เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

สร้างน้ำเพิ่มป่าพัฒนาอาชีพ 41 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน สัมฤทธิ์ผลเป็นที่ประจักษ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หรือภาคอีสาน มีพื้นที่มากถึง 106.4 ล้านไร่ หรือ 170,218 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 33.1 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ในอดีตประสบกับปัญหาดินเค็ม ขาดความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุ ไม่อุ้มน้ำ ขณะที่แหล่งน้ำและป่าไม้ตามธรรมชาติมีน้อย ทำให้ดินขาดความชุ่มชื้นไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ขณะเดียวกัน มีการแผ้วถางป่าเพื่อการทำกินอย่างต่อเนื่องทำให้แหล่งต้นน้ำและระบบนิเวศถูกทำลาย ตลอดจนราษฎรขาดความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะเทคนิควิชาการเกษตรในการทำกินที่ถูกต้อง

จากสภาพภูมิประเทศและทรัพยากร ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีในการดำรงชีพที่แตกต่างจากภาคอื่น จึงมีการศึกษาถึงปัญหาตามสภาพของภูมิสังคมและภูมิประเทศ เพื่อจัดหารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับภาคอีสานโดยรวม ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงคัดเลือกพื้นที่จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้วยพระองค์เองที่เป็นตัวแทนของภาคอีสานทั้งหมด

ด้วยลักษณะภูมิศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงวงจรทางชีวภาพที่คล้ายคลึงกับพื้นที่โดยทั่วไปของภาคอีสาน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร จึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525 เพื่อเป็นแบบจำลองหรือพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตของภาคอีสาน ซึ่งสะท้อนคำตอบในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ด้วยวิธีการต่างๆ และพัฒนาภูมิภาคนี้ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ สร้างความอยู่ดีกินดีให้แก่ประชาชนในภูมิภาคอย่างยั่งยืน

นายนรินทร์ ประทวนชัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยในโอกาสครบรอบ 41 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ มีส่วนงานที่ร่วมสนองพระราชดำริหลากหลายหน่วยงานซึ่งรวมถึงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ด้วย เนื่องจากในอดีตช่วงที่มีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ขึ้นมา พื้นที่มีความแห้งแล้ง ป่าไม้เสื่อมโทรม ดินไม่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการทำกินได้

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีภารกิจหลักในการฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์เอื้อต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้เพื่อให้เกิดป่าตามธรรมชาติ เมื่อป่าไม้อุดมสมบูรณ์ความชุ่มชื้นของพื้นที่มีมาก ทำให้น้ำต้นทุนจากป่าก็มีมากพอสำหรับบริหารจัดการในระบบชลประทานได้ สามารถจัดทำฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่า เพิ่มพื้นที่การปลูกป่าโดยใช้พันธุ์ไม้ท้องถิ่นเป็นหลักหรือเป็นไม้เบิกนำ จากนั้นก็ปล่อยให้ป่าฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติ

“เมื่อก่อนชาวบ้านจะไปหาของป่าเพื่อเลี้ยงชีพ ทำให้มีปัญหาตามมาอย่างต่อเนื่อง เช่น หลงป่าบ้าง การก่อกองไฟในป่าแล้วดับไม่สนิททำให้เกิดไฟป่าสร้างความเสียหายในวงกว้าง ดังนั้น เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าแบบพึ่งพาอาศัย คนดูแลป่า ป่าให้อาหารแก่คน กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีหลายแนวทางที่นำมาใช้ คือการเพาะเชื้อเห็ดกับไม้ในวงศ์ยาง โดยการนำเชื้อเห็ดตามธรรมชาติมาเพาะแล้วใส่บริเวณโคนต้นไม้ในวงศ์ยางที่นำมาปลูกในพื้นที่ป่า ทำให้เกิดเห็ดที่เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ซึ่งประชาชนสามารถเก็บมาบริโภคและจำหน่ายได้ อีกทั้งยังนำมาเพาะในพื้นที่ป่าชุมชน หรือใต้ต้นไม้วงศ์ยางของประชาชนบริเวณข้างบ้านได้ ทำให้มีแหล่งทำมาหากินโดยไม่ต้องเข้าป่า และเป็นอาหารที่นิยมบริโภคในปัจจุบัน เช่น เห็ดระโงก เห็ดเผาะ ก็ตรงกับแนวคิดที่ว่า ป่าอยู่ได้ คนก็อยู่ได้ ชาวบ้านก็มีรายได้” นายนรินทร์ กล่าว

สำหรับศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร นั้น ครบรอบ 41 ปี ที่ได้น้อมนำแนวทางการพัฒนาควบคู่กับการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาดำเนินงานจนก่อเกิดผลสำเร็จ และขยายผลไปสู่ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น มีผลสัมฤทธิ์เป็นที่ประจักษ์

นอกจากนี้ ยังเข้าไปช่วยต่อยอดวงจรการประกอบอาชีพภายใต้บริบทคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ กลุ่มงานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ได้พัฒนาการเพาะเลี้ยงหนอนนกสำหรับเป็นอาหารโปรตีนให้แก่สัตว์ปีก และที่ผ่านมา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบชลประทาน การปลูกพืชเศรษฐกิจ การรักษาระบบนิเวศวิทยาของป่า การปรับปรุงบำรุงดิน และการส่งเสริมด้านปศุสัตว์ การประมง เป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จด้านการสร้างน้ำ เพิ่มป่า พัฒนาชีวิตที่พอเพียงให้แก่ผู้คนในพื้นที่ภาคอีสานได้อย่างสมบูรณ์แบบ

Related Posts