เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
SMEs เกษตร

สามี-ภรรยา ชาวชัยนาท เพาะ-เลี้ยงกบลูกผสม แข็งแรง ขนาดใหญ่ เนื้อแน่น ตลาดต้องการ

การเลี้ยงกบ ยังเป็นอาชีพที่หลายคนสนใจ เพราะกบเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่เลี้ยงง่าย กินง่าย โตเร็ว สามารถเลี้ยงโดยไม่จำกัดพื้นที่ ขยายพันธุ์ได้เอง จับขายได้เงินทันที ขณะเดียวกันตลาดผู้บริโภคกบในตอนนี้ให้ความสนใจมากทั้งในและต่างประเทศ เพราะเนื้อกบมีไขมันน้อย เหมาะกับการนำไปปรุงอาหารหลายประเภท เช่น กบทอดกระเทียม กบย่างรมควัน กบผัดใบกะเพรา ยำกบ กบผัดเผ็ด จึงเกิดอาชีพเลี้ยงกบทั้งเป็นรายได้เสริมและรายได้หลัก

ในบรรดาสายพันธุ์กบที่เลี้ยงเป็นอาชีพ ขณะนี้มีทั้งพันธุ์ต่างประเทศและพื้นเมือง โดยแต่ละพันธุ์มีข้อดีและด้อยต่างกัน การเลือกสายพันธุ์กบจึงถือเป็นข้อพิจารณาของผู้เลี้ยงที่เน้นความต้องการของตลาดเป็นสำคัญ แต่ส่วนมากแล้วผู้เลี้ยงดึงเอาลักษณะเด่นของแต่ละพันธุ์ออกมาพิจารณาควบคู่กับความต้องการของตลาด รวมทั้งต้นทุนในการเลี้ยง

คุณประเชิน-คุณตุ้งหนิง อินทร์สิงห์ คู่สามี-ภรรยา ที่มีบ้านพักอยู่ เลขที่ 108/1 หมู่ที่ 5 ตำบลท่าฉนวน อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ประสบความสำเร็จจากการเพาะเลี้ยงกบเป็นอาชีพมานานกว่า 18 ปี ด้วยการใช้พันธุ์กบพื้นบ้าน เนื่องจากเลี้ยงง่าย แข็งแรง ตัวใหญ่ ต้นทุนน้อย โตเร็ว มีจำหน่ายทั้งลูกอ๊อด ลูกกบ และกบเนื้อ จึงเป็นที่สนใจของตลาดผู้บริโภค

คุณเชินและคุณหนิง คู่สามีภรรยาที่ประสบความสำเร็จจากอาชีพเลี้ยงกบ

ก่อนหน้านี้ทั้งสองคนมีอาชีพเลี้ยงปลากระชัง แต่แบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว จึงเปลี่ยนมาเลี้ยงกบแทน เพราะมองเห็นว่าสามารถเพาะพันธุ์ได้ง่าย กินอาหารน้อย เลี้ยงง่าย ไม่เปลืองพื้นที่ ที่สำคัญต้นทุนน้อย ขายได้ราคาดี แต่กว่าทั้งสองคนจะยิ้มได้ด้วยอาชีพเลี้ยงกบในทุกวันนี้ ต้องฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคทั้งวิธีเลี้ยงกับเงินลงทุนมากมาย  รวมถึงยังใช้เวลาศึกษาลองผิด-ลองถูก มานานกว่า 10 ปี สำหรับฟาร์มกบแห่งนี้ใช้พันธุ์กบตัวผู้เป็นกบนา และกบตัวเมียเป็นกบจาน จึงทำให้ได้ลูกผสมที่มีลักษณะตัวใหญ่ แข็งแรง เลี้ยงง่าย และเนื้อมาก

คุณเชิน บอกว่า การดูแลพ่อ-แม่พันธุ์ให้มีคุณภาพต้องหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำทุก 2 วัน ควรให้อาหารเสริม รวมถึงโปรตีนเร่งไข่เป็นระยะ ให้เลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์สัก 2 เดือน แล้วจึงนำมาผสม โดยต้องรอให้แม่พันธุ์มีไข่เต็มที่ ซึ่งไม่ควรน้อยกว่า 12 เดือน แม่พันธุ์ที่ดีต้องมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 6 ขีด

