ เราก็ใช้แอพ อสม.เป็นเครื่องมือในการสื่อสารให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องต่างๆ เช่น โรคไข้เลือดออก สอนเด็กล้างมือ แนะนำให้รับประทานอาหารอย่างถูกสุขอนามัย สอนการตรวจสารเคมีในครัวเรือน เป็นต้น”
ขณะที่ คุณมยุรา คันธานนท์ ประธาน อสม.รพ.สต.บางทอง จ.พังงา เล่าให้ฟังว่า “นำแอพ อสม.ออนไลน์ มาเป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยในการดูแลแม่และเด็ก ตั้งแต่ก่อนคลอด การฝากครรภ์ ตลอดจนการดูแลหลังคลอด โดย อสม. จะ Detect หาหญิงตั้งครรภ์ เพื่อส่งข้อมูลไปที่โรงพยาบาลผ่านทางแอพโรงพยาบาลก็จะทราบพิกัดแผนที่ได้ทันที จากนั้นก็จะติดตามเยี่ยมบ้าน ดูแลเรื่องภาวะเสี่ยงและให้ความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ หลังคลอด อสม.ก็จะแชทไปถามคุณแม่มือใหม่ว่าให้นมแล้วเป็นอย่างไร และหากคุณแม่มือใหม่เกิดปัญหาในการเลี้ยงลูกก็สามารถแชทมาปรึกษา อสม. ได้เช่นกัน ถือว่าการใช้แอพนี้ตอบโจทย์การทำงานเป็นอย่างมาก ช่วยลดเวลาในการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพ อสม. 4.0 ด้วย”
นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของการนำแอพ อสม.ออนไลน์ มาประยุกต์ใช้กับงานด้านสาธารณสุขให้เหมาะสมตามบริบทพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถือเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เชื่อมความสัมพันธ์ในชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมไทยให้ดีขึ้นอย่างแท้จริง