เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
พืชทำเงิน

งานพัฒนา สับปะรด พันธุ์ MD-2 ของชาวไร่สับปะรด สามร้อยยอด

เมื่อเดือนก่อน ผมได้มีโอกาสไปร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้กับสมาชิกสหกรณ์ชาวไร่สับปะรดสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในหัวข้อ การผลิตสับปะรดคุณภาพ

ซึ่งในโอกาสเดียวกันได้สนทนากับ คุณสุรัตน์ มุนินทรวงศ์ นายกสมาคมชาวไร่สับปะรดไทย กับ คุณอานนท์ โลดทนงค์ เลขานุการสมาคมชาวไร่สับปะรดไทย และผู้จัดการสหกรณ์ชาวไร่สับปะรดสามร้อยยอด จำกัด ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสับปะรดของที่นี่ ทั้งด้านวิชาการและด้านการตลาด ซึ่งเป็นบทบาทหลักขององค์กรทั้งสองที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่กำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ การส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสับปะรดผลสด พันธุ์ MD-2 ซึ่งเป็นสับปะรดพันธุ์ใหม่ ที่กำลังมาแรงและตลาดมีความต้องการมาก ทำให้ประเทศต่างๆ ที่ผลิตสับปะรดเป็นการค้าต่างหันมาเร่งขยายการผลิตกันอย่างจริงจัง

ประกอบกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มักจะเกิดปัญหาราคาสับปะรดที่ขายให้โรงงานแปรรูปซึ่งมีราคาตกต่ำมาก สับปะรดผลสดจึงเป็นทางเลือกที่ทางสหกรณ์ฯ ได้ดำเนินการ โดยเริ่มส่งเสริม สับปะรด พันธุ์ MD-2 ที่มีความโดดเด่นกว่าพันธุ์ปัตตาเวียที่ปลูกกันอยู่ปัจจุบัน ความเป็นมาและความก้าวหน้าของการส่งเสริมและพัฒนาสับปะรดผลสด พันธุ์ MD-2 ของสหกรณ์ฯ เป็นอย่างไร ผมได้เก็บมาเล่าไว้ในบทความนี้แล้วครับ

จุดเริ่มต้นการพัฒนา สับปะรดผลสด พันธุ์ MD-2

คุณสุรัตน์ มุนินทรวงศ์ ประธานสมาคมชาวไร่สับปะรดไทย ได้เล่าถึงการดำเนินงานภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตสับปะรดผลสดนี้ว่า เกิดจากปัญหาเรื้อรังเรื่องราคาสับปะรดที่ส่งโรงงาน ราคาจะถูกมากทุกรอบ 4-5 ปี ทำให้ชาวไร่เดือดร้อนมาก แล้วที่ผ่านมาก็ไม่สามารถแก้เรื่องนี้ได้

แนวคิดการเปลี่ยนไปทำสับปะรดผลสดนั้นเริ่มมานาน แต่ไม่มีพันธุ์สับปะรดที่น่าสนใจ และมีศักยภาพพอจะวางตลาด โดยเฉพาะการส่งออกได้ จึงได้เริ่มทำโครงการพัฒนาสับปะรด พันธุ์ MD-2 นี้มาได้ประมาณ 3 ปีกว่าๆ ตั้งแต่ ปี 2557 โดยใช้งบประมาณของกลุ่มสับปะรดที่จัดหาหน่อมาช่วงนั้น ราคาหน่อละ 25 บาท ได้มาประมาณ 10,000 หน่อ แล้วมอบให้แกนนำสมาชิกไปปลูกขยายพันธุ์ต่อไป แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านแนวคิดของชาวไร่กับ พันธุ์ MD-2 นี้ เพราะชาวไร่สับปะรดยังยึดติดกับพันธุ์ปัตตาเวียของเดิมที่ส่งผลผลิตให้กับโรงงานได้ตลอดปี ส่วนอีกทางหนึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทางราชการจำนวนหนึ่งในการจัดซื้อหน่อ พันธุ์ MD-2 ซึ่งได้มาประมาณ 100,000 หน่อ แล้วแบ่งให้สมาชิกเครือข่ายไปทั้ง 8 อำเภอ เพื่อนำไปจัดทำเป็นแปลงเรียนรู้ให้กับกลุ่มสับปะรดหลักๆ ในแต่ละพื้นที่ โดยมีแกนนำสมาชิกและคณะกรรมการกลุ่มสับปะรดระดับอำเภอรับผิดชอบกันไป

