เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News เทคนิคเกษตร

“น้ำตาลจาก” จากรุ่นสู่รุ่น ภูมิปัญญา 100 ปี ที่นี่ กันตัง

ต้นจาก พืชตระกูลปาล์มที่เก่าแก่ ชอบขึ้นอยู่บริเวณริมแม่น้ำที่มีสภาพน้ำกร่อย เช่นเดียวกับริมฝั่งแม่น้ำตรัง เริ่มตั้งแต่ ตำบลย่านซื่อ ตำบลบางหมาก ตำบลคลองลุ ตำบลบางเป้า ตำบลบ่อน้ำร้อน ตำบลกันตังใต้ และตำบลวังวน เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของต้นจาก มีพื้นที่นับหมื่นไร่ เป็นพืชอเนกประสงค์ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน นำมาประกอบอาหาร-เครื่องดื่ม สิ่งประดิษฐ์ เครื่องหัตถกรรม ภาชนะใช้สอย รวมทั้งช่วยรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

ผลิตภัณฑ์จากใบจาก

เดิมทีเกษตรกรปลูกจากเพื่อนำใบอ่อนจากมาผลิตใบจากแห้งสำหรับมวนบุหรี่ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดสูง โดยเฉพาะทางภาคใต้ และจากภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นได้นำเศษส่วนที่เหลือมาทำเสวียนหม้อ (เครื่องจักสาน) ติหมาใบจาก (ใช้ตักน้ำ) เพื่อใช้ในครัวเรือน ปัจจุบันการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น ใบจาก จึงมีความน่าสนใจ ทำให้เกิดแนวคิดในการขับเคลื่อนงานแบบมีส่วนร่วมในรูปแบบการส่งเสริมเกษตรตามระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เพื่อจะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากต้นจาก ซึ่งแต่เดิมที่ใช้เพื่อมวนบุหรี่มาเป็นภาชนะทดแทนพลาสติกและพัฒนาการผลิตน้ำตาลจากในรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและสืบสานภูมิปัญญาที่มีมานานกว่าร้อยปี

โดย คุณวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง ได้สนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยกล่าวว่า “ต้นจาก สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ยอดจาก นำไปแปรรูปเป็นใบจากแห้ง ติหมาใบจาก เรือใบจาก จานใบจาก ใบจากที่คลี่แล้ว นำมาห่อขนมจาก ใบจากแก่ นำมาเย็บเป็นตับจาก ใช้มุงหลังคา ก้านจาก นำมาทำงานหัตถกรรมจักสานเป็นภาชนะต่างๆ งวงจากอ่อน นำมาฝานตากแห้งทำเป็นชา เรียกว่า ชาดอกจาก ผลจาก ผลอ่อนสามารถนำมาประกอบอาหารได้ เมื่อผลจากมีอายุ ประมาณ 3-4 เดือน นำมาผ่าจะเห็นลูกจากมีเมล็ดเป็นรูปยาวรีสีขาวขุ่น นำมาทำลูกจากลอยแก้ว ก็แสนอร่อยหอมหวานเช่นกัน”

ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย

วิธีการปลูกจาก การเตรียมพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำหรือในบ่อกุ้งร้าง นำเมล็ดจากที่งอกแล้วมาปลูกโดยการเหยียบเมล็ดให้จมลงไปในโคลนป้องกันการลอยไปตามน้ำ ระยะปลูก 4×4 เมตร หลังจากนั้น ก็ปล่อยให้ต้นจากเจริญเติบโตโดยจะมีการแตกกอจากต้นเดิมเป็นต้นใหม่ จาก 1 เป็น 2 เป็น 4 เป็น 6 ไปเรื่อยๆ ตามลำดับ หลังจากปีที่ 3 ให้มีการตัดแต่งทางใบ ปีละ 1 ครั้ง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่ออายุ 5 ปีเป็นต้นไป ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดไป”

ลุงสมบูรณ์
ผลิตภัณฑ์จากต้นจาก

น้ำหวานจาก ได้จากการตัดนกจากหรือทะลายจาก นำมาใช้ประกอบอาหารแทนน้ำตาลทราย มีรสชาติดี นอกจากนี้ ยังสามารถแปรรูปได้หลากหลายรูปแบบ

