เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News พืชทำเงิน

กำจัด “ราดำ” บนผิวลองกอง ลดต้นทุน เห็นผลจริง ผู้บริโภคปลอดภัย

จากประสบการณ์ของเกษตรกร ผู้ได้รับการยอมรับด้านการเกษตร ผู้ผลิตผลไม้ “ลองกอง” ที่มีชื่อเสียงในแถบพื้นที่ภาคตะวันออก อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี กับเทคนิคการกำจัด “ราดำ” บนผิวผลของผลไม้ ประเภท “ลองกอง” ให้หมดไป

“ราดำ” ตัวการสำคัญที่ทำให้ลูกผลของลองกองไม่สวย ไม่น่ารับประทาน และไม่เป็นที่ปรารถนาของผู้บริโภค  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกษตรกรผู้ปลูกลองกองท่านนี้  คิดหาหนทางที่จะไม่ใช้สารเคมีที่ก่อผลกระทบต่อผู้บริโภค และประหยัดต้นทุนในการกำจัด “ราดำ” บนผลลองกองโดยปลอดสารเคมี

คุณธีรเชษฐ์  บำรุงรักษ์ เกษตรกรในพื้นที่ตำบลฉมัน  ผู้ถือได้ว่ามีประสบการณ์และมีเทคนิคในการดูแลพืชผลทางการเกษตรให้เป็นผลไม้ที่ปลอดภัย อีกทั้งเพื่อประหยัดต้นทุนให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอีกทางหนึ่ง

ด้วยประสบการณ์ด้านการเกษตร มากว่า 20 ปี ครูธีรเชษฐ์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ครูแดง” อดีตข้าราชการครู ที่ผันตัวเองมาทำสวนในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เล่าว่า ขณะนี้ชาวสวนผลไม้ตระหนักดีถึงการผลิตผลไม้ปลอดภัยหรือที่เรียกกันว่า “ผลไม้อินทรีย์” ที่ถือว่าเป็นการให้ความสำคัญกับผู้บริโภค ที่จะได้รับประทานผลไม้ที่ปลอดภัย ห่างไกลจากสารพิษ เนื่องจากในอดีตพี่น้องชาวสวนเรามุ่งเน้นการใช้สารเคมี  ยาฆ่าแมลง ประกอบในการทำการเกษตรกันอย่างมาก แต่เมื่อกระแสของการใส่ใจสุขภาพเป็นที่ประจักษ์ชัดขึ้น  ชาวสวนเราก็ต้องตระหนักถึงผลที่จะกระทบกับผู้บริโภคให้มากขึ้นเช่นกัน

หากจะพูดถึงการทำสวนผลไม้ “ลองกอง” กับการใช้สารเคมีแล้วนั้น  ต้องบอกว่า สิ่งสำคัญที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ การใช้สารเคมี ฆ่าแมลง “ราดำ” ที่มักจะมาเกาะที่ผิวของผลลองกอง ทำให้ผิวลองกองมีสีดำคล้ำ ไม่สวย ไม่ได้ราคา ที่สำคัญเมื่อผู้บริโภคเห็นจะไม่เลือกซื้อ ทำให้ชาวสวน ต้องทำการกำจัด “ราดำ” ให้มีน้อยที่สุดหรือให้หมดไปจากผิวผลของลองกอง โดยต้องเริ่มกำจัดตั้งแต่ระยะที่ลองกองเริ่มเป็นลูกอ่อน จนกระทั่งแก่เต็มที่

เชื้อราดำนี้จะเข้ามาเกาะทั่วผิวของผลลองกอง  ตั้งแต่ลองกองเริ่มเป็นลูกอ่อนกระทั่งระยะที่ผลแก่จัดถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ด้วยเหตุนี้ ทำให้ชาวสวนต้องใช้สารเคมีในการกำจัดไม่น้อยกว่า 3-4 ครั้ง ต่อช่วงฤดูกาลออกผล ฉะนั้นสารเคมีที่ใช้จะกำจัด “ราดำ” จะสะสมในผิวของผลลองกอง และอาจซึมสู่เนื้อ กลายเป็นสารพิษตกค้างกระทบต่อผู้บริโภคไม่น้อยเช่นกัน ที่สำคัญเกษตรกรผู้ปลูกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการซื้อยากำจัด “ราดำ” ให้หมดสิ้นไป