 

บริหารโครงการแปลงขยายพันธุ์ สับปะรด พันธุ์ MD-2 อย่างไร

สหกรณ์ชาวไร่สับปะรดสามร้อยยอด จำกัด ใช้แนวทางการมีส่วนร่วม โดยจะให้สมาชิกมีส่วนร่วมในโครงการนี้ทุกขั้นตอน ช่วงแรกเราเริ่มที่มีการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ สับปะรด MD-2 เพื่อขยายการผลิตหน่อพันธุ์ให้ได้ปริมาณมากก่อน เพื่อกระจายให้สมาชิกชาวไร่สับปะรดของสหกรณ์ ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทางราชการ การแบ่งงานจะให้สมาชิกแต่ละชุดหมุนเวียนกันมาดูแลแปลงขยายพันธุ์สลับกันไป ทั้งให้น้ำ ปุ๋ย และกำจัดวัชพืช และกิจกรรมอื่นๆ

จุดอ่อนของพันธุ์นี้เท่าที่พบ ก็มีปัญหาเรื่องโรคเน่า อาจเพราะเราใช้แกลบดิบคลุมบนหน้าดินไว้ก็อาจมีผลบ้าง พอดีเป็นพันธุ์ใหม่ยังไม่ค่อยคุ้นเคยกัน ต้องเรียนรู้กันไป ช่วงนี้ทางกลุ่มเริ่มแยกขยายหน่อพันธุ์ส่งต่อให้สมาชิกได้มากขึ้น และเริ่มมีผลผลิตออกมาบ้างแล้ว ซึ่งสมาคมและจังหวัดได้มีมติให้ตั้งชื่อใหม่เชิงการค้า ให้เป็นแบรนด์ใหม่ของจังหวัดว่า สับปะรดสยามโกลด์ (Siam Gold) เพื่อใช้เป็นชื่อการค้าต่อไป ซึ่งที่จริงสับปะรดพันธุ์ใหม่นี้จะมีอยู่ 2 พันธุ์หลัก คือ พันธุ์ MD-2 กับ MG-3 จากการสังเกต พบว่า มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง โดยที่ พันธุ์ MG-3 นั้น มีขนาดของผลที่ใหญ่ และมีน้ำหนักมากกว่า ใบกว้างและหนา

ใบค่อนข้างแข็ง สีเขียวออกนวล ลำต้น (สะโพก) และหน่ออวบใหญ่/แข็งแรงกว่า พันธุ์ MD-2 ซึ่งทางกลุ่มเราได้ขยายพันธุ์ไว้ทั้ง 2 พันธุ์

 

การสนับสนุนของภาคราชการและองค์กรอื่นๆ

การดำเนินโครงการพัฒนาสับปะรดพันธุ์นี้ มักเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารระดับจังหวัด มีหยุดชะงักไปบ้าง และหลายครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณไปจากเดิมที่กำหนดไว้ และมักไปในทางที่ลดลง ปีนี้ได้งบประมาณในการจัดสร้างห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (tissue culture) ซึ่งเสร็จเรียบร้อย ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่ว่าการอำเภอสามร้อยยอด ตอนนี้กำลังพัฒนาบุคลากร โดยส่งไปฝึกอบรมวิธีการหรือเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออยู่ 2 คน ห้องปฏิบัติการตรงนี้ต่อไปคงต้องมีการบริหารจัดการในเชิงธุรกิจ โดยทางสหกรณ์ฯ คงต้องเป็นผู้รับผิดชอบงานโดยตรง โดยส่วนราชการเป็นที่ปรึกษา ส่วนแนวทางบริหารจะไม่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเฉพาะสับปะรดเท่านั้น คงต้องทำกับพืชอื่นๆ ที่เป็นการค้าควบคู่ไปด้วย