ลุงสมบูรณ์ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ซึ่งเกิดมาพร้อมป่าจากมามากกว่า 70 ปี เล่าว่า “ลุงอายุ 73 ปีแล้วเกิดมาก็เห็นต้นจาก พ่อแม่มีอาชีพทำน้ำตาลจาก ลุงก็ได้สืบทอดอาชีพนี้มาจนถึงปัจจุบัน สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้ทุกวัน เฉลี่ยแล้วไม่น้อยกว่าเดือนละ 20,000 บาท” เมื่อเห็นรายได้แล้วก็ตามไปดูวิธีการแปรรูปน้ำตาลจากกันเลย

คุณวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง
คุณสรวง พรมบุญทอง เกษตรอำเภอกันตัง
การเก็บเกี่ยวน้ำหวานจาก

ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวน้ำหวานจาก

การเตรียมงวงจาก

  1. เดินสำรวจเพื่อคัดเลือกงวงจากที่มีความสมบูรณ์ ได้แก่ งวงที่มีผลจากตั้งแต่ 30 ผลขึ้นไป
  2. ลอกกาบบนงวงจากออกให้หมด ให้เหลือเฉพาะทะลายจากและงวงจาก
  3. การน้าว การนวด การตีงวงจาก โดยการใช้มือทั้งสองข้างจับที่ทะลายจากแล้วดึงโน้มเข้าหาตัวแล้วโยก หรือใช้เท้าเหยียบที่ทะลาย เหยียบลงให้ถึงพื้น โยกไปมาประมาณงวงละ 7 ครั้งต่อต้นต่อวัน ซึ่งการนวดงวงจากนี้จะทำการนวดทั้งหมด 3 รอบ รอบละ 3 วัน ระยะห่างระหว่างรอบห่างกัน 15 วัน
  4. การตัดปลายงวงที่มีทะลายจากออก เมื่อนวดครบ 3 รอบแล้วให้ตัดทะลายจากออก โดยตัดที่ตำแหน่งปลายที่ติดกับลูกจาก
  5. การตัดงวงจาก โดยการเฉือนจากด้านล่างขึ้นบนทำมุม 45 องศา ให้บางที่สุด ทำซ้ำจำนวน 3 วัน
  6. วันที่ 4 เวลา 16.00 น. เริ่มตัดงวงจากแล้วสามารถเก็บเกี่ยวน้ำหวานได้ โดยหลังจากที่ใช้มีดตัดงวงจาก ทำลิ้นสำหรับเป็นทางไหลของน้ำหวาน แล้วให้เอากระบอกไม้ไผ่หรือขวดพลาสติกที่เตรียมไว้สอดเข้าไปในช่องที่เจาะไว้เพื่อรองรับน้ำหวานที่หยดลงมา ทิ้งไว้ 1 คืน
  7. เวลา 06.00 น. เก็บกระบอกรองรับน้ำหวานแต่ละต้นนำมาเทรวมกันโดยผ่านผ้าขาวบางเพื่อกรองสิ่งเจือปนในน้ำหวาน

นอกจากการประกอบอาชีพทำสวนจาก ทำน้ำตาลจากแล้ว ลุงสมบูรณ์ ยังเป็นสมาชิกแปลงใหญ่ต้นจากตำบลบางหมาก โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอกันตัง และหน่วยงานภาคี เป็นแหล่งศึกษาดูงานที่มีวัตถุประสงค์การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการทำสวนจากและการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

ผลจาก

สนใจผลิตภัณฑ์หรือไปเยี่ยมชมวิถีชีวิตชุมชนป่าจากบ้านโต๊ะเมือง ติดต่อได้ที่ วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่จากอำเภอกันตัง คุณนุชรีย์ จิโรจน์กุล (ลูกสาวลุงสมบูรณ์) เลขที่ 141/1 หมู่ที่ 4 ตำบลบางหมาก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โทร. 083-088-4978 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอกันตัง โทร. 075-251-742

Related Posts