พ่อพันธุ์

ส่วนพ่อพันธุ์จะพิจารณาจากความสมบูรณ์ที่ไม่เพียงแค่มีขนาดใหญ่ แต่ต้องมีความสมบูรณ์ แข็งแรง ทั้งนี้ก่อนผสมพันธุ์ในแต่ละครั้งต้องใช้ฮอร์โมนเร่งไข่ให้กบตัวผู้กิน เพื่อให้เกิดความคึก โดยเฉพาะในช่วงนอกฤดู โดยฟาร์มกบแห่งนี้มีพ่อพันธุ์ จำนวน 300 ตัว ส่วนแม่พันธุ์มีจำนวนกว่า 1,000 ตัว ซึ่งการเพาะกบจะแบ่งใช้ตัวผู้สักครึ่งหนึ่งในทุกสัปดาห์

แม่พันธุ์

โดยทั่วไปการผลิตกบในรอบปีจะเริ่มตั้งต้นเพาะครั้งแรกในราวกลางเดือนมกราคม จากนั้นในราวปลายเดือนเดียวกันจะได้ลูกกบ ทั้งนี้กบที่เพาะรุ่นสุดท้ายจะเสร็จสิ้นประมาณกลางเดือนตุลาคม เพราะตัวเมียจะมีไข่น้อยลงมาก แล้วยังเป็นไข่ที่ไม่มีคุณภาพด้วย ดังนั้น จะหยุดเพาะ 2 เดือนครึ่ง เพื่อให้พ่อ-แม่พันธุ์พัก

ขณะเดียวกัน ในช่วงดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญ เพราะจำนวนกบในตลาดมีน้อยทำให้ความต้องการมีมาก ดังนั้น คุณเชิน กับคุณหนิง จึงใช้วิธีเพาะนอกฤดูด้วยการดึงหรือชะลอการมีไข่ของตัวเมียออกไป เพื่อจะใช้เพาะในช่วงปลายปี

ทั้งนี้ เจ้าของฟาร์มทั้งสองได้เผยเทคนิคการเพาะกบนอกฤดูแบบคร่าวๆ ว่า จะนำกบตัวเมียไปเลี้ยงไว้ในวงบ่อซีเมนต์เพื่อควบคุมอุณหภูมิให้มีความเหมาะสม ซึ่งจะช่วยทำให้กบผลิตไข่ได้จำนวนมาก โดยแต่ละบ่อจะเลี้ยงแม่พันธุ์ไว้ บ่อละ 100 ตัว

บ่อเลี้ยงตัวเมียเพื่อกระตุ้นไข่นอกฤดู

ลักษณะบ่อวงซีเมนต์ซ้อนกัน 2 วง แต่ละวงจะเจาะรูเพื่อถ่ายเทอากาศ ด้านบนมีฝาปิด จะต้องถ่ายน้ำตลอดทุกวันเพื่อปรับอุณหภูมิ จะให้อาหารตามปกติ รวมถึงมีฮอร์โมนเร่งไข่ด้วย เมื่อใดที่มีไข่สมบูรณ์จะสังเกตบริเวณท้อง ถ้าลูบแล้วรู้สึกว่าสากมือมากแสดงว่ามีไข่เต็มที่พร้อมผสมพันธุ์ จึงต้องย้ายไปไว้ที่บ่อผสมกับตัวผู้ โดยมักปล่อยในช่วงที่มีแสงน้อยที่สุด อาจเป็นตอนเย็นหรือพลบค่ำ จากนั้นในตอนเช้าตรู่ให้แยกพ่อ-แม่ ออกจากบ่อเพาะ พอถึงช่วงเย็นวันเดียวกันไข่จะเปลี่ยนเป็นลูกอ๊อด

สำหรับการเพาะลูกกบนอกฤดูแนวทางนี้ได้ศึกษาด้วยตัวเอง โดยเทียบเคียงความเป็นจริงกับธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ทั้งนี้ คุณเชิน บอกว่า ผู้เลี้ยงแต่ละรายมีวิธีที่ต่างกัน แต่หลักการคล้ายกัน