และเพื่อให้ได้จำนวนหน่อที่มากขึ้น และรวดเร็ว ทางกลุ่มเราได้มีการทดลองขยายพันธุ์สับปะรดด้วยวิธีการปักชำจุก โดยผ่าจุกตามแนวยาว แบ่งเป็น 4 ส่วน เท่าๆ กัน ปักชำในแปลงเพาะมาตรฐาน ที่คลุมด้วยซาแรนบังแสงแดด สังเกตดูว่าจะได้ผลเร็วกว่าการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ประเมินกันว่าน่าจะมีการขยายพันธุ์ สับปะรด พันธุ์ MD-2 กระจายไปทั่วประเทศได้ราวๆ 1,000,000 หน่อ ซึ่งก็ยังให้ปริมาณผลผลิตไม่มาก ไม่สามารถกระจายผลผลิตให้ออกได้ทุกเดือน เหตุที่การขยายพื้นที่/จำนวนหน่อ ไปได้ค่อนข้างช้า เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะราคาของหน่อ พันธุ์ MD-2 ยังค่อนข้างสูง ซึ่งอยู่ระหว่าง 20-25 บาท/หน่อ และที่สำคัญชาวไร่สับปะรดยังไม่ค่อยตื่นตัวกับพันธุ์นี้มากเท่าที่ควร

ส่วนอีกโครงการหนึ่งคือ การสร้างโรงคัดคุณภาพสับปะรดผลสดเพื่อการส่งออก ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พื้นที่ก่อสร้างตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีคณะกรรมการกลุ่มสับปะรดระดับจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งช่วงนี้มีความพร้อมในการดำเนินงานแล้ว และเริ่มทดลองปฏิบัติงานบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีผลผลิตสับปะรดมากที่จะส่งขายตลาดต่างประเทศ แต่ก็เริ่มทำบ้างแล้วเพื่อส่งผลผลิตให้ตลาดในประเทศ ซึ่งสับปะรดสยามโกลด์ ที่ซื้อขายกันปัจจุบันในเขตพื้นที่/หน้าฟาร์ม ขายส่งอยู่ที่ราคา กิโลกรัมละ 20-25 บาท โดยสรุป กิจกรรมของสหกรณ์ฯ ที่ดำเนินการอยู่ มีหลักๆ 2 ส่วน คือการจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่สมาชิกด้านการผลิต และการประสานกับหน่วยงานของราชการเพื่อการดำเนินงานด้านวิชาการ ด้านการตลาด การขยายพันธุ์สับปะรด และการจัดหาเครื่องมือ/อุปกรณ์ทางการเกษตรที่จำเป็นมาสนับสนุน/บริการให้กับสมาชิก

 

ปัญหาราคาสับปะรดโรงงานตกต่ำแบบซ้ำซาก การแก้ไข

คุณอานนท์ โลดทนงค์ เลขานุการสมาคมชาวไร่สับปะรดไทย และเป็นผู้จัดการสหกรณ์ชาวไร่สับปะรดสามร้อยยอด จำกัด ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสับปะรดราคาตกต่ำ และการพัฒนากิจกรรมว่า สหกรณ์ฯ ได้ดำเนินการแก้ปัญหานี้มาโดยตลอด จากผลกระทบที่ปริมาณผลผลิตสับปะรดออกมามากเกินไปในบางช่วงของปี จนเกินความต้องการของตลาด/โรงงาน ที่ผ่านมาทางราชการยังแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า และในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งจะไม่ส่งผลอะไร ทำให้ไม่มั่นใจต่อทางราชการมากนัก

วันนี้อาชีพเกษตรกรรมและชาวไร่สับปะรดฝากกันไว้กับองค์กรนี้ ว่าจะมีทางออกของปัญหานี้ได้อย่างไร บังเอิญที่กลุ่มการค้าแฟร์เทรด (Fair Trade) ได้เข้ามาประสานด้านการค้ากับทางสหกรณ์ฯ โดยผ่านทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ซึ่งช่วงแรกทางเรายังไม่ทราบระบบมาตรฐานของแฟร์เทรด แล้วก็ไม่แน่ใจว่าจะตกลงร่วมมือกันได้หรือไม่ หากจะมีข้อเสนอการค้าสับปะรดต่อกัน ซึ่งหลักการของแฟร์เทรดโดยคร่าวๆ นั้น น่าสนใจมาก โดยมีแนวทางปฏิบัติภายใต้ขอบเขต 10 ด้าน คือสร้างโอกาสสำหรับผู้ผลิตที่ด้อยโอกาส, มีความโปร่งใส, มีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดี, ให้ราคายุติธรรม, ไม่ใช้แรงงานเด็ก, ไม่กีดกันเรื่องเพศ สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา อายุ, มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ปลอดภัย, มีการพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ผลิต, มีการประชาสัมพันธ์ “แฟร์เทรด” การค้าที่เป็นธรรม และให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ซึ่งทางสหกรณ์ฯ ก็เห็นว่าแนวทางนี้เรารับได้ และดูจะมีความหวังในการช่วยยกระดับคุณภาพ/ราคาผลผลิตสับปะรด/ผลิตภัณฑ์ของที่นี่ได้อีกทางหนึ่ง ยกตัวอย่าง ผลผลิตเกษตรอื่นที่ร่วมการค้ากับกลุ่มแฟร์เทรด แล้วประสบผลสำเร็จ เช่น กาแฟ

