เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

ระบบการจ่ายน้ำเพื่อการเกษตรแบบแม่นยำอัตโนมัติ ในงาน 85 ปี แม่โจ้

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยการนำของ ผศ.ดร. จำเนียร ยศราช อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผศ. พาวิน มะโนชัย รศ.ดร. วีระพล ทองมา รองอธิการบดี จัดแถลงข่าวพร้อมที่จะนำเสนอผลงานของการจัดงาน เกษตรแม่โจ้ 85 ปี ระหว่าง วันที่ 8-16 ธันวาคม 2561 ในบริเวณมหาวิทยาลัยแม่โจ้

การแถลงข่าวครั้งนี้ ผลงานที่นำมาแสดงและน่าสนใจคือ ระบบการจ่ายน้ำเพื่อการเกษตรแบบแม่นยำอัตโนมัติ โดยมีหัวหน้าโครงการคือ ผศ.ดร. โชติพงษ์ กาญจนประโชติ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร เป็นอุปกรณ์ต้นแบบตรวจวัดและควบคุมการให้น้ำไร้สายแบบแม่นยำอัจฉริยะ ด้วยการรักษาระดับความชื้นในดินให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมกับพืชนั้นๆ ค่าปริมาณความชื้นที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ด้วยระบบเทคโนโลยีรับส่งสัญญาณแบบไร้สาย และควบคุมการทำงานของวาล์วและปั๊มน้ำในแปลงการเพาะปลูกอย่างแม่นยำ วาล์วและปั๊มน้ำใช้พลังงานต่ำที่เกิดพลังงานจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 6 โวลต์

ดังนั้น จึงติดตั้งและทำงานได้ทุกสภาพภูมิประเทศ การพัฒนาเครื่องต้นแบบ เพื่อมุ่งหวังเพิ่มประสิทธิภาพการให้น้ำ สามารถลดการใช้แรงงานคน ลดปริมาณการใช้น้ำ และลดต้นทุนด้านพลังงาน โดยระบบอุปกรณ์สามารถใช้งานได้กับพืชทุกชนิด และทุกระบบที่มีการใช้น้ำในทุกสภาพดิน

ชุดระบบจ่ายน้ำอัตโนมัติ

กลไกการใช้งาน ต้องกำหนดจุดความชื้นหรือการตั้งค่าที่เป็นประโยชน์ต่อพืชคือ ระดับความชื้นที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ระดับค่าความชื้นของน้ำหรือชลประทาน ระดับค่าความชื้นที่จุดเหี่ยวเฉาถาวร ในการเปิดปิดการให้น้ำแก่พืช การใช้ค่าความชื้นที่ลดต่ำลงสุด ในพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้เครื่องนี้เพียง 1 ชุด หากมีพื้นที่มากกว่านี้ จะวางห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร ก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ โดยอุปกรณ์เซ็นเซอร์จะส่งสัญญาณถึงกัน ต้นทุนแต่ละเครื่องเป็นเครื่องต้นแบบ ต้นทุนระยะแรกประมาณ 1 หมื่นกว่าบาท แต่หากผลิตจำนวนมากๆ ต้นทุนก็จะต่ำลง เกษตรกรที่จะนำไปใช้ต้องวางระบบน้ำในพื้นที่ แล้วใช้อุปกรณ์นี้ไปติดตั้งในแปลง สามารถเห็นผลหรือสั่งการได้ด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือเชื่อมต่อไร้สายกับคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะหรือโน้ตบุ๊กที่ตั้งอยู่ในบ้านก็ได้ ผลงานนี้ได้ผ่านการจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ (053) 875-019 หรือ (082) 395-6355

แผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็ก ต้นกำเนิดพลังงาน

Related Posts