เป็นกระแสข่าวเรื่องราคายางพาราไม่เว้นแต่ละวันมาตลอดปี 2560 ทั้งราคาขึ้นและราคาลง เพราะยางพาราเป็นสินค้าทางการเกษตร เป็นพืชเศรษฐกิจระดับโลก
ข้อข้องใจในหลายประการของเกษตรกร โดยเฉพาะคำถามที่ต้องการคำตอบ ในเรื่อง “ราคายาง” แต่เหมือนว่า ยังไม่มีความชัดเจนในแนวทางการแก้ปัญหาทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือองค์กรพัฒนาเอกชน ที่จัดตั้งขึ้นมาในรูปแบบต่างๆ ล้วนแต่มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารามีความคุ้มทุนและมีผลกำไรตอบแทน
ดร. ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ให้ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์ยางพารา ที่ผ่านมาตลอดปี 2560 ไว้ดังนี้
สถานการณ์ยางพารา
ในการประชุมสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 7 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย อินเดีย มาเลเซีย ไทย ปาปัวนิวกินี สิงคโปร์ และศรีลังกา ชี้ถึงสาเหตุและปัจจัยที่ส่งผลต่อสถานการณ์ราคายาง ดังนี้
ปี 2554 มีความต้องการใช้ยางและการเก็งกำไรสูง ทำให้ราคายางพุ่งสูงมากที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หลายประเทศได้ขยายพื้นที่ปลูกยางเพิ่มขึ้น ประมาณ 11.9 ล้านไร่
ปี 2559 พื้นที่ปลูกยางดังกล่าว เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว โดยเฉพาะประเทศผู้ปลูกยางรายใหม่ เช่น กัมพูชา ผลผลิตเพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 33.1 รองลงมาคือ อินเดีย ผลผลิตเพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 21.0 และเวียดนาม ผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.3 แต่ขณะเดียวกัน มีเหตุจากอุทกภัยภาคใต้ ปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ยางถึง 300,000 ตัน
ในปี 2560 ปริมาณผลผลิตมากกว่าความต้องการใช้ ประมาณ 50,000 ตัน และในอนาคตมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดการณ์ในปี 2561 จะมีปริมาณผลผลิตมากกว่าความต้องการใช้ ประมาณ 438,000 ตัน
การเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้า ทำให้บางบริษัทขนาดใหญ่มีการขายทำกำไรไว้แล้วในราคาที่สูง จึงมีความพยายามทำให้ราคาลดต่ำลง เพื่อให้ได้ผลกำไรในตลาดล่วงหน้า
โดยสรุป ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อสถานการณ์ราคายางในช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา ทั้งราคายางในตลาดล่วงหน้า (โตเกียว เซี่ยงไฮ้ ไซคอม) และตลาดในประเทศที่ปรับตัวลดลงทุกตลาดไปในทิศทางเดียวกัน
แนวทางและมาตรการดำเนินการ
มาตรการต้นทาง
- โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการกิจการยาง (วงเงิน 10,000 ล้านบาท) โครงการนี้ มีขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้นใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรับซื้อผลผลิตน้ำยางสด ช่วยดูดซับน้ำยางออกจากระบบได้เร็ว ประมาณ 200,000 ตัน จากการผลิตทั้งปี แนวทางในการดำเนินงานคือ สนับสนุนเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบกิจการแปรรูปน้ำยาง มีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 39 บริษัท ครอบคลุม 57 โรงงาน ทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าผลที่ได้จะทำให้ราคาน้ำยางสดปรับตัวสูงขึ้น จากเดิมราคารับซื้ออยู่ที่ กิโลกรัมละ 38 บาท ปัจจุบันราคาปรับขึ้นอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 43 บาท
- การตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ยางพารา เมื่อราคายางและปริมาณยางผิดปกติ ศูนย์ดังกล่าวจึงมีขึ้นเพื่อติดตามข่าวสาร การซื้อขายและสถานการณ์ราคายางผันผวน มีการดำเนินงานในการติดตามด้วยการลงพื้นที่ ตรวจสอบข้อมูลโรงงานผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น ปริมาณยาง บัญชีซื้อขาย เพื่อให้เห็นว่า ไม่มีการกักตุนหรือกดราคาเกษตรกร จัดว่าเป็นมาตรการเชิงปรามและป้องกัน
มาตรการกลางทาง เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหายางแผ่น
- ตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง ภาคใต้ชื่อ บริษัทร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด เนื่องจาก กยท. เห็นว่า เป็นวิธีที่รัฐและเอกชนจะร่วมกันระดมทุนเพื่อสร้างแรงซื้อในตลาด แก้ปัญหาราคายางให้เกิดเสถียรภาพ ราคาเป็นธรรม นำไปสู่ราคาอ้างอิงที่จะตกลงซื้อขายผ่านตลาดเอกชนทั่วไป และทดแทนการแก้ปัญหาของรัฐบาลในการพยุงราคา
บริษัทร่วมทุนฯ นี้ จะเข้าซื้อยางในราคาชี้นำสูงถึง 2 บาท ในตลาดกลางยางพาราของ กยท. ทั้ง 6 แห่ง และนำยางที่ประมูลได้ไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าต่อไป โดยปัจจุบัน บริษัทร่วมทุนฯ ทำหน้าที่ซื้อยางในระบบไปแล้ว 15,137 ตัน คิดเป็นเงิน 844 ล้านบาท