ในช่วงแรกที่ทางกลุ่มเริ่มทำธุรกิจกับทางแฟร์เทรด มีสมาชิกเริ่มที่ 3 คน เท่านั้น โดยมีผู้ประสานงาน/และที่ปรึกษาคอยให้ความช่วยเหลือทุกขั้นตอน จึงเป็นจุดที่ทำให้มีกำลังใจ ซึ่งแต่เดิมความคิดของผมที่เคยมีต่อคนยุโรป (ฝรั่ง) นั้นจะมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่ค่อยจริงใจและชอบจะเอาเปรียบเสมอ แต่ผู้แทนจากองค์กรแฟร์เทรดที่มาประสานงานดูน่าเชื่อถือและไว้ใจได้ ขณะที่สมาชิกชาวไร่สับปะรด/สหกรณ์ฯ หลายคนยังไม่มั่นใจว่าการร่วมกิจกรรมครั้งนี้จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายโครงการ

 

สหกรณ์ฯ เข้าร่วมกับกลุ่มการค้าแฟร์เทรด ช่วงไหน อย่างไร

หลังจากเรียนรู้แนวทางปฏิบัติของแฟร์เทรดแล้ว ทางเราก็ได้เริ่มทดลองผลิตสับปะรดเพื่อให้ทางแฟร์เทรดประเมินทั้งกระบวนการผลิตระดับไร่ และคุณภาพผลผลิตว่าเป็นอย่างไร ซึ่งก็ได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ จนถึงประมาณ ปี 2553 ทางกลุ่มก็ได้รับการรับรองการผลิตสับปะรดภายใต้ตราสินค้าของแฟร์เทรด หลังจากนั้น จึงเริ่มจัดสมาชิกที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการจัดการกลุ่มมาร่วมกันทำกิจกรรมที่ทางแฟร์เทรดกำหนด เป็นการพัฒนาระบบงานของกลุ่ม เช่น รูปแบบการประชุม การจัดการผลิตระดับแปลงสมาชิก และจัดตั้งคณะกรรมการบริหาร เป็นต้น

ต่อมามีการขายผลิตภัณฑ์สับปะรดล็อตแรกเป็นน้ำสับปะรด และสับปะรดกระป๋อง และผลิตภัณฑ์จากมะม่วงส่งไปประเทศสวิสต์เซอร์แลนด์ ทำให้ลูกค้าเริ่มรู้จักผลิตภัณฑ์ของสหกรณ์ชาวไร่สับปะรดสามร้อยยอดมากขึ้น และมีความร่วมมือกันมาตลอด จากนั้นทางผมไปช่วยเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาผลผลิตเกษตรของไทยเข้าสู่สินค้าแฟร์เทรด เช่น น้ำตาลทราย, น้ำพริกแม่เล็กที่รังสิต, ถั่วเหลืองที่แม่แตง เชียงใหม่, พริกที่ศรีสะเกษและนครราชสีมา เป็นต้น สินค้าที่ผ่านการรับรองจากแฟร์เทรดเป็นที่ยอมรับและต้องการมากในตลาดสากล ราคาจะสูงกว่าราคาตลาดทั่วไป

