ทางเดินชีวิต…สู่แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
คุณตฤณศร สัมทับ อยู่บ้านเลขที่ 21 หมู่ที่ 12 บ้านดาดทองเจริญ ตำบลอ่างทอง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร 62000 สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาเอกภาษาอังกฤษ วิชาโทภาษาญี่ปุ่น จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลาครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. 2536 ได้เริ่มทำงานกับ บริษัท อมากาซากิไพพ์ (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดชลบุรี
ต่อมาเข้าทำงานบริษัทน้ำมัน หลังจากนั้นได้ทำงานกับกองบรรณาธิการนิตยสารด้านสื่อสารมวลชน และในที่สุดคุณตฤณศร ได้ทำงาน เอ็นจีโอ เกี่ยวกับการส่งเสริมจริยธรรมให้กับเยาวชน แต่จากการงานในเมืองหลวงที่ทำให้สุขภาพอ่อนแอลง คุณตฤณศรจึงได้ตัดสินใจกลับมาทำสวนที่จังหวัดกำแพงเพชร โดยการปลูกปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่ 6 ไร่ 2 งาน พร้อมทั้งได้ปลูกผักสวนครัว อาทิ กล้วย พริก มะเขือ ฟัก และพืชล้มลุก เพื่อปลูกแซมเป็นการชดเชยรายได้ก่อนเก็บปาล์ม รวมทั้งปลูกไม้ยืนต้น เช่น มะม่วง ขนุน ยางนา สัก เป็นต้น ขุดสระเลี้ยงปลาแบบธรรมชาติ และปลูกข้าวปลอดสารพิษ ใช้ชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และใช้พื้นที่การเกษตรเป็นศูนย์เรียนรู้ชีวิตพอเพียง คุณตฤณศรได้รับรางวัลชมเชยผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ ปี พ.ศ. 2551 จากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบัน ครอบครัวคุณตฤณศรสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน มีสุขภาพดี รวมทั้งได้รับการยอมรับจากชุมชน
รูปแบบกิจกรรมทางการเกษตร
คุณตฤณศร ได้ดำเนินกิจกรรมการเกษตรโดยมีความโดดเด่นเรื่องการปลูกปาล์มน้ำมัน โดยนำปาล์มสายพันธุ์มาเลย์ยังกัมบิ จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 145 ต้น มาปลูกเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2548 ขั้นตอนการปลูกเริ่มจากการเตรียมแปลงปลูก การไถปรับพื้นที่และวางแนวปลูก ส่วนพื้นที่ว่างปลูกพืชระยะสั้นแซม เช่น กล้วยและฟักทอง เป็นต้น เพื่อเสริมรายได้ โดยการบำรุงรักษาปาล์มน้ำมันนั้น จะรองก้นหลุมก่อนปลูกด้วยปุ๋ยอินทรีย์
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาปฏิบัติ
คุณตฤณศร ได้ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะหลัก ความมีเหตุผล ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการตัดสินใจว่าควรปลูกพืชชนิดใดจึงจะเหมาะสมกับพื้นที่ และพืชชนิดใดสามารถปลูกร่วมกับพืชชนิดใดได้ โดยวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล เพื่อนำผลการวิเคราะห์ที่ได้มาใช้ในการวางแผนการเพาะปลูกในพื้นที่ และเพื่อใช้ในการตอบโจทย์เป้าหมายในการทำการเกษตรของตนเอง นอกจากนี้ ยังต้องจดบันทึกการลงทุนในการทำการเกษตรไปพร้อมๆ กันอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้ทราบถึงรายรับ-รายจ่าย และสามารถวางแผนการบริหารจัดการให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์(081) 953-3204
ขอบคุณข้อมูล จากหนังสือ การเพิ่มรายได้เกษตรกร ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์