ภายหลังเมื่อได้ลูกอ๊อดที่มีอายุ 3 วัน จะให้อาหาร เบอร์ 0 พร้อมไข่ขาวที่ผสมกับยาปฏิชีวนะ ในปริมาณ 20 กิโลกรัม ประมาณ 2 สัปดาห์ ทุกเช้า-เย็น ลูกอ๊อดขายได้เมื่ออายุได้ 5 วัน โดยกำหนดราคาจำนวนแสนตัว ราคา 6,000 บาท ทั้งนี้อัตรารอดลูกอ๊อดไม่น้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ภายในเวลา 25 วัน ขาเริ่มออก แล้วหางจะหดลง ก็ให้ผสมยาอีกครั้งเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นจะขายในราคาตัวละ 80 สตางค์ ถึง 1 บาท

ลูกอ๊อด

ส่วนกบโตหรือกบเนื้อจะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 2 เดือน หรือดูรูปร่างที่สมบูรณ์มาก จึงปล่อยขาย โดยเฉลี่ย 5 ตัว ต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ถ้าขายในช่วงปกติ ราคากิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 60 บาท อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงกบเนื้อยิ่งใช้เวลาเลี้ยงนานเท่าไร จะได้ขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่เปลืองอาหาร เพราะกบโตจะกินน้อยลง เพียงแต่คนเลี้ยงถ้าอดทนรอเวลาก็จะได้กบโตที่มีราคาดี

กลุ่มลูกค้าจะอยู่ในพื้นที่เขตภาคกลาง เช่น อุทัยธานี ชัยนาท พิษณุโลก สุโขทัย และพิจิตร โดยมีทั้งลูกค้าที่ซื้อลูกอ๊อดและลูกกบ แต่ทั้งนี้ลูกค้าที่มีประสบการณ์มายาวนานมักซื้อลูกอ๊อดไปเลี้ยง เพราะใช้ต้นทุนต่ำกว่าลูกกบ อีกทั้งยังได้จำนวนมากกว่าลูกกบที่ต้องใช้เงินมากแล้วได้จำนวนน้อย

นับลูกกบส่งขาย

ปัญหาจากการเลี้ยงกบมักเกิดขึ้นในช่วงกบเล็ก คุณเชิน ชี้ว่า เพราะเป็นวัยที่อ่อนไหวต่อการเกิดโรคได้ง่าย โดยเฉพาะหน้าฝน เพราะมักเจอแบคทีเรีย เชื้อรา ที่มีสาเหตุสำคัญมาจากอาหาร ดังนั้น การให้อาหารกบเพื่อป้องกันการเกิดโรคคือ ต้องให้มีความเหมาะสม อย่าให้อาหารเหลือ เพราะจะทำให้น้ำเน่าเสีย ทั้งนี้ ต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติของลูกกบ หากพบว่ามีอาการหงุดหงิดหรือกินอาหารน้อยลงต้องแยกออกจากกลุ่มเพื่อนำไปดูอาการแล้วรักษา

สำหรับการลงทุนทำอาชีพเลี้ยงกบ ได้แก่ ค่าบ่อ (ลงทุนครั้งเดียว) ซึ่งจะเป็นบ่อดินหรือบ่อซีเมนต์ก็ได้แล้วแต่ความถนัด แต่สำหรับคุณเชินใช้บ่อซีเมนต์เป็นหลัก เพราะดูแลแก้ปัญหาง่ายกว่า แล้วยังช่วยป้องกันไม่ทำให้เกิดโรคได้ง่าย โดยบ่อซีเมนต์ที่ใช้มีหลายขนาด ตั้งแต่ 3×6 เมตร, 4×10 เมตร, 4×4 เมตร และ 5×5 เมตร นอกจากนั้น ยังมีค่าพันธุ์ และค่าอาหาร ซึ่งการลงทุนทั้งหมดนี้ถ้าขยันดูแลใส่ใจเต็มที่เพียงไม่นานก็สามารถคืนทุนได้หมดแล้ว

คุณหนิง บอกว่า มีแผนที่จะบุกตลาดต่างประเทศด้วย เพราะคิดว่าถึงเวลานี้ฟาร์มตัวเองพร้อมทุกด้านแล้ว โดยเฉพาะหน้าฝนที่มีกบจำนวนมากเหมาะกับการส่งขายต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง หรือในช่วงอื่นๆ ก็มีกบจากสมาชิกในกลุ่มอีกมากมาย ฉะนั้น ถ้าพูดถึงปริมาณและคุณภาพเห็นว่าที่ฟาร์มมีความพร้อมเต็มที่