แต่ผลผลิตเกษตรของไทยบางอย่างที่รับเครื่องหมายแฟร์เทรดแล้ว ก็ไม่สามารถส่งออกในปริมาณที่มากได้จากข้อกำหนดทางกฎหมาย จึงเป็นการเสียโอกาสของผลผลิตเกษตรไทยในตลาดโลกอย่างน่าเสียดาย การที่จะทำให้สหกรณ์/กลุ่มเข้มแข็งนั้น สมาชิกทุกคนต้องมีความอดทน ร่วมมือกัน จริงจังต่องาน ซื่อสัตย์ แล้วก็คนที่บ้านต้องเห็นด้วย ซึ่งจากการที่เข้าร่วมกับทางองค์กรแฟร์เทรดนั้น ได้มีการประกันราคารับซื้อสับปะรดจากสมาชิกให้ไม่ต่ำกว่า 5 บาท/กิโลกรัม, มีแหล่งทุนปลอดดอกเบี้ย, ใช้ระบบประกันคุณภาพแบบหมู่, จัดฝึกอบรมความรู้ให้สมาชิกและจัดทัศนศึกษาเป็นประจำ

 

มองแนวทางส่งเสริมและพัฒนา สับปะรด พันธุ์ MD-2 ไว้อย่างไร

สำหรับความก้าวหน้าของการทำโครงการพัฒนา สับปะรด พันธุ์ MD-2 นั้น ไปไกลกว่าหลายโครงการที่ได้ทำร่วมกับภาครัฐ เริ่มเห็นเป็นรูปธรรม และจับต้องได้ ผมมีโอกาสไปดูงานด้านตลาดระดับต่างๆ มาหลายแห่ง การไปแสดงผลผลิต/ผลิตภัณฑ์เกษตรของไทย ซึ่งผู้จัดเขาให้โอกาสประเทศไทยมากพอสมควร โดยมีที่ปรึกษาแฟร์เทรดเป็นผู้ประสานงาน โดยเฉพาะทางกลุ่มยุโรปเหนือที่ต้องการผลิตภัณฑ์สับปะรดจากไทยมาก ต่อมาทางกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้ามามีส่วนสนับสนุนด้านการประสานงานการส่งออกให้อีกหน่วยงานหนึ่ง จากการดูงานในตลาดกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป พบว่ามีผลิตภัณฑ์ด้านเกษตรและอื่นๆ จากประเทศสิงคโปร์วางขายอยู่ทั่วไป ทั้งๆ ที่ประเทศเขาไม่มีทรัพยากรอะไรเลย แต่มีวิธีคิดและการบริหารเชิงธุรกิจที่เหนือกว่าเรานั่นเอง ตรงนี้ทุกส่วนต้องศึกษาข้อมูลและปรับวิธีการทำงานเชิงรุกด้วย

สำหรับ สับปะรด พันธุ์ MD-2 นั้น มีลักษณะที่ดีเด่นหลายอย่าง ทำให้เป็นที่น่าสนใจ เมื่อ 4-5 ปีก่อน มีบทความหนึ่งลงข้อมูลว่า ประเทศมาเลเซียผลิต สับปะรด พันธุ์ MD-2 เพื่อการส่งออก รู้สึกแปลกใจว่าเขาพัฒนาไปรวดเร็วมากกว่าที่พวกเราคาดคิดกัน เคยเดินทางไปร่วมงานประชุมสับปะรดโลก ครั้งที่ 7 ที่ประเทศมาเลเซีย ได้ดูงานด้านการผลิต การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสับปะรด การแบ่งชำหน่อ ฯลฯ ซึ่งได้ความรู้/แนวคิดกลับมาทำบ้าง และมีโอกาสกลับไปอีกครั้ง แล้วได้นำหน่อ สับปะรด พันธุ์ MD-2 เข้ามา โดยทางกลุ่มเราตั้งเป้าหมายที่จะขยายพันธุ์ให้มาก จึงเสนอโครงการจัดทำแปลงเรียนรู้ระดับอำเภอ โดยผ่านสำนักงานเกษตรจังหวัด ขอสนับสนุนงบประมาณมาซื้อหน่อพันธุ์ เพื่อกระจายให้สมาชิกไปปลูกขยายพันธุ์ และเป็นการทดสอบหาระบบการผลิตที่เหมาะสม เป้าหมายต้องการพัฒนาสู่ระบบการผลิตที่ได้คุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและเพื่อการส่งออก ซึ่งต่อมาก็ได้รับการสนับสนุนการซื้อหน่อพันธุ์ ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และโรงคัดแยกคุณภาพสับปะรดตามลำดับ