แต่ครูแดง เกษตรกรผู้คิดค้น  วิธีการกำจัด “ราดำ” บนผิวลองกอง ที่ไม่ต้องพึ่งสารเคมี เริ่มจากการสังเกตว่า “ราดำ” ที่มาเกาะผิวลองกองนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร

“ราดำมาเกาะผิวลองกองเพราะต้องการมาหากินน้ำหวาน หรือมาเพราะความหอมหวานที่ก่อเกิดขึ้น เมื่อลองกองเริ่มเป็นผลอ่อนและจะเข้ามาเกาะกินน้ำหวานที่ผิวลองกอง มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผลลองกองเริ่มโตเต็มที่ จนกระทั่งถึงระยะที่ผลแก่จัด ถือได้ว่า “ราดำ” เข้ามาตั้งแต่ระยะเริ่มเป็นลูกอ่อนขนาดเท่าหัวไม้ขีด และเพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อผลลองกองเริ่มมีเนื้อ  มีน้ำหวานออกจากผล

ดังนั้นจึงมีการทดลองนำน้ำมาฉีดที่ผลลองกองในระยะที่ “ราดำ” เริ่มเกาะตั้งแต่ในระยะแรก ผลปรากฏว่า “ราดำ” หลุดออกจากเปลือกผลลองกอง

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดความคิดที่จะใช้แรงของน้ำ ช่วยในการชะล้างเจ้า “ราดำ” ที่ทำลายความสวยงามของผิวลองกองให้สิ้นไปโดยไม่พึ่งพาสารเคมี

ครูแดง จึงเริ่มกระบวนการคิดประดิษฐ์เครื่องมือ โดยต่อระบบน้ำด้วยท่อพีวีซีไว้บริเวณกลางลำต้น โดยใช้ความสูงของท่อ เกือบเท่ากับความสูงของต้นลองกอง หรือสูงเกือบถึงปลายต้น  ในการกะระยะต้องให้สูงกว่าช่อดอก ช่อผล ที่อยู่สูงที่สุดของต้นลองกองในต้นนั้นๆ แล้วเริ่มใช้วิธีการให้น้ำในระบบนี้  ตั้งแต่เริ่มมีการติดลูกอ่อนจนกระทั่งเก็บผลผลิตได้

วิธีนี้ทดลองแล้วได้ผลจริง แรงดันของน้ำที่ออกตามหัวเหวี่ยงสปริงเกลอร์ จะกระทบผิวผลของลองกองในแต่ละช่อพวงและจะชะล้าง “ราดำ” ตัวร้ายให้หลุดไปอย่างน่ามหัศจรรย์ อีกทั้งถือได้ว่าเป็นให้น้ำแก่ต้นไม้ด้วยอีกทาง

ครูแดง กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ที่สำคัญต้องประเมินจำนวนการติดตั้งหัวน้ำเหวี่ยงสปริงเกลอร์ ว่าจะต้องใช้กี่หัวเหวี่ยงต่อ 1 ต้น  โดยต้องคำนึงถึงขนาดทรงพุ่มของต้นลองกอง เพื่อให้การกระจายของน้ำไปโดยรอบทิศทางที่มีการออกลูกผลของลองกอง หากต้นลองกอง ขนาดเล็ก – ปานกลาง ควรติด 1-2 หัวเหวี่ยงสปิงเกลอร์ แต่หากต้นลองกองใหญ่ อาจต้องติดถึง 3 หัวเหวี่ยงสปิงเกลอร์  เพียงเท่านี้เกษตรกรก็จะประหยัดต้นทุน ไม่ทำลายธรรมชาติ ปลอดสารเคมี  ผลผลิตลองกอง ของท่านก็จะปลอดภัยด้วย “อินทรีย์ ออแกนิค (Organic Organic)” อย่างแน่นอน

วัสดุอุปกรณ์

1.ท่อPVC ขนาด 6 หุน ความยาวเท่ากับเศษ 3 ส่วน 4 ของความสูงของต้นลองกอง

2.ข้องอ ขนาด 90 องศา

3.ต่อตรง

4.ข้อต่อแยก 3 หัว

5.หัวเหวี่ยงสปริงเกลอร์ 3 อัน

Related Posts