นอกจากนั้น ยังชี้ว่าอาชีพเลี้ยงกบจะต้องใช้ความอดทนและความละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงลูกกบที่จะต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ เพราะหากเกิดปัญหาจะทำให้ลูกค้าไม่เชื่อถือในเรื่องคุณภาพ ดังนั้น ถ้าอาศัยความอดทน และใส่ใจรวมถึงมีความขยันและใจรักจะช่วยทำให้เรามีรายได้ดีจากอาชีพนี้ทันที

“ที่ผ่านมาพบว่า คนเลี้ยงมักถอดใจในช่วงหน้าฝน เพราะราคากบถูก เนื่องจากจำนวนกบในตลาดมีมาก แต่แท้จริงแล้วถ้าก่อนจะถึงหน้าฝนคุณสามารถผลิตกบได้มีคุณภาพก็จะขายได้ราคาสูง แล้วค่อยมาชดเชยในหน้าฝนซึ่งเป็นเพียงช่วงสั้นๆ”

บ่อซีเมนต์สำหรับกบเนิ้อ

คุณเชิน ชี้ว่าข้อดีของอาชีพเลี้ยงกบตรงที่สามารถเพาะ-ขยายพันธุ์ได้เอง กบกินอาหารน้อย เลี้ยงง่าย ไม่เปลืองพื้นที่ ขณะเดียวกัน คุณอาจจะเลี้ยงปลาแบบคู่ขนาน แล้วใช้กบเป็นอาหารปลาได้ด้วย ยิ่งประหยัดต้นทุน

สำหรับผู้สนใจเลี้ยงกบรายใหม่ คุณหนิง แนะว่า ควรเริ่มต้นที่จำนวนสัก 5,000 ตัว จะเหมาะสม แล้วควรใช้ลูกกบเลี้ยง จนกว่าจะมีความชำนาญมาก แล้วค่อยปรับมาเริ่มเลี้ยงลูกอ๊อดที่มีความเสี่ยงมากกว่า อีกทั้งควรหาแหล่งขายให้ได้เสียก่อนค่อยลงมือเลี้ยง

“ถ้าสนใจเลี้ยงกบ ต้องถามตัวเองก่อนว่า มีความพร้อมแค่ไหน อย่าเห็นว่าคนอื่นทำแล้วมีรายได้ดี เพราะช่วงที่เดือดร้อนไม่มีใครรู้ ฉะนั้น ก่อนตัดสินใจควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน แล้วควรไปศึกษาการเลี้ยงจากของจริงด้วยยิ่งดี แต่เหนือสิ่งอื่นใดผู้ที่ยึดอาชีพนี้ให้มีความสำเร็จ จะต้องใช้ความอดทน มีใจรัก เป็นคนที่มีระเบียบและสะอาด เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณสามารถมีรายได้มาก” เจ้าของฟาร์มทั้งสอง กล่าวฝาก

สอบถามรายละเอียด สั่งซื้อพันธุ์กบ ติดต่อได้ที่ คุณประเชิน-คุณตุ้งหนิง อินทร์สิงห์ โทรศัพท์ (083) 631-8875, (086) 375-5398

Related Posts

จากลูกจ้างในตลาดผัก สู่เจ้าของแผง 'ขายมะเขือเทศ' มีลูกค้าประจำ ทั้งร้านอาหารดัง  ซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงสายการบิน ขายเฉลี่ยวันละ 500 ลัง 
ไอเดีย สร้างอาชีพเสริมแบบไม่ต้องรอพร้อม ‘เช่าที่ปลูกดอกไม้กินได้’
อดีตพนักงานห้าง ปิ๊งไอเดีย ขายผักน้ำพริก เริ่มต้นแพ็กละ 10 บาท โกยรายได้ครึ่งแสนต่อเดือน
ออกจากงานประจำ มาขาย "เตยหอม" เจาะกลุ่มโรงงานขนม ร้านดอกไม้ พ่อค้าแม่ค้า วันละ 900-1,000 กิโลกรัม