 

ทำไม ถึงมั่นใจกับ สับปะรด พันธุ์ MD-2

สับปะรดผลสดนั้นตลาดต่างประเทศยังต้องการอีกมาก แต่เราไม่สามารถส่งผลผลิตให้ลูกค้าได้ เพราะจากการที่เราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับระบบการผลิตต้นทาง ไม่รู้ว่าชาวไร่ทำอย่างไร แล้วผลผลิตของเรายังไม่มากพอที่จะทำสัญญาซื้อขายต่อกัน เคยส่งสับปะรดปัตตาเวีย จำนวน 20 ตู้คอนเทนเนอร์ ไปที่เมือง Rotterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ และส่งไปประเทศเกาหลี เกิดความเสียหายทั้งหมด เนื่องจากสับปะรดแสดงอาการไส้สีน้ำตาล (internal browning) ซึ่งประสบการณ์ตรงนี้มันก็สอนว่า ไม่ง่ายนักหากไม่มีพื้นฐานทางวิชาการ และมีการปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม มันเกี่ยวข้องกันเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่ในแปลงชาวไร่ถึงการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

ขณะที่ สับปะรด พันธุ์ MD-2 นั้นมีคุณสมบัติที่ดีหลายอย่าง เช่น รสชาติหวาน/กลิ่นหอม สีเนื้อเหลืองสวยงามทั้งผล รูปทรงดูดี เก็บได้นาน และทนทานต่อการเก็บรักษาในห้องควบคุมอุณหภูมิโดยไม่แสดงอาการไส้สีน้ำตาล จึงเหมาะกับการขนส่งทางเรือ และในระยะทางไกลๆ ได้ดีกว่าสับปะรดทุกพันธุ์ เหล่านี้ที่เป็นจุดแข็ง และทั่วโลกกำลังต้องการผลผลิตสับปะรดพันธุ์นี้จำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังได้รับการประสานจากนักธุรกิจประเทศญี่ปุ่น ที่สนใจจะสั่งซื้อสับปะรดจากสหกรณ์ฯ ของเรา และรับเป็นที่ปรึกษาด้านการขยายพันธุ์ให้แบบโครงการช่วยเหลือทางวิชาการ แล้วยังจะร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร และศูนย์ฯ เพชรบุรี อีกด้วย ทั้งนี้การพัฒนา สับปะรด พันธุ์ MD-2 จะต้องให้ตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของตลาด ที่ยังเปิดกว้างมาก ซึ่งประเทศฟิลิปปินส์นั้นเป็นผู้ส่ง สับปะรด พันธุ์ MD-2 เข้าประเทศญี่ปุ่น จีน เวียดนาม และประเทศแถบเอเชียอื่นๆ ของเรายังมีลูกค้าต่างประเทศมาติดต่อกันหลายราย เราจะต้องเร่งการผลิตให้เร็วขึ้น เพื่อเป็นฐานการผลิตเชิงการค้าในอนาคต เพราะประเทศฟิลิปปินส์ไม่มีศักยภาพที่จะผลิตในปริมาณที่มาก ตอบสนองกับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น เพราะมีข้อจำกัดหลายด้าน จึงนับเป็นโอกาสของเราที่จะเข้าสู่วงการสับปะรดผลสด  ซึ่งจะเป็นทางเลือกให้กับชาวไร่สับปะรดได้อีกช่องทางหนึ่ง

ตอนนี้หลายอย่างพร้อม เหลือแต่การผลิตที่ระดับต้นน้ำ คือระดับชาวไร่ ว่าจะไปได้เร็วแค่ไหน ใครจะเข้ามาร่วมในเวทีนี้บ้าง เราต้องการผู้เข้ามาร่วมพัฒนาในมุมต่างๆ เพื่อร่วมมือกันทำให้สำเร็จกับวงการสับปะรดผลสดของประเทศไทย ทุกอย่างจึงต้องพร้อมก่อนที่จะออกไปสู่ภายนอก ไม่เช่นนั้นทุกอย่างที่ร่วมทำกันมาจะเสียหายไปหมด