- เพิ่มกำลังซื้อและบริหารจัดการตลาดของ กยท. ให้มีมาตรฐาน มีคุณภาพ และสะดวกรวดเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ซื้อผู้ขายทั้งในและต่างประเทศ โดยปฏิรูปใหม่ตั้งแต่
การกำหนดระเบียบตลาดยางพาราในการประมูลยางผ่านตลาดกลาง กยท. โดยการประกาศราคากลางเปิดการซื้อขายแต่ละวันทำการ เพื่อให้มีราคาอ้างอิงราคาอย่างเป็นธรรม ซึ่งการประมูลยางแต่ละครั้งจะไม่สูงหรือต่ำกว่าราคากลางเกินกว่า 2 บาท แต่หากเกิดประมูลต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ผู้ซื้อและผู้ขายยังสามารถใช้วิธีตกลงราคาร่วมกันได้
เพิ่มช่องทางตลาด โดยเปิดบริการตลาดประมูลยางล่วงหน้าผ่านตลาดกลาง กยท. เพื่อให้ผู้ขายมีตลาดรองรับแน่นอนและผู้ซื้อมีสินค้าที่แน่นอนตามคุณภาพที่กำหนด โดยจะส่งมอบสินค้าจริงตามจำนวนและคุณภาพที่ตกลงไว้ ภายใน 7 วัน
เปิดตลาดกลางซื้อขายน้ำยางสด เพื่อให้พ่อค้าและเกษตรกรสามารถซื้อขายโดยตรง เพราะหากวัตถุดิบต้นทางที่มีประมาณ 80% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมดมีระบบซื้อขายเป็นธรรม จะช่วยแก้ปัญหาการกดราคาได้ โดยเริ่มต้นที่จังหวัดสงขลา เพราะเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำยางสดมากที่สุด และจะขยายต่อไปในพื้นที่ตลาดกลางอื่นๆ
การพัฒนาตลาดเครือข่ายสถาบันเกษตรกรฯ ให้เป็นตลาดเครือข่ายของตลาดกลาง กยท. เพื่อให้ราคาซื้อขายเป็นราคาเดียวกับการขายที่ตลาดยางพารา กยท. ซึ่งปัจจุบัน มีหลายสถาบันเกษตรกรที่เข้าสู่ระบบตลาดเครือข่ายแล้ว
มาตรการปลายทาง เน้นส่งเสริมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง
ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการใช้ยางในอีก 3 ปีข้างหน้า จากเดิม 10% เป็น 30% โดยหน่วยงานรัฐ ต้องนำยางไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยปี 2560 มีหน่วยงานรัฐเข้าร่วมโดยใช้น้ำยางข้น จำนวน 10,213.49 ตัน และยางแห้ง จำนวน 1,453.48 ตัน งบประมาณทั้งสิ้น 15,074,604,881.57 บาท และในปี 2561 มีหน่วยงานรัฐแจ้งความประสงค์นำยางไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ แบ่งเป็นน้ำยางข้น จำนวน 9,916.832 ตัน ยางแห้ง 1,132.3895 ตัน งบประมาณรวม 11,583,115,494.570 บาท
ตัวอย่าง หน่วยงานรัฐนำร่อง ได้แก่ กรมทางหลวง ทำเรื่องเสาหลักนำทางด้วยยางพาราแทนปูน ประมาณ 120,000-130,000 ต้น โดยเสา 1 ต้น ใช้ยางแห้ง ประมาณ 15-20 กิโลกรัม ในปี 2560 จะใช้ยางแห้ง ประมาณ 2,250 ตัน งบประมาณ 400 ล้านบาท โดยไม่ได้ของบประมาณจากรัฐเพิ่มเติม ซึ่งแนวโน้มนี้แสดงให้เห็นว่า จะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ
มาตรการแก้ปัญหาราคายาง
- ลดพื้นที่ปลูกยางที่ไม่เหมาะสม เพื่อจำกัดปริมาณผลผลิตให้มีความสมดุลกับความต้องการใช้ เป้าหมายปีละ 400,000 ไร่
- เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางด้วยระบบเกษตรผสมผสาน โดยการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมชาวสวนยางจากการปลูกพืชเดี่ยว เป็นปลูกยางแบบผสมผสาน ตลอดปี 2560 มีชาวสวนยางโค่นยางแล้วปลูกแทน จำนวน 42,036 ราย พื้นที่ 422,728.50 ไร่ หันมาปลูกแบบผสมผสานมากขึ้น ประมาณร้อยละ 7 ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมดที่โค่นยางแล้วปลูก (จำนวน 3,043 ราย พื้นที่ 32,315.30 ไร่) และส่งเสริมให้ชาวสวนยางที่ปลูกยางอยู่แล้วมีรายได้เสริม เช่น ปศุสัตว์ ประมง พืชผักสวนครัว พืชร่วมยาง เป็นต้น มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 521 ราย คิดเป็นเงิน 21,486,500 บาท
- เพิ่มการใช้ยางในประเทศ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อลดการพึ่งพิงการส่งออกในรูปวัตถุดิบมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่า
- เพิ่มรายได้ของคนในประเทศจากยางพารา ผลักดันให้มีการส่งออกในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้น ซึ่ง กยท. มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579)
ในท้ายที่สุด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ยังให้ข้อมูลถึงสถานการณ์ยางพาราในอนาคต ซึ่งวางไว้เป็นโครงการของ กยท. เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา ว่ายังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการขอความเห็นชอบจาก คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และคณะรัฐมนตรี คือ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ซึ่งหากโครงการนี้ผ่านความเห็นชอบและอนุมัติโครงการ สถาบันการเงินจะสามารถให้ผู้ประกอบการยางพารากู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) ช่วยดูดซับปริมาณยางแห้งในประเทศ เช่น ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน เป็นต้น อันจะช่วยให้ยางแห้งในประเทศลดลงได้มากถึง 400,000 ตัน หากคิดราคาที่กิโลกรัมละ 50 บาท
เวลา เป็นเครื่องพิสูจน์ในทุกๆ มาตรการข้างต้น