ฝากข้อคิดไว้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการสับปะรดบ้างหรือไม่

ปัญหาของสับปะรดมักจะเป็นแบบเดิมๆ คือ ผลผลิตมีมากเกินไปบางฤดู ตลาดรองรับไม่ทัน ส่งผลต่อราคาที่ต่ำมาก ชาวไร่เดือดร้อน, ทั้งหมดเป็นผลจากการขยายพื้นที่ปลูกแบบไร้ขอบเขต ไม่สามารถจัดระบบเขตการปลูกได้, นโยบายที่ไม่มีความแน่นอนและขาดทิศทางการพัฒนาที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนและไม่ต่อเนื่อง, อำนาจการต่อรองของชาวไร่/กลุ่มที่ยังไม่มีพลัง ไม่เข้มแข็ง, ภาคราชการกับแนวคิดและการปฏิบัติที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขันและการพัฒนา ตัวอย่างการผลักดันให้เกิดระบบซื้อขายแบบสัญญาข้อตกลงที่เป็นรูปธรรม ซึ่งไม่สามารถเป็นผู้เชื่อมโยงชาวไร่กับโรงงานในการพัฒนาระบบร่วมกันได้เท่าที่ควร

ดังนั้น การแก้ปัญหาผลผลิตสับปะรดที่มีมากเกินไปนั้น จึงต้องมีการกำหนดเขตการผลิต และลดพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมลงไปบางส่วน โดยเฉพาะเขตที่มีปัญหาการบุกรุกที่ดินป่าสงวนฯ และพื้นที่ไร้เอกสารสิทธิ เพราะผลผลิตจากพื้นที่เหล่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกได้ตามมา จากกระแสโลกด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม วงการสับปะรดต้องการผู้เข้ามาร่วมพัฒนาในมุมต่างๆ เพื่อร่วมกันผลักดันให้สำเร็จ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาสับปะรดผลสดของประเทศไทย ทุกอย่างจึงต้องพร้อมที่สุด ก่อนที่จะออกไปสู่ตลาดภายนอกประเทศ ไม่เช่นนั้นทุกอย่างที่ร่วมทำกันมาจะเสียหายไปทั้งหมด

จากการที่ได้สนทนากับบุคคลระดับคีย์แมนของสหกรณ์ชาวไร่สับปะรดสามร้อยยอด จำกัด และสมาคมชาวไร่สับปะรดไทย ที่เป็นตัวแทนของชาวไร่สับปะรดทั่วประเทศ นับเป็นองค์กรหลักที่มีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาสับปะรดไทยให้ก้าวหน้า และมีความมั่นคงของอาชีพการเกษตรสาขาหนึ่ง ซึ่งการปรับแนวทางการผลิตสับปะรดจากส่งโรงงาน มาอยู่ในเส้นทางสับปะรดบริโภคผลสดแบบคู่ขนาน เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาราคาที่ตกต่ำซ้ำซากอีกช่องทางหนึ่ง นับว่าเป็นมิติที่ดี ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ชาวไร่สับปะรดทั่วประเทศได้มีโอกาสตัดสินอนาคตของตัวเอง ไม่ต้องอิงแอบกับภาคโรงงานแปรรูป ที่ดูเหมือนจะได้เปรียบในเชิงอำนาจการต่อรองด้านการซื้อขายมาตลอด

การก้าวเดินเพื่อพัฒนา สับปะรด พันธุ์ MD-2 ไม่เพียงจะสร้างตลาดใหม่ในประเทศและส่งออกเท่านั้น แต่จะเป็นช่องทางสร้างรายได้และความมั่นคงของอาชีพนี้ ขึ้นกับว่าสหกรณ์ชาวไร่สับปะรดสามร้อยยอด จำกัด สมาคมชาวไร่สับปะรดไทย และสมาชิกชาวไร่สับปะรดส่วนใหญ่ของประเทศ จะจริงจังกับเส้นทางนี้แค่ไหน และมีองค์กรภาครัฐใดบ้างที่จะเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจัง รวมทั้งนโยบายระดับสูงที่จะเห็นความสำคัญของสับปะรดพืชเศรษฐกิจหลักพืชนี้หรือไม่ แค่ไหน และอย่างไร ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้อย่างเต็มเปี่ยมครับ

